วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

แกะรอยมวยไทยจากเผ่าเย่จื่อ (2) / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On November 13, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

การจะแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์นั้น ข้อแรกจำเป็นต้องเปิดกว้าง คือไม่อาจยึดเฉพาะแนวทางของประวัติศาสตร์กระแสหลักเท่านั้น มีความจำเป็นต้องเปิดกว้างและเปิดทางให้กับประวัติศาสตร์ทางเลือกด้วย และต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์โดยแท้จริงคือการวิเคราะห์ตีความออกมาจากมุมมองภายใน ซึ่งแน่นอนว่านักประวัติศาสตร์แต่ละคนย่อมมีวิธีหรือกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันมาก จึงเกิดผลผลิตที่สะท้อนออกมาเป็นอัตลักษณ์ตามการตีความมาจากภายในของแต่ละปัจเจก ใกล้เคียงกับ “E.H. Carr” ที่เขียนไว้ใน “What is History” ซึ่งเห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ย่อมเป็นคนละอย่างกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยังเกี่ยวข้องทั้งความคิดและจินตนาการ

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ หูไหรเฉิน ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์จื่อจิ้นเฉิง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เคยกล่าวกับสุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดังของไทยว่า “ประวัติศาสตร์นั้นมีเสน่ห์ เปรียบเสมือนเราได้ลงไปว่ายน้ำในท้องทะเลที่ไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุดเลย”

คล้ายกับการแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์ได้ชักพาให้เราค้นคว้าศึกษาเรื่องราวของชาวเย่จื่อออกไปได้อย่างกว้างขวางมาก กลายเป็นอีกรากลึกทางประวัติศาสตร์ที่มิใช่เพียงความรู้ผิวเผินว่าพวกเย่จื่อมีส่วนผสมทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายมากในหลายรุ่นอายุคน มิใช่เป็นเพียงเชื้อสายจีนผสมเผ่าเติร์กที่เคยสร้างจักรวรรดิยิ่งใหญ่ในอดีตของโซเวียตมาก่อน ได้แก่จักรวรรดิ Golden Horde

จากคำกล่าวของหูไหรเฉินสะท้อนว่า ในการศึกษาและค้นคว้าเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นั้นย่อมเป็นสาระความรู้ที่ไม่จำกัดขอบเขตใดๆได้เลยและไม่มีที่สิ้นสุดด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมในความหมายที่แท้จริง เป็นเสมือนทางด่วนของข้อมูลข่าวสารในสมัยโบราณที่ถ่ายทอดและส่งผ่านทั้งความรู้ภูมิปัญญาสารพัดระหว่างตะวันตกและตะวันออก เป็นการถ่ายทอดและเชื่อมโยงความรู้ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก

ดังนั้น หากมองอย่างนี้แล้วก็คงมีข้อสรุปว่า ในการแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์คงจำเพาะเจาะจงบอกได้ยากมากว่ามวยไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะแท้จริงคงเกิดขึ้นจากการหล่อหลอมและผสมกลมกลืนที่หลากหลายมากมาย จึงไม่มีใครรู้ดีและแยกแยะออกมาได้อย่างกระจ่างแจ้ง นอกจากบอกกันกว้างๆว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบมวยไทยน่าจะเป็นการหล่อหลอมและพัฒนาการที่หลากหลายมากทีเดียว

นี่จึงเป็นข้อสรุปแรกที่บรรดาผู้คิดแกะรอยมวยไทยต้องยอมรับกันในเบื้องต้นคือ ทฤษฎีการผสมกลมกลืนที่หลากหลายในการหลอมรวมเรื่องศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปเป็นมาอย่างสืบเนื่องบนเส้นทางสายไหม และที่สำคัญต่อมา ต้องยอมรับเงื่อนไขการส่งผ่านและผสมกลมกลืนทางศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายจนผสมผสานกันตกผลึกเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบฉบับของมวยไทย

เผ่าเย่จื่อเป็นชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทะเลทราย ซึ่งบรรพบุรุษมีฐานะเป็นทหารรับจ้างของราชสำนักจีนพร้อมกับเป็นพวกพ่อค้าคนกลางไปพร้อมๆกัน บทบาทของพวกเย่จื่อจึงเท่ากับเป็นผู้เชื่อมโยงการถ่ายทอดองค์ความรู้และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบต่างๆแล้วผสมกลมกลืนอยู่ในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบมวยไทย

เผ่าเย่จื่อจึงมีบทบาททั้งช่วยเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมเข้ากับการค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทชนเผ่าเย่จื่อที่มีคุณูปการต่อมวยไทยจึงมิใช่เพียงเป็นผู้คิดค้นการต่อสู้ในแบบประชิดตัวที่จะเอาชนะมองโกลเผ่าซงหนูหวังให้ตกลงมาจากหลังม้า แต่คุณูปการใหญ่สุดน่าจะได้แก่บทบาทผู้เชื่อมโยงเส้นทางสายไหมเข้ากับระบบค้าขายของสหมณฑลรัฐเทียนสน เพราะนั่นคือการสร้างและเชื่อมโยงกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมจากหลากหลายสาขาให้เกิดการหลอมรวมขึ้นมา

และเพราะระบบการค้านี้เองที่ได้สร้างเทียนสนขึ้นมา ซึ่งก็เชื่อมโยงจนเกิดศรีวิชัยขึ้นในที่สุด แล้วผลกระทบตรงนั้นก็เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับสุโขทัยและอยุธยา ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างประวัติศาสตร์ไทยกับประวัติศาสตร์ของอาเซียนด้วย

โดยสรุปแล้วบทบาทที่เด่นที่สุดของเย่จื่อ นอกจากเป็นบรรพบุรุษของศรีไชยนาทแห่งศรีวิชัยก็คือบทบาทที่ดึงเอาการค้าเส้นทางสายไหมเข้ามาต่อเชื่อมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักดันกระแสศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการต่างๆเข้ามาสู่อุษาคเนย์ รวมทั้งศาสนาพุทธนิกายมหายาน

เราได้เรียนรู้หรือพยายามเรียนรู้ทั้งในแง่ของมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ ทั้งที่ในบางชาติพันธุ์หาได้เกี่ยวข้องกับคนไทยเลย หากแต่ชนชาติเย่จื่อซึ่งอย่างน้อยเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลกับคนไทยอย่างมีนัยสำคัญหลายประการ ได้แก่ การเป็นบรรพบุรุษของจักรพรรดิศรีไชยนาทอดีตพระมหากษัตริย์ไทยโบราณผู้สร้างให้ศรีวิชัยเป็นจักรวรรดิทางทะเลที่ใหญ่ที่สุด หรือเชื่อมโยงการค้าโลกที่เส้นทางสายไหมเข้ากับระบบการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นี่จึงกลายเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจำเป็นต้องแกะรอยพวกเย่จื่อในหน้าประวัติศาสตร์ไทยในทุกๆเวอร์ชั่นออกมา ซึ่งอาจเกี่ยวพันโดยใกล้ชิดมากกับการแกะรอยประวัติศาสตร์มวยไทยด้วยซ้ำไป


You must be logged in to post a comment Login