วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ทั้งขึ้นทั้งล่อง

On March 21, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้ สนช. จะส่งตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ฉบับเดียว แต่เมื่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกส่งถึงมือ “บิ๊กตู่” อาจมีความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจยื่นตีความ เมื่อประธาน กรธ. จะทำหนังสือท้วงติงให้นายกฯพิจารณาปัญหาที่จะตามมาในอนาคตเหมือนกับที่ส่งถึงประธาน สนช. จนนำไปสู่การส่งตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พร้อมคำขู่เล็กๆว่าถ้าไม่ส่งตีความให้เกิดความชัดเจน หากมีปัญหาเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ ระหว่างโดนด่าตอนนี้ว่ายื่นตีความเพื่อยื้อเลือกตั้งออกไปแลกกับความชัดเจนตัดความเสี่ยงเสียเงิน เสียเวลาต้องจัดเลือกตั้งซ้ำ กับโดนด่าภายหลังที่ไม่ยอมทำให้เกิดความชัดเจนก่อนเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” จะเลือกอะไร

ความคืบหน้าเรื่องนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งพ้นกำหนดเส้นตายชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

ล่าสุดเลขาฯ ป.ป.ช. ออกมาระบุว่า “บิ๊กป้อม” ส่งคำชี้แจงมาแล้ว 38 หน้ากระดาษ ซึ่งจะสรุปเรื่องส่งให้กรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ยังไม่สามารถสอบคำให้การพยานที่เป็นบุคคลและบริษัทเอกชนที่นำเข้านาฬิกาอีก 2 ปาก แต่จำเป็นต้องสรุปเรื่องส่งไปก่อน

จากนี้ต้องรอดูมติที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะตีตก ส่งเรื่องกลับเพื่อสอบพยานให้ครบ หรือจะชี้มูลเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

หากไม่ติดขัดอะไรน่าจะมีความชัดเจนหลังเทศกาลสงกรานต์

อีกเรื่องที่ต้องรอลุ้นเหมือนกันแต่น่าจะรู้ผลก่อนสงกรานต์คือ การตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นตีความเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฉบับเดียว และส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปตัดสินใจเองว่าจะนำร่าง พ.ร.ป. ขึ้นทูลเกล้าฯ หรือใช้อำนาจส่งตีความ

ล่าสุดดูเหมือนว่าแนวโน้มการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น

เมื่อเจ้าเก่าอย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอข้อห่วงใยเหมือนที่ส่งถึงประธาน สนช. จนนำไปสู่การยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

ประเด็นที่จะทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องคิดหนักคือคำพูดของนายมีชัยที่ว่า

“การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป. ในขณะนี้เป็นอำนาจของ สนช. ซึ่ง กรธ. ไม่ได้บอกให้ สนช. ต้องยื่นตีความ เพียงแต่ส่งข้อห่วงใยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ดังนั้น หากในอนาคตเกิดปัญหาจากการไม่ยื่นตีความร่างกฎหมายใดก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นอำนาจของ สนช. และนายกรัฐมนตรี ดังนั้น กรธ. คงส่งข้อห่วงใยนี้ไปยังรัฐบาลอีก”

หากไม่ยื่นตีความแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคตต้องรับผิดชอบ

ประเด็นนี้น่าจะทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องตัดสินใจว่าจะยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุในทำนองว่าเมื่อยื่นตีความแล้วก็ควรยื่นทั้ง 2 ฉบับไปพร้อมกัน

“ควรจะยื่นให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน ไม่ทำหลายขยัก เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน และไม่น่าจะถึง 3 เดือน”

ทั้งมือกฎหมายรัฐบาล ทั้งประธาน กรธ. ซึ่งควบตำแหน่งสมาชิก คสช. อยู่ด้วย ต่างเห็นตรงกันให้ยื่นตีความก็น่าจะมีน้ำหนักมากพอที่จะให้ “บิ๊กตู่” รับฟัง

เพราะถ้าไม่ยื่นตีความไว้ก่อน หากมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พเกิดขึ้น หลังเลือกตั้งคงมีคดีความฟ้องร้องกันอุตลุด โดยเฉพาะประเด็นช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ

จริงอยู่ว่าคะแนนในส่วนนี้ไม่อาจเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ แต่หากมีการฟ้องเกิดขึ้นแล้วศาลเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะทำให้ผลคะแนนในหน่วยที่มีคนพิการใช้สิทธิเป็นโมฆะต้องจัดเลือกตั้งใหม่

เสียเงิน เสียเวลาโดยใช่เหตุ

ระหว่างโดนด่าตอนนี้ว่ายื่นตีความเพื่อยื้อเวลาเลือกตั้งออกไปแลกกับความชัดเจน ตัดความเสี่ยงเสียเงิน เสียเวลาต้องจัดเลือกตั้งซ้ำ กับโดนด่าหลังเลือกตั้งที่ไม่ยอมทำให้เกิดความชัดเจนก่อนเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” จะเลือกอะไร


You must be logged in to post a comment Login