วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

อัพคุณภาพสินค้าOTOP ด้วยดีไซน์ เพิ่มมูลค่า เสริมรายได้แก่คนในชุมชน

On March 15, 2018

ใครๆ ต่างก็รับรู้ว่า “สินค้า OTOP” สินค้าท้องถิ่นของไทย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไทย อาหารแปรรูป ของใช้ ของประดับ ล้วนเป็นที่ถูกตาต้องใจของทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทว่ายังมีสินค้าท้องถิ่นอีกมากมายเช่นกันที่ต่อให้ทรงคุณค่ามากขนาดไหน กลับไม่เป็นที่รู้จัก กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัด “โครงการสร้างอัตลักษณ์ และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP เชื่อมโยงเส้นทางหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

โดยโครงการฯ มีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากหมู่บ้าน OTOP การท่องเที่ยวจำนวน 111 หมู่บ้านและหมู่บ้านตามโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน 135  หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนาให้เป็นสินค้าที่ระลึกของหมู่บ้าน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งได้รับเกียรติจากนายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ พร้อมด้วย นายศุภกร  มูลสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน คุณพัชรินทร์  สมหอม  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ กรมการพัฒนาชุมชน อ.ดร.ศรายุทธ์ แสนมี ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง และดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต อาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในฐานะประธานโครงการดังกล่าวรูปหมู่111111

ดร.เรืองลดา หรืออ.ขวัญ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่าเป็นการดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบการผ่านการมาตรฐาน 6 ด้าน คือ 1.ผู้ประกอบการได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น  ด้วยการใช้การออกแบบ การดีไซน์ต่างๆ  เช่น ทำอย่างไรให้ผ้าไทยที่มีกระบวนการผ่านงานฝีมือขายได้ราคาสูง เป็นการสร้างแบรนด์ ตราสินค้า 2.สามารถทำซ้ำได้ ผลิตซ้ำได้แต่ต้องได้มาตรฐาน  3.มีความโดดเด่นในเรื่องราว แต่ละสินค้าต้องมีที่มาที่ไป เรื่องราวของหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว นำมาใช้เสนอสินค้า 4. มีช่องทางการขายที่ถาวร เช่น ผ่านการขายช่องทางออนไลน์ โซเซียลมีเดีย 5.มีแบรนด์ ทุกคนต้องมีตราสินค้าตนเอง ไม่ได้เพียงเอาสร้างตราสินค้าแต่ต้องผ่านบรรจงคิด บรรจงทำ ข้อมูลทุกคำต้องนำมาพัฒนา เราต้องรู้ข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการ สินค้า และ6.สรุปผล และจัดทำข้อตกลงด้วยกัน มีการลงพื้นที่ไปในชุมชน สร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างดีไซน์เนอร์ และผู้ประกอบการที่ทุกอย่างต้องดำเนินการไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ปรับตัวสู่การพัฒนาได้

“สำหรับแนวทางในการผลิตผลิตภัณฑ์ สิ่งที่อาจารย์และดร.ศราวุฒิ ดำเนินการนั้นจะเป็นการวางกรอบการทำงานทั้งหมดของโครงการ ตั้งแต่การอบรม เพื่อทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ เรื่องแบรนด์ ตราสินค้า เรื่องการตลาด หัวใจของสินค้าและการบริการ รวมถึงการจัดทำสบู่ เพื่อให้เห็นภาพการออกแบบ การดีไซน์ต่างๆ โดยเมื่อเขาได้เห็น ได้เรียนรู้จะทำให้เกิดความสนใจ และเห็นคุณค่าของที่อาจจะไม่มีมูลค่า เห็นคุณค่า รู้จักการดีไซน์ การทำบรรจุภัณฑ์ หีบห่อต่างๆ นอกจากนั้น ให้ได้เรียนรู้การขับเคลื่อนสินค้าด้วยการออกแบบจากประสบการณ์  รูปแบบการผลิตสร้างคุณค่าใหม่ และใช้ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง ผ่านหลักสูตรโครงการสร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงเส้นทางหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการต้องรู้ 4 เรื่อง ได้แก่ รู้ตัวตน รู้สินค้า รู้ลูกค้า และรู้วิธี เมื่อดีไซน์สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้วจะต้องได้คุณค่า นวัตกรรมใหม่ๆ การตลาด และเกิดการยั่งยืนได้” ดร.เรืองลดา กล่าว

ดร.เรืองลดา กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการวิจัยออกแบบและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล อบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้จริง พัฒนาศักยภาพการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการขาย การสร้างแบรนด์สินค้า การตลาดออนไลน์ การสร้างเรื่องราวนำสู่อัตลักษณ์ที่เฉพาะในแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการจัดประชุม OTOP ที่ดำเนินการทุกขึ้นตอนอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การยกระดับสินค้า ปั้นจากดินไปสู่ดาว

“หน้าที่ของมหาวิทยาลัย ต้องให้บริการวิชาการ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการผ่านสำนักงานบริการวิชาการของม.ศิลปากร และในฐานะหัวหน้าโครงการ จึงได้มีการจัดตั้งทีมซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ตนเองเคยทำงานร่วมด้วย โดยนอกจากเป็นงานวิจัยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจริง ได้มาศึกษาผู้ประกอบการ เรียนรู้การสร้างแบรนด์ เห็นของจริง และยกระดับพัฒนาสินค้าให้มีคุณค่าขึ้นจริง และช่วยผู้ประกอบการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา ได้รู้จักชาวบ้าน ได้รู้หน้าที่ของเราทำให้เกิดการเรียนรู้ การขนส่ง ทำให้สินค้านำคนสู่ชุมชน”

ทั้งนี้ ดร.เรืองลดา  กล่าวอีกว่าปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้สินค้าไทยไม่ได้รับความสนใจ เพราะต่อให้คนไทยมีเรื่องความฝีมือ มีวัตถุดิบหลากหลาย มีสินค้าคุณภาพ แต่ขาดการนำเสนอเรื่องราว อัตลักษณ์ลงไปในสินค้า ไม่รู้จักการนำเสนอและการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงสินค้า OTOP ได้ ดังนั้น หากอยากให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ต้องนำเรื่องราว ประสบการณ์ร่วมของคนชุมชน ที่ผ่านมาจดจำ การบอกเล่าเรื่องราวมานำเสนอขายสินค้า และต้องทำให้สินค้าไทยเกิดการจดจำในความรู้สึกของผู้บริโภค เกิดการบอกเล่าบอกต่อผ่านประสบการณ์ของผู้ใช้ไปถึงผู้ใช้ด้วยกัน

การอบรมครั้งนี้มีดีไซน์เนอร์ในการดำเนินการมีทั้งหมด 10 กว่าคน โดยดีไซน์เนอร์ 1 คน ต้องดูผู้ประกอบการ 10 คน และมีผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์จากม.ศิลปากรมาให้คำแนะนำ ปรึกษา การเรียนรู้ เนื้อหาในโครงการดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจโลก เข้าใจคน ตีโจทย์งานออกแบบแบรนด์เพื่อธุรกิจแห่งอนาคต รู้เทรน 2018: ออกแบบยังไงให้ไกลกว่าเดิมด้วยดีไซน์ Design as a Strategy  for Marketing 4.0 workshop ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสัมผัสประสบการณ์ปั้นดินให้เป็นดาว ด้วยการออกแบบ ตั้งแต่การคิด ทำ ปั้น แต่ง จนถึงการขาย The Making of Thai Souvenir

นอกจากนั้น มีการเพิ่มกลยุทธ์และเทคนิคการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ลงลึกไปถึงเรื่องพฤติกรรมการบริโภค มีการเรียนรู้เอกลักษณ์ท้องถิ่นสู่งานออกแบบสินค้าระดับโลก Local Essence ตอน : เล่นกับขนม ร้านค้าแห่งอนาคต Just shop and Walk Out  และปรับถูกจุดเพิ่มกลยุทธ์การตลาด Co-Suming สร้างตลาดบริโภคร่วม ตอน:บทสรุปเพิ่มกลยุทธ์ด้วยการออกแบบอย่างใกล้ชิด

ได น.ส.จันทราภา รุจินาม อดีตนักศึกษาปริญญาโท คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในฐานะดีไซน์เนอร์ของโครงการฯ เล่าว่าได้รับคำชักชวนจากอ.ขวัญ ซึ่งตอนเรียนมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับผ้าทอ และส่วนตัวเป็นคนชอบผ้าทอ เมื่อโครงการนี้มีชุมชนที่เกี่ยวกับผ้าทอมาร่วมจำนวนมากจึงตัดสินใจมาเป็นดีไซน์เนอร์ในโครงการนี้ โดยจะทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ สินค้าจะพัฒนาไปในรูปแบบแนวทางใดได้บ้าง เพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภค ซึ่งต้องออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ นอกจากมีการอบรม ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการแล้ว ยังมีการลงพื้นที่ในชุมชน เพื่อทำให้การออกแบบเป็นไปโดยรู้ลึก รู้เรื่องราวของสินค้าแต่ละชุมชน
เช่นเดียวกับ เอิร์ธ น.ส.ถิรญา อินทะชุบ นักศึกษาปริญญาโท คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในฐานะดีไซน์เนอร์ของโครงการฯ เล่าว่ารู้จักโครงการดังกล่าวจากคำแนะนำของอ.ขวัญ และสนใจเข้าร่วม เพราะจะได้มาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง นำองค์ความรู้จากห้องเรียนมาปฏิบัติจริง เนื่องจากต้องทำหน้าที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการ ช่วยออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ พัฒนาปรับปรุง และเป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งสินค้าที่เราดำเนินการช่วยเหลือเป็นผ้า ได้เห็นว่าผ้าไทยสวยมาก ราคาสูง และทำอย่างไรให้คนใช้เยอะ  แต่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการ ชุมชนจะทำตามประสบการณ์และขายตามที่อยากทำ ดังนั้น ต้องนำประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดมาปรับใช้ในการนำเสนอสินค้า และไม่ควรทำซ้ำๆกันเหมือนเดิม ควรดึงจุดเด่นของตนเองมาให้ได้ ทุกคนต้องการแบรนด์ที่ไม่เหมือนกัน แต่สินค้าเหมือนกัน

เอิร์ธ  เล่าทิ้งท้ายว่า พยายามให้คำแนะนำในการนำเสนอสินค้า เรื่องราวที่แตกต่างกัน เพราะทุกคนทำผ้าเหมือนกันได้ แต่สินค้าน่าจะเกิดจากความสนใจของเจ้าของจริง และเพิ่มมูลค่าสิ่งนั้น โดยใช้ศาสตร์การเล่าเรื่อง การดีไซน์ การประยุกต์เหมาะสมกับสิ่งใหม่ บูรณาการเข้ากับสินค้าชนิดอื่นแต่ยังคงความเป็นพื้นเพของสินค้าเอาไว้ มีอัตลักษณของตนเอง หากสินค้าOTOP ปรับตัวเชื่อว่าสินค้าไทยไม่แพ้สินค้าประเทศใดๆ อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การมาทำกิจกรรมดังกล่าว เป็นการสร้างเครือข่าย การลงพื้นที่ทำงานจริง และได้นำความรู้ศิลปะการออกแบบ คณะที่เอาหลายๆ ศาสตร์มารวมกัน เพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ขึ้นมา

 


You must be logged in to post a comment Login