วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ถึงเวลา.. “ขาลง” / โดย ทีมข่าวการเมือง

On February 19, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

เศรษฐกิจก่ายหน้าผาก วิกฤตศรัทธารัฐบาลขาลง กระแสนักศึกษา-ประชาชนทุกกลุ่มเรียกร้องให้ “#เลือกตั้งปีนี้ #เผด็จการจงพินาศ #ประชาธิปไตยจงเจริญ” เป็นการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ไม่เอาเผด็จการชัดเจน

กระแสขาลงรัฐบาลรัฐประหารยังถูกรุมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะเรื่อง “นาฬิกาเพื่อนให้ยืม” ที่ดังกระหึ่มอีกครั้งหลังจากสำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวพาดพิง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างพบปะกับนักเรียนไทยและนักธุรกิจไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอนเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ขอให้ตระหนักว่าเมื่อจบการศึกษากลับไปทำงานที่ประเทศไทยแล้ว การบังคับใช้กฎหมายของไทยและสำนึกของนักการเมืองและผู้บริหารประเทศยังต่างจากของอังกฤษ การยึดหลักนิติธรรม (rule of law) ยังไม่เกิดขึ้นจริง โดยยกตัวอย่างกรณีนายไมเคิล เบทส์ สมาชิกสภาขุนนางอังกฤษ พรรคอนุรักษ์นิยม ประกาศลาออกจากสมาชิกสภาขุนนาง เนื่องจากรู้สึกละอายใจที่เข้าร่วมประชุมสภาสายเมื่อปลายเดือนมกราคมแม้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี จะยับยั้ง “แต่เมืองไทยมีนาฬิกาใส่ 25 เรือนยังไม่เป็นไร”

หลังการปราศรัยเป็นเวลา 15 นาที นพ.ธีระเกียรติได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า ไม่มีทางที่จะเห็นนักการเมืองไทยลาออกเพราะมาสาย “ไม่มีทาง เพราะมันเป็น conscience (ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี) ลึกๆอยู่ในสายเลือด การรู้ว่าอะไรควร อะไรถูก มาสายไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิด ethic (จริยธรรม) เมื่อไม่ได้ฝึกมาแต่เด็กให้หน้าบาง ยาก เมืองไทยไม่มีทาง เมืองไทยเป็นอย่างหนาตราช้าง”

ส่วนเรื่อง “นาฬิกาหรู” ของ พล.อ.ประวิตรนั้น นพ. ธีระเกียรติกล่าวว่า “ถ้าผมถูก exposed (เปิดโปง) เรือนแรก ผมก็ออกแล้ว อันนี้ถามผมนะ ส่วนใครจะว่าอะไรให้ไปถามคนนั้น ของอย่างนี้คนก็ไม่กล้าพูด กลัวอะไร ทำไมพูดแล้วมันจะมาไล่ผมออกหรือ”

แต่เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ภายหลังการประชุม ครม. (13 กุมภาพันธ์) นพ.ธีระเกียรติได้แถลงว่า ตอนที่สัมภาษณ์เป็นการยืนคุยหลังการบรรยาย ไม่ทราบว่ามีการอัดเสียงและถามเรื่องนาฬิกา จึงถือว่าไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ คลิปเสียงที่ออกมาไม่ได้มีการตัดต่อ แต่ภาพและเสียงไม่ตรงกัน แต่ก็ยอมรับว่าการแสดงความเห็นของตนเป็นการผิดมารยาทที่กล่าวถึงเพื่อนร่วมคณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ขอโทษท่าน เพราะตนทำผิดมารยาท

“อย่างหนา” จริงๆ

กรณี “นาฬิกาเพื่อนให้ยืม” ยังเป็นหอกที่ทิ่มแทง พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังประชุม ครม. ว่า นพ.ธีระเกียรติมาคุยกับตนและ พล.อ.ประวิตรแล้ว ไม่มีอะไร และยืนยัน ครม. ไม่ร้าว ถ้าใครทำผิดก็ขอโทษกัน ให้อภัยกันก็จบ

คำว่า “จบ” ของ พล.อ.ประยุทธ์คือการขอโทษและให้อภัย แต่กระแสที่สังคมยังเรียกร้องอยู่คือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงต้องการให้ พล.อ.ประวิตรแสดงสปิริตทางการเมืองด้วยการลาออก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มักจะเน้นย้ำมาตลอดเรื่องธรรมาภิบาล คุณธรรม และจริยธรรม แต่ดูเหมือนคำว่า “คุณธรรมและจริยธรรม” จะเป็นเรื่องเบาหวิวเกินไป เช่นเดียวกับที่ นพ.ธีระเกียรติพูดถึง พล.อ.ประวิตรว่าแม้ไม่ผิดกฎหมายก็ต้องตระหนักเรื่องจริยธรรมและต้องมีความละอาย แต่เมืองไทยเป็นกระเบื้องหนาตราช้างนั้นก็เป็นอีหรอบเดียวกัน เพราะสุดท้ายก็เป็นการพูดให้ดูเท่ๆเท่านั้น

กรณีของ พล.อ.ประวิตรไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว ไม่ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีมติว่าไม่ผิดด้วยเหตุผลใดก็ตามก็ยากที่จะทำให้สังคมเชื่อและยอมรับได้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่า “อย่ารักผมคนเดียว รักรองนายกฯของผมด้วย หากมีอะไรผิดพลาด บกพร่อง ต้องขอโทษด้วย”

คำพูดของ นพ.ธีระเกียรติแม้จะเป็นเรื่องที่อ้างว่าไม่เป็นทางการและขอโทษแล้วว่าเสียมารยาท แต่ก็เหมือนระเบิดที่ถล่มซ้ำรัฐบาล คสช. ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรเจ็บลึกยิ่งกว่าโพลต่างๆที่ต้องการให้ลาออกเสียอีก การ “ขอโทษ” ของ นพ.ธีระเกียรติไม่ได้มีความหมายใดๆกับ พล.อ.ประวิตรเลย เป็นเพียงการรักษาตัวรอดเพื่อกอดตำแหน่งรัฐมนตรีของตนเองไว้เท่านั้น เพราะกระแสสังคมได้ตัดสินลงโทษไปแล้ว และตอกย้ำว่าคำว่า “อย่างหนาตราช้าง” เป็นจริง การยื้อให้ พล.อ.ประวิตรอยู่ต่อมีแต่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ถูกตั้งคำถามเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โกงแบบเซียนเหยียบเมฆ?

กระแสกดดันเรื่อง “จัดเลือกตั้งตามคำสัญญา” ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่รัฐบาล คสช. คิดจะยื้อให้นานแค่ไหนก็ได้ แม้แต่กฎหมายลูก 2 ฉบับขณะนี้คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีกระแสข่าวหนาหูว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจคว่ำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นข้ออ้างยืดการเลือกตั้งออกไปอีก แม้จะมีการลงมติแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อยืดการเลือกตั้งออกไป 90 วันแล้วก็ตาม ซึ่งทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่เห็นด้วย

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บอกว่า หากคว่ำจริง สนช. ก็ต้องรับผิดชอบ ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ดักคอว่า หากคว่ำกฎหมายลูกจริงก็ถือเป็นการโกงแบบเซียนเหยียบเมฆ และสะท้อนว่าผู้มีอำนาจต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุดหรือรอจนกว่าจะมีคนมาขับไล่

เลือกตั้งปีนี้-เผด็จการจงพินาศ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงอ้างแต่กฎหมายว่าไม่ได้บิดพลิ้วเรื่องการเลือกตั้ง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งที่ สนช. ก็เป็นหนึ่งในเรือแป๊ะที่ คสช. ตั้งเอง การเลื่อนการเลือกตั้งโดยยืมมือ สนช. จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน หน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง จนถูกแจ้ง 3 ข้อหา รวม 39 คน และเป็นที่มาของ “กลุ่ม MBK39” ยิ่งทำให้กระแสการเรียกร้องเลือกตั้งตามคำสัญญาสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยหน้าเดิมๆ แต่การเรียกร้องครั้งนี้มาจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกสี

โดยเฉพาะการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง” ที่จัดโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและกลุ่ม Start Up People เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มีผู้ร่วมชุมนุมหลายร้อยคนโดยไม่กลัวการถูกจับและตั้งข้อหา ซึ่งนายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำการชุมนุม ปราศรัยว่า “วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดสิ้นสุดของรัฐบาล คสช.” พร้อมชู 3 นิ้วเพื่อประกาศว่า 1.ต้องเลือกตั้งปีนี้ 2.เผด็จการจงพินาศ และ 3.ประชาธิปไตยจงเจริญ เพราะเห็นว่าเกือบ 4 ปี รัฐบาล คสช. กระชากอนาคตของคนไทยไปจนเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องออกมาสู้ เพราะประเทศนี้เป็นของพวกเราทุกคน

นายรังสิมันต์ยังกล่าวถึงพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่เงียบหายไปในช่วง 4 ปีว่า หมดเวลาแล้วสำหรับคนที่แสวงหาประโยชน์จากการต่อสู้ของประชาชน เพราะถือว่าไม่ใช่คนของประชาชนอีกต่อไป มีการเลือกตั้งเมื่อไรก็อย่าไปเลือก ยามที่ยากลำบากที่สุด ถ้านักการเมืองไม่ปรากฏตัวก็จะขอสาปแช่งและไม่เลือกเข้าสู่สภาอีกต่อไป

ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศผ่านเฟซบุ๊ค (11 กุมภาพันธ์) ตอบคำถามของนายรังสิมันต์และนายอานนท์ นำภา ที่ถามว่านักการเมืองไปอยู่ที่ไหนเวลาที่พวกน้องๆเอาตัวเข้าแลกเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางว่า ผมเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเผด็จการมาตลอดและมีคดีความติดตัวไม่น้อยไปกว่าน้องๆ แต่ที่ผมไม่ได้ไปถนนราชดำเนินไม่ได้เกิดจากกลัวคุกหรือตะราง เพียงแต่ไม่ต้องการให้พลังอันบริสุทธิ์ของประชาชนต้องถูกเผด็จการป้ายสีว่ามีการเมืองหนุนหลัง แต่เมื่อพวกน้องเรียกร้อง การชุมนุมครั้งหน้าผมจะไปร่วมอย่างแน่นอน พวกเราจะช่วยกันต่อสู้กับเผด็จการเพื่อเอาอำนาจคืนให้กับประชาชน จากนั้นเอาตัวคนที่ทำกรรมกับประชาชนมาลงโทษ จะไม่ปล่อยให้ใครได้ลอยนวลอย่างแน่นอน ผมให้สัญญาครับ

“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” โชว์ตัวทัวร์นานาชาติ

อาการที่สะท้อนถึงภาวะขาลงของรัฐบาล คสช. ยังเห็นได้ชัดเจนจากกรณีอดีตนายกฯ 2 คนที่ถูกไล่ล่าคือ ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวกลางกรุงปักกิ่งช่วงเทศกาลตรุษจีน จน พล.อ.ประยุทธ์ออกอาการว่า “ไม่รู้อะไร ขยับทีเป็นข่าวไปหมด เดือดร้อนคนทั้งประเทศ” การปรากฏตัวของอดีตนายกฯตระกูลชินวัตรไม่ใช่แค่ทำให้คนในประเทศที่ยังศรัทธาคึกคักเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ สะท้อนให้เห็นท่าทีของจีน ซึ่งรัฐบาล คสช. ถือเป็นมหามิตรสำคัญหลังจากถูกบอยคอตจากสหรัฐและกลุ่มสหภาพยุโรป โดยกองทัพทุ่มงบประมาณนับหมื่นนับแสนล้านซื้อทั้งเรือดำน้ำ รถถัง รถหุ้มเกราะ และตั้งศูนย์ซ่อมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในไทย ยังไม่รวมถึงการใช้คำสั่งพิเศษของ คสช. ไฟเขียวให้สร้างรถไฟความเร็วปานกลางเอาใจจีนอีก

การปรากฏตัวของ 2 อดีตนายกฯเท่ากับจีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาทางการเมืองของรัฐบาล คสช. เลย เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปและสหรัฐที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเปิดความสัมพันธ์ตามปรกติกับรัฐบาล คสช. ซึ่งรัฐบาล คสช. เอามาโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าได้รับการยอมรับจากนานาชาตินั้น สหภาพยุโรปและสหรัฐก็มีข้อแม้ชัดเจนว่าต้องมีเลือกตั้งตามโรดแม็พที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศและสัญญากับประชาคมโลกไว้ ไม่ใช่ว่าเห็นชอบกับการยึดอำนาจโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย

เมื่อจบจากโชว์ตัวทัวร์จีนอดีตนายกฯทั้งสองยังไปต่อที่ญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งน่าจะเริ่มฤดูการเดินสายไปได้ทุกประเทศ (ยกเว้นไทย) เป็นการประกาศว่ารัฐบาลนานาชาติทั่วโลกคิดอย่างไรกับการเมืองไทยโดยไม่ต้องแถลงอะไรเลย ก็ยิ่งทำให้อุณหภูมิในใจ “ทั่นผู้นำและคณะ” เดือดสูงขึ้นเรื่อยๆ

โพลย้ำแก้ปัญหาล้มเหลว

ที่น่าสนใจคือ สวนดุสิตโพลได้ระบุผลสำรวจอีกครั้งว่า ประชาชนร้อยละ 63.45 อยากให้จัดการเลือกตั้งตามโรดแม็พ และร้อยละ 78.32 วิตกกังวลปัญหาปากท้องและค่าครองชีพสูง และต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ซึ่งสวนทางกับ พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น และเป็นประเทศที่ติดอันดับน่าลงทุน

ขณะที่กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็ฉีกหน้ารัฐบาล คสช. อีกครั้งจากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเปรียบเทียบ “2 ปีแรก vs 2 ปีหลัง” ของรัฐบาล คสช. โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ปรากฏว่า 2 ปีหลังไม่ดีเท่า 2 ปีแรก ทั้งมีค่าเฉลี่ยลดลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตและการสร้างความโปร่งใสติดลบมากที่สุด

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Decharut Sukkumnoed ว่า ระยะนี้รัฐบาลพยายามโฆษณาผลงานทั้งที่ไม่มีข้อมูลใดๆมายืนยัน จากข้อมูลดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้และดัชนีผลผลิตการเกษตรจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ยุครัฐบาล คสช. ราคาและผลผลิตมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าพี่น้องเกษตรกรอยากเลือกตั้งเต็มทีแล้ว แม้จะยังไม่ทราบว่านโยบายของพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร

ประชาธิปไตยคือเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง??

ประเด็นการเคลื่อนไหว “อยากเลือกตั้ง” ยิ่งเป็นประเด็นร้อนยิ่งขึ้นเมื่อ “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” นักแต่งเพลงชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว (12 กุมภาพันธ์) วิจารณ์กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” โดยตั้งคำถาม 9 ข้อ และประชดนักการเมืองว่าพร้อมจะขายตัวเหมือน “กะหรี่การเมืองขายปลีก” ฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการและอยากเลือกตั้งก็เคลื่อนไหวซ้ำๆซากๆ ไม่มีข้อเสนออะไรเลย ประชาธิปไตยคือเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งที่ห่อหุ้มแพ็กเกจให้ดูงดงาม

“ดี้” ยังระบุว่าประเทศไทยไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตยแบบฝรั่ง แต่เหมาะกับประชาธิปไตยแบบพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่โคตรจะจริงใจ ไม่ดัดจริตแบบกระบวนการรัฐสภาห่าหอย

นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ได้โพสต์ความเห็นตอบคำถาม “ดี้” ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Pipob Udomittipong ว่า ขอตอบแบบวิทยาศาสตร์ที่กล่าวหาว่าประชาธิปไตยไม่ต่างจากเผด็จการ ต่างกันสิน้อง มันอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้หรอกสองระบบนี้น่ะ

#Pew สำรวจความเห็นประชาชน 40,000 กว่าคนใน 28 ประเทศทั่วโลกเมื่อกลางปีที่แล้วนี่เอง (เสียดายไม่มีไทย) พบว่า “คนส่วนใหญ่” ในโลกนิยมประชาธิปไตยมากกว่าการปกครองแบบอื่นๆ ที่สำคัญประเทศที่ยิ่งรวย เศรษฐกิจยิ่งดีเท่าไร คนยิ่งรักประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น คนส่วนใหญ่ในโลกต้องการประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (คือพวกที่อยากเลือกตั้งน่ะ)

ถามว่าคนอย่าง “ดี้” ที่เกลียดทั้งประชาธิปไตยและไม่เอาเผด็จการ คือไม่เอาอะไรเลยสักอย่างมีไหม? มีครับ มีแค่ 8% เท่านั้นในโลก คนพวกนี้คงสับสน ไม่ได้อะไรดังใจก็โทษประชาธิปไตยไว้ก่อน (แต่เวลาเดินทางไปเที่ยวมักเลือกเดินทางไปประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจและมีประชาธิปไตยมั่นคง เวลาส่งลูกเรียนนอกก็มักส่งไปประเทศเหล่านี้ มีมั้ยชนชั้นกลางไทยแบบดี้ที่อยากส่งลูกไปเรียนรัสเซีย?)

ขณะที่ “โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา” โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Bow Nuttaa Mahattana ว่า พี่ดี้และเพื่อนควรพิจารณาตั้งต้นบนจุดใหม่ จุดที่เชื่อว่าชาวไทยทุกคนล้วนอยากมีอนาคตที่ดี เมื่อเชื่อได้อย่างนี้จะเห็นความเป็นไปได้อีกมากมาย ใครอยากตั้งพรรคการเมืองใหม่ หากมีไอเดียที่ดีพอย่อมสามารถโน้มน้าวผู้คนและระดมทุนให้มาร่วมกันสร้างความฝันนั้นได้ แต่หากทำไม่ได้ให้ประเมินตนและพิจารณาความได้เรื่องได้ราวของไอเดียตัวเองก่อนจะโทษทุนนิยม ที่สุดแล้วประชาชนคือผู้กลั่นกรองตัวเลือกตลอดกระบวนการไปจนสุดทางที่ผลการเลือกตั้ง และหากไม่หยุดที่จะมีส่วนร่วมในทางการเมืองก็จะยังคงมีส่วนก่อร่างสร้างอนาคตด้วยกันผ่านสารพัดช่องทางต่อไป ไอเดียที่ยังไม่ดีพอเอากลับไปทำการบ้านมาใหม่ วันหนึ่งเมื่อเข้าตาประชาชนก็จะได้โอกาสนั้นเอง พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ก็มีจุดเริ่มต้นจากการนับหนึ่งทั้งสิ้น เป็นการนับหนึ่งบนจินตนาการถึงความเป็นไปได้ ไม่ใช่สิ้นหวังตั้งแต่ยังไม่เริ่มแบบที่พี่ดี้แสดงออกผ่านการคร่ำครวญกับตัวละครในภาพอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการที่ทำให้หลายคนสิ้นหวังก็ไม่อาจอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย หากคนในชาติชัดเจนในความต้องการของตนที่จะแก้ไขมนุษย์ เคยพาตัวเองไปได้ไกลกว่าดวงจันทร์จะกลัวอะไรกับการหาวิธีแก้ตัวอักษรบนกระดาษ วิธีการนั้นมีอยู่แล้วและมีได้หลากหลาย หากพร้อมรับฟังคงจะได้อภิปรายกันในโอกาสต่อไป

การนับหนึ่งในวันนี้เริ่มที่การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงและมีความหวัง ที่เหลือจะไปได้ไกลแค่ไหนอยู่ที่ศักยภาพสองมือหนึ่งสมองของทุกคน รวมกันได้แค่ไหนคือเก่งแค่นั้น ไม่ต้องไปโทษใคร คนอย่างพี่ดี้เองก็ยังทำอะไรได้อีกมากถ้าไม่ขาดจินตนาการ

ความหวาดระแวงประชาธิปไตยคือความหวาดระแวงในเพื่อนร่วมชาติ หยุดความคุ้นชินกับภาพจำเดิมๆแล้วเปิดทางให้จินตนาการใหม่ คนไทยใจเสาะหรือใจสู้ จะสร้างอนาคตแบบไหนให้ตัวเอง เราก็จะได้เห็นไปด้วยกัน

สมควรแก่เวลา.. “ขาลง”

สถานการณ์ของรัฐบาล คสช. ขณะนี้เห็นชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ต้องการประชาธิปไตยกับกลุ่มที่ยังสนับสนุน คสช. เพราะถ้าหากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ย่อมหมายความว่าการเลือกตั้ง (ถ้ามี) ในครั้งต่อไปจะเป็นการต่อสู้ว่าประชาชนจะเลือกใครระหว่าง “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ” อย่างชัดเจน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ “ทั่นผู้นำสูงสุด” ยังเชื่อมั่นตัวเองว่าไม่ได้ล้มเหลวและกำลังทำให้ประเทศไทยมั่งคั่งและมั่นคงอย่างยั่งยืน เหตุใดจึงสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นว่าเศรษฐกิจแย่และวิตกปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น ที่สำคัญคือไม่เชื่อมั่นแม้แต่กระบวนการยุติธรรม เส้นทางของ คสช. และรัฐบาลจากคณะรัฐประหารไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนช่วง “ขาขึ้น”

ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับ คสช. ขณะนี้ไม่ใช่แค่สีแดง อย่างที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เขียนในคอลัมน์ “ประสงค์พูด” ว่า “สีเหลืองสีแดงต่อต้านสีเขียวที่มีปืนอยู่ในมือ ทั้งๆที่สมัยก่อนมีแต่สีแดงเท่านั้นที่ต่อต้านสีเขียว และสีเหลืองสมัยก่อนสนับสนุนสีเขียว แต่สมัยนี้สีเหลืองกับสีแดงยืนฝั่งเดียวกันในการถล่มสีเขียวในลักษณะแยกกันเดินร่วมกันตี

คำถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ คำตอบก็คือเพราะสีเขียวตั้งโจทย์ผิด อย่าตั้งโจทย์ผิดที่คนอื่นแต่อย่างเดียว ส่วนพวกตัวก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือไม่ใส่ใจที่จะจัดการให้โปร่งใส อย่างเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่อื้ออึงเรื่อง “นาฬิกายืมเพื่อน”

เสียงเตือนของคนเสื้อแดงหรือฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอาจเหมือนเสียงนกเสียงกา แต่เสียงของคนอย่าง น.ต.ประสงค์ หนึ่งในฟากฝ่าย “ป๋า” ที่ย้ำครั้งแล้วเล่า รวมถึงเสียง “ป๋า” ที่เตือนเรื่อง “กองหนุน” ที่หดหายไปจนจะหมดแล้ว จึงต้องเงี่ยหูฟัง

แม้นกหวีดอาจติดคอคนจำนวนมากที่สนับสนุนการรัฐประหารของ คสช. สารพัดกรณีที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะยึดหลักว่า “คนดี.. ไม่ต้องสงสัย ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ” แต่เมื่อกระแสคนกลางๆที่ไม่สนใจการเมืองยังรับไม่ได้ กรณี “นาฬิการวยเพื่อน” จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีที่ยืนในสังคมหากนิ่งเฉย

อาจเป็นเรื่องโชคดีของรัฐบาลที่ข่าวกรณี “เจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูตร” ล่า “เสือดำ-เก้ง-ไก่ฟ้า” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่สังคมรุมประณามและสาปแช่งกลายมาเป็นข่าวดังแทรก ทำให้เสียงนกหวีดมีที่ทางและหัวข้อใหม่เพื่อแสดงตนเป็น “คนดี” กันอย่างพร้อมเพรียงอีกครั้งไปกับกระแสสังคม

แต่ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้า “เสือดำ-เก้ง-ไก่ฟ้า” (ไม่ใช่คน) ถูกล่ากลางถนนราชดำเนิน แยกราชประสงค์ จนตายสัก 99 ศพ สังคมไทยจะฉุกคิด จะเกิดมโนสำนึกอะไรขึ้นบ้างในสังคมไทยหรือไม่?

ตรุษจีนปีใหม่ปีนี้ปีหมา เขาว่ากันว่าเป็นปีชงของ “ทั่นผู้นำและคณะ”

จริงไม่จริงไม่รู้ รู้แต่ว่ากำลังอยู่ในช่วง “ขาลง”

หาทางลงให้ดีๆก็แล้วกัน!!??


You must be logged in to post a comment Login