วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เข้าใจชีวิตใหม่จากฝน / โดย บรรจง บินกาซัน

On January 1, 2018

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

ความเชื่อในการมีอยู่ของสวรรค์และนรกเป็นความเชื่อร่วมกันของทุกศาสนา ไม่มีศาสนาใดที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องนี้

ภาพพจน์ความสุขสบายในสวรรค์ที่คัมภีร์ทางศาสนากล่าวไว้มีส่วนบันดาลใจให้ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ยังคงมุ่งมั่นทำความดีต่อไป ถึงแม้จะต้องยอมสละทรัพย์สินหรือพลีชีวิตของตนก็ตาม

ขณะเดียวกันภาพพจน์ความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในนรกที่คัมภีร์ทางศาสนากล่าวไว้ก็ทำให้ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ต้องคิดทบทวนครั้งแล้วครั้งแล้ว และยับยั้งตนเองก่อนทำความชั่ว

สวรรค์และนรกเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มันเป็นความจริงที่กาลเวลาและวิทยาศาสตร์ไม่อาจลบล้างได้ ต่างไปจากทฤษฎีบางอย่าง เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน หรือทฤษฎีประชากรของมอลธัส ที่ถูกกาลเวลาลบล้างไปเมื่อมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์

ศาสนาคริสต์เชื่อในการมีอยู่ของสวรรค์ และเรียกสวรรค์ว่าเป็นอาณาจักรของพระเจ้า แต่ศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่ามนุษย์คนใดจะเข้าสวรรค์หรือนรก ทุกคนต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมในวันพิพากษาก่อน เพราะถ้าจะให้มนุษย์ทั้งหมดที่มีทั้งคนดีและคนบาปเข้าสวรรค์ทั้งหมด สามัญสำนึกของมนุษย์ก็จะบอกว่ามันไม่ยุติธรรมและขัดกับคุณสมบัติของพระเจ้าผู้ทรงความยุติธรรม

ความเชื่อในเรื่องสวรรค์และนรกและความเชื่อในเรื่องวันพิพากษาถือเป็นหลักความศรัทธาขั้นพื้นฐานของอิสลาม มุสลิมคนใดที่ปฏิเสธเรื่องการมีอยู่ของสวรรค์หรือนรกถือเป็นการปฏิเสธพระเจ้าโดยปริยาย และถือว่าหลุดพ้นจากสถานภาพความเป็นมุสลิมโดยทันที

ดังนั้น ในการละหมาดทุกเวลา มุสลิมจึงถูกย้ำเตือนถึงความจริงในเรื่องนี้เมื่อต้องอ่านข้อความตอนหนึ่งในการละหมาดซึ่งมีความหมายว่า “พระเจ้าเป็นผู้ทรงมีอำนาจสูงสุดในวันแห่งการพิพากษา”

อย่างไรก็ตาม ตามหลักศรัทธาของอิสลาม ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิพากษามนุษย์ต้องถูกทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพที่มีเนื้อหนังและสังขารเหมือนกับที่อยู่ในโลก ทั้งนี้ เพื่อให้ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้รับความสุขเป็นการตอบแทนความดี และได้รับความทุกข์ทรมานจากบาปหรือความชั่วที่ตัวเองได้ทำไว้ในขณะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้

เหตุผลที่ทุกศาสนามีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวก็เพราะศาสนาต้องการปฏิรูปมนุษย์โดยการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ทำความดีและยับยั้งมนุษย์ไม่ให้ทำความชั่วนั่นเอง

เมื่อนบีมุฮัมมัดนำความจริงที่ไม่สามารถสัมผัสด้วยประสาททั้งห้ามาบอกกล่าวชาวเมืองมักก๊ะฮฺ ท่านได้ถูกบรรดาหัวหน้าชาวเมืองต่อต้าน เพราะคนเหล่านี้มีอำนาจและมีฐานะ จึงมักใช้อำนาจและฐานะของตนทำบาปตามอารมณ์ เมื่อได้ยินเรื่องนี้หัวหน้าชาวเมืองมักก๊ะฮฺจึงรู้สึกว่าตัวเองถูกตำหนิ และเกิดความไม่พอใจเหมือนกับข้าราชการชั้นสูงถูกเปิดโปงการทุจริต

ก่อนหน้านี้ชาวอาหรับไม่เชื่อในเรื่องการฟื้นคืนชีพหลังความตาย และโต้แย้งนบีมุฮัมมัดว่าเป็นไปได้อย่างไรที่เนื้อหนังและกระดูกที่ยุ่ยสลายกลายเป็นธุลีแล้วจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนอีกครั้งหนึ่ง บางคนแสดงกิริยาหยาบคายโดยการบี้กระดูกสัตว์ผุๆขว้างใส่ท่าน หรือไม่ก็ใช้มือกอบฝุ่นขึ้นมาเป่าไปยังท่าน

ด้วยเหตุนี้ในคัมภีร์กุรอานจึงมีข้อความเปรียบเทียบที่อธิบายถึงกระบวนการฟื้นคืนชีพมากมายหลายตอน ซึ่งหนึ่งในนั้นเราสามารถเข้าใจได้ทันที เช่น

“และพระองค์คือผู้ทรงส่งลมมาเป็นเสมือนผู้แจ้งข่าวดีถึงความเมตตาของพระองค์ เมื่อมันรวมกันเป็นเมฆหนา เราได้ทำให้มันเคลื่อนที่ไปสู่แผ่นดินที่แห้งแล้งและทำให้ฝนตกลงมาบนแผ่นดินนั้น แล้วเราได้ทำให้ผลไม้หลากชนิดออกมาจากมัน ในทำนองนี้แหละที่เราได้ทำให้คนตายออกมาจากสภาพแห่งความตาย ทั้งนี้ เพื่อที่สูเจ้าจะได้รับบทเรียนจากมัน” (กุรอาน 7:57)

ถ้าหากเปรียบมนุษย์เป็นเสมือนน้ำที่อยู่ในหนองบึงและทะเล น้ำถูกแสงแดดแผดเผากลายสภาพเป็นไอไปรวมกันเป็นก้อนเมฆ เปรียบเสมือนวิญญาณของมนุษย์ถูกดึงออกจากร่างไปรวมกันที่ไหนสักแห่ง หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลาก้อนเมฆนั้นก็จะกลายเป็นน้ำอีกครั้งหนึ่งในรูปของฝน

การฟื้นคืนชีพหลังความตายในสภาพที่เหมือนเดิมจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ


You must be logged in to post a comment Login