วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ชะตากรรม‘ตัวละคร 6 ตุลา’ / โดย สนานจิตต์ บางสพาน

On March 5, 2018

คอลัมน์ : สากกะเบือยันเรือรบ

ผู้เขียน : สนานจิตต์ บางสพาน

พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบกรมตำรวจ อายุ 81 ปี กระโดดห้างสรรพสินค้าใหญ่ของประเทศไทย “ฆ่าตัวตาย” ซึ่ง พล.ต.อ.สล้างเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว 41 ปี

พล.ต.อ.สล้างคือนายตำรวจที่บุกสนามบินดอนเมืองเพื่อจับกุมตัว “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” และลงมือทำร้ายอาจารย์ป๋วยด้วยการตบจนโทรศัพท์หลุดจากมือ พร้อมคำด่าหยาบคาย

นี่เป็นหนึ่งในตัวละครที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประชาชนคนไทยที่เสียชีวิต

สนจ. ผู้มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริงในฐานะอดีตนักข่าวประชาชาติรายสัปดาห์ เห็นทุกอย่างมากับตาตัวเองในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ทั้งการเผานั่งยางหน้าซุ้มขายหนังสือท้องสนามหลวง ไปจนถึงการฆ่านักศึกษารอบๆหอประชุมใหญ่ การจับกุมคุมขังนิสิตนักศึกษา ประชาชน บริเวณสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ การทำร้าย เตะ ทุบ ของตำรวจตระเวนชายแดน พลร่มหัวหิน

พล.ต.อ.สล้างคือตัวละครล่าสุดที่เสียชีวิตแบบจบ “ศพไม่สวย” ก่อนหน้านี้ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ พ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าสถานีวิทยุยานเกราะ เสียชีวิตในฐานะ “บุคคลไร้สมรรถภาพ” พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ พระสุรินทร์ มาศดิตถ์ กับจดหมายเปิดผนึกว่าด้วยการประชุม ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจใช้ “กำลังติดอาวุธ” เข้ากวาดล้างม็อบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตัวละครที่เกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ดาวสยามที่ตีพิมพ์ภาพตัดต่อละครแขวนคอในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนกลายเป็นหัวเชื้อให้เกิดการนองเลือดในเวลาต่อมา ใครอีกที่พอจะนึกออก อ้อ! สมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยบอกว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ และเหตุการณ์ 6 ตุลามีคนตายเพียงคนเดียว

“น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กับ พล.ต.ท.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้ก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านที่มีบทบาทในฐานะกลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา และกลายเป็นหัวขบวนในสถานการณ์ม็อบชนม็อบ

วัฒนา เขียววิมล เจ้าของลัทธินวพล พล.ต.สุตสาย หัสดิน เจ้าพ่อกระทิงแดง กองกำลังพลเรือนและเด็กอาชีวะ โดยมี “ผู้พันตึ๋ง” ที่ตอนนี้ติดคุกอยู่ในฐานะมือขวา

ตัวละครที่ยังมีชีวิตอยู่แต่มีบทบาทในเหตุการณ์ครั้งนั้นเหลือใครบ้าง ไล่เรียงจากความทรงจำก็มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เป็น พ.อ. ในราชการยุคนั้น นักเขียนหญิงระดับศิลปินแห่งชาติ นายตำรวจใหญ่ที่ยืนบัญชาการอยู่ใต้ถุนตึกคณะนิติศาสตร์ คนเหล่านี้ล้วนมีบทบาทไม่ทางตรงก็ทางอ้อมและเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

สนจ. ก็เกี่ยว แต่ในฐานะเหยื่อและผู้ร่วมในเหตุการณ์ที่รอดมาได้เพราะสถานภาพนักข่าว แต่เห็นของจริงมากับตา

เวลาย่อมกินสรรพสิ่งทั้งปวง และสำคัญมั่นคงคือความตายว่า “ตายแบบไหน?” ตายแบบให้คน “ด่า” ตามหลังหรือแบบถึงวันนี้ “ผู้คนยังยกย่องสรรเสริญ ไม่ลืมคุณูปการที่ทำและสร้างไว้ในอดีตให้คนรุ่นหลัง”

หวังว่าจะมีชีวิตอยู่ได้เห็นชะตากรรมของคนเหล่านี้ทุกคนไป…ฮา


You must be logged in to post a comment Login