วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ชีวิต….ใครเป็นผู้ลิขิต? / โดย บรรจง บินกาซัน

On December 4, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

ถ้าศึกษาให้ลึกถึงแก่นธรรมที่แท้จริงของศาสนา เราจะพบว่าทุกศาสนามีคำสอนขั้นพื้นฐานที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน และหนึ่งในนั้นคือเรื่องความเชื่อในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว มันเป็นความจริงที่ต้องการจะบอกมนุษย์ให้รู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ภายใต้กฎที่ผู้มีอำนาจเหนือเขากำหนดไว้

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกฎที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครหลีกหนีกฎนี้พ้นเมื่อเกิดมา

หลายคนสงสัยว่าใครเป็นผู้กำหนดกฎ เราพบคำตอบเรื่องนี้ในรูปของคำว่า “พรหมลิขิต” นั่นคือพระเจ้าเป็นผู้กำหนด เพราะพรหมเป็นชื่อของพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่ง ดังนั้น จึงไม่ยากที่มนุษย์จะทำความเข้าใจ เพราะผู้สร้างย่อมเป็นผู้กำหนดสิ่งที่ตัวเองจะสร้างทั้งสิ้น

แต่เพราะหลายคนไม่เข้าใจในเรื่องของพรหม บางคนจึงจินตนาการรูปลักษณ์ของพระพรหมและปั้นรูปพระพรหมขึ้นมาบูชาสักการะ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเองในชีวิตนี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ตัวเองทำไว้ในอดีต

กฎดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ถ้ามนุษย์เข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ เหมือนกับที่มนุษย์รู้จักกฎของน้ำว่าไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอจึงเอากฎการไหลของน้ำไปใช้ประโยชน์

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาล้วนถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องแก่ ถึงแม้มนุษย์ทุกคนจะยอมรับและยอมจำนนต่อกฎ แต่ก็มีมนุษย์บางคนอยากแก่แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่อยากแก่แบบหักโหม จึงมีคนผลิตยาและอาหารเสริมมาตอบสนองคนเหล่านี้จนรวยไปหลายรายแล้ว

ไม่มีมนุษย์คนใดอยากเจ็บป่วย แต่เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องป่วย จึงมีคนลงทุนผลิตยาและสร้างโรงพยาบาลไว้รองรับคนที่อยู่ภายใต้กฎนี้จนผู้ผลิตยาและเจ้าของโรงพยาบาลหลายแห่งร่ำรวยไปตามๆกัน

เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้วต้องตาย ญาติของผู้ตายต้องการโลงศพ การจัดการศพจึงก่อให้เกิดธุรกิจต่างๆตามมาอย่างถาวร เช่น การทำโลงศพ การทำพวงหรีด เป็นต้น

ที่กล่าวมาคือประโยชน์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้จากกฎของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ความจริงแล้วกฎดังกล่าวถูกกำหนดไว้เพื่อเตือนมนุษย์ให้เข้าใจความจริงของชีวิตว่าเขาไม่ได้เป็นผู้สร้างชีวิต เขาจึงไม่ใช่ผู้กำหนดชีวิต แต่ชีวิตของมนุษย์ถูกกำหนดโดยผู้สร้างชีวิตเขา และกฎนี้มีไว้เพื่อให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ในโลกหน้าด้วย

คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยและความตายเป็นเคราะห์ร้าย แต่ในอิสลามเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ถูกพระเจ้ากำหนดไว้เพื่อให้มนุษย์ได้ปฏิบัติธรรม และเตือนมนุษย์ให้รู้ถึงความจริงของชีวิตว่าวันหนึ่งเขาจะต้องจากโลกนี้และกลับไปหาพระเจ้าโดยผ่านทางความตาย

ตอนหนึ่งของคัมภีร์กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงเราจะให้เกิดเภทภัยขึ้นเพื่อทดสอบสูเจ้าด้วยความหิว ความกลัว และการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผล”

ไม่มีใครอยากประสบเคราะห์ร้าย แต่เคราะห์ร้ายได้ถูกพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตกำหนดไว้ในฐานะเป็นกฎ ดังนั้น มนุษย์ต้องยอมรับกฎที่เป็นความจริงของชีวิต

คัมภีร์กุรอานกล่าวต่อไปว่า “จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนที่เมื่อเภทภัยหรือเคราะห์ร้ายมาประสบกับเขาแล้ว เขากล่าวว่า แท้จริงเราเป็นของพระเจ้าและยังพระองค์ที่เราจะกลับไป”

การโวยวายเมื่อประสบเคราะห์ร้ายมีแต่จะทำให้สติแตก ทางออกที่ดีก็คือการยอมรับกฎแต่โดยดีและอดทนต่อสิ่งที่ประสบ เพราะความอดทนคือการยอมสยบและการก้มกราบของวิญญาณต่อพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของวิญญาณ มันเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เคราะห์ร้ายไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่

หลังจากนั้นคัมภีร์กุรอานได้กล่าวว่า “คนเหล่านี้แหละที่จะได้รับการประสาทพรและความเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา และคนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับการชี้ทางที่ถูกต้องให้ในการแก้ไขปัญหาชีวิต”

ศาสนาไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่ศาสนาคือศิลปะการใช้ชีวิตที่จะทำให้มนุษย์รู้จักใช้ความสุขโดยไม่ให้เกิดทุกข์ตามมา และสอนวิธีใช้ชีวิตในยามทุกข์ให้มีสุขตามอัตภาพแม้จะอยู่บนกองทุกข์ก็ตาม


You must be logged in to post a comment Login