วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

รู้ทัน‘โรคหลอดเลือดหัวใจ’ / โดย นพ.ประดับ สุขุม

On November 13, 2017

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.ประดับ สุขุม

โรคหลอดเลือดหัวใจยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย ยิ่งสไตล์ของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของโคเลสเตอรอลและสารต่างๆภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดการสร้างคราบไขมันที่ไปเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจลดลงเรื่อยๆจนไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นโรคยิ่งเพิ่มขึ้น ผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ผู้ที่มีความเครียดและขาดการออกกำลังกายก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน ซึ่งความรุนแรงของโรคนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

ลักษณะอาการเด่นๆของโรคหลอดเลือดหัวใจที่พบ ได้แก่ ไม่สบายที่หน้าอก รู้สึกเจ็บหน้าอกจนทนไม่ไหว แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก อ่อนเพลียไม่มีแรง เหนื่อยง่าย สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์แล้ว การที่ผู้ป่วยให้ข้อมูลและรายละเอียดอย่างถูกต้องทั้งประวัติและลักษณะอาการที่ปรากฏย่อมช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง การตรวจร่างกาย อาทิ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงกับการวิ่งสายพาน

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 รักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น ระดับที่ 2 รักษาโดยการใช้ยา ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาที่ช่วยให้การไหลเวียนหรือสูบฉีดเลือดดีขึ้น ซึ่งต้องรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง

ระดับที่ 3 รักษาโดยการทำหัตถการแบบ Invasive เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน หรือใส่ขดลวดเล็กๆเข้าไปเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจตีบให้ทำงานได้เป็นปรกติ เป็นต้น ระดับที่ 4 รักษาโดยการผ่าตัด ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (บายพาสหัวใจ) โดยมีทั้งเทคนิคบายพาสหัวใจแบบใช้และไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมตามความจำเป็นของผู้ป่วย

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างเห็นผลคือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้คือ อายุ พันธุกรรม และเพศ สำหรับผู้ชายที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 40 ปี และผู้หญิงที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 50 ปี อาจเกิดจากกรรมพันธุ์

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และสามารถป้องกันโรคนี้ได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยระดับโคเลสเตอรอลและไขมันในเลือด โดยรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวานควบคุมและรักษาให้หายขาด เพราะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆมีประสิทธิภาพลดลง โรคความดันโลหิตสูงควรรีบรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ เลิกสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งนำไปสู่หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติ เพราะผู้ที่น้ำหนักเกินมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆมากมาย ออกกำลังกายเป็นประจำ เลือกกีฬาที่เคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย เช่น แอโรบิก ว่ายน้ำ จ๊อกกิ้ง เป็นต้น


You must be logged in to post a comment Login