วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ประเทศนี้ไม่มีอนาคต? สัมภาษณ์- รังสิมันต์ โรม โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On November 6, 2017

“รังสิมันต์ โรม” แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ไม่เชื่อประเทศไทยจะมั่นคงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม แล้วยังสร้างกลไกต่างๆมาคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ขณะที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่ ความขัดแย้งก็ยังซึมลึก มองไม่เห็นอนาคตประเทศ ไม่เชื่อการรัฐประหารปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้าย

+++++++++++++

สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ผมรู้สึกว่าประชาชนไม่มีความหวังอะไรนัก ปรกติถ้าคนจะมีความหวังจะมองไปที่อนาคตแล้วก็ฝันว่าเขาอยู่ในประเทศนี้เขาจะเห็นตัวเองเป็นยังไง เห็นประเทศชาติเป็นยังไง และจะสามารถทำอะไรให้กับประเทศชาติได้บ้าง ขณะเดียวกันประเทศชาติจะสนับสนุนเขาไปข้างหน้าได้อย่างไรบ้าง แต่สถานการณ์ขณะนี้เหมือนเราไม่รู้อนาคต ไม่รู้ว่าทิศทางประเทศจะเป็นอย่างไร

ทุกสิ่งทุกอย่างเลยดูทรงๆ ดูเหมือนทุกคนใช้ชีวิตไปวันๆเพียงเพื่อวันนี้ ไม่ได้มองถึงอนาคตอะไรนัก ถ้าจะมองก็มองแค่ว่าจะใช้ชีวิตในประเทศอย่างนี้ให้มั่นคงอย่างไร การที่คนจำนวนมากสูญเสียความหวังในอนาคตเป็นเรื่องที่อันตราย ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมา ยังมีไฟมีแรง แต่กลับไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า นี่คือสิ่งที่หายไปจากสังคมไทยกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

ผมเปรียบเทียบง่ายๆว่า วันหนึ่งมีการเสนอเรื่องรถไฟความเร็วสูง คนจำนวนมากรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่าประเทศไทยกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สำคัญมาก หลายคนไปซื้อคอนโดฯเพื่อเก็งกำไร เพราะมองว่านี่คือโอกาส แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ปรากฏในช่วงที่กำลังจะเข้า 4 ปีแล้ว ผมก็ไม่มีความฝันอะไรเลยกับสังคมไทย ไม่รู้ว่าชีวิตคนไทยจะดีกว่านี้ได้อย่างไร

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามประกาศตลอดเวลาว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ แม้ผมไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์มา แต่ได้เจอคนจำนวนมาก คนที่ร่ำรวยมีวิธีวัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ง่ายมาก คือแค่ล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าตัวเองว่าเราพกเงินเท่าไร เงินยังมีเท่าเดิมหรือไม่ เพราะคนที่ผมสัมผัส คนที่หาเช้ากินค่ำ ต่างก็บอกว่ากำลังแย่ เศรษฐกิจฐานรากแย่มาก ไม่มีใครบอกผมว่าเศรษฐกิจดี แม้แต่นักธุรกิจรุ่นๆผมก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจแย่หมด ผมยืนยันว่าประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ส่วนคนที่ได้รับประโยชน์ก็บอกว่าเศรษฐกิจยังดี

เราต้องยอมรับว่าเราเป็นคนที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังที่จะไปใช้ชีวิตสบายๆในต่างประเทศได้ ตรงกันข้ามกับคนจำนวนไม่น้อยที่มีเงิน โดยเฉพาะพวกชนชั้นนำ ต่อให้ประเทศนี้ล่มสลาย เขาก็ไปใช้ชีวิตสบายๆที่เมืองนอกได้ แต่ประชาชนอย่างพวกเราไม่สามารถไปจากประเทศนี้ได้ ที่ผ่านมาสิ่งที่พวกผมทำคือพยายามทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น เป็นประเทศของทุกคนที่สามารถดำรงชีพได้ แต่เมื่อไม่ได้เป็นแบบนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าใครคือกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แล้วคนต่อไปคือใคร แต่รุ่นลูกหลานเราเขาจะอยู่ในประเทศแบบนี้ได้อย่างไร ผมขอย้ำว่ายังมองไม่เห็นอนาคตของประเทศนี้เลย มันง่ายมากที่จะพูดว่าตอนนี้ประเทศนี้ไม่มีอนาคต

คิดว่ามีการเลือกตั้งปี 2561 หรือไม่

คสช. พูดครั้งแรกว่าจะให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2558 แล้วก็เลื่อนมาเป็นปี 2559 แล้วเลื่อนเป็นปี 2560 ล่าสุดบอกว่าจะเลือกตั้งได้ประมาณพฤศจิกายน 2561 ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถเชื่อถืออะไร คสช. ได้อีกแล้ว เพราะเขาพูดแบบเดียวกันมาหลายครั้ง สุดท้ายก็อ้างเหตุบางอย่างตลอดเวลา ผมเลยไม่เชื่อ คสช. ยกเว้นจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ คสช. ออกไป ซึ่งมันยังไม่มี เนื่องจากภาคประชาชนไม่มีพลังทางการเมืองที่จะให้ คสช. ไป ส่วนชนชั้นนำก็มองว่าไม่มีใครจะมาแทนที่ คสช. ได้ เพราะเขากังวลว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง

สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ คสช. อยู่ต่อ ผมก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 หรือไม่ ส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะมี คิดว่าน่าจะเป็นปี 2562 หรือปี 2563 เพราะเขาพยายามจะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดที่จะทำได้ จึงต้องรอจนกว่าจะมีตัวแปรที่มีพลังทางการเมืองมากพอมางัดกับ คสช. แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็น

ผมเชื่อว่า คสช. สามารถอยู่ได้นาน ไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เขาทำได้แน่ๆ เพราะไม่มีพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งพอจะมาคัดง้าง ผมจึงมองไม่เห็นอนาคตประเทศนี้เลยจริงๆ ผมกังวลว่าจะเหมือนฟิลิปปินส์ช่วงที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นประธานาธิบดี ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจฟิลิปปินส์แย่มาก มาร์กอสจึงใช้จุดแข็งปกครองไปเรื่อยๆ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถูกมองว่าเป็นแบบอย่างของระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ แต่ก็สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง การลงทุนพังทลายเพราะมาร์กอส

ผมจึงห่วงว่าประเทศไทยที่มีสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆจะเจริญเติบโตไปได้อย่างไร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงกัมพูชา มีการพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นทางเลือกการลงทุนเบอร์ 1 ในภูมิภาคนี้อีกแล้ว ประเทศที่ได้รับความสนใจมากคือเวียดนาม คสช. ไม่มีความสามารถพอจะชนะประเทศเหล่านี้ได้ ประเทศไทยอาจไม่ถึงขนาดกินคนกันเองอย่างในสารคดี แต่มันจะซบเซาไปเรื่อยๆ

โอกาสที่ประชาชนจะเคลื่อนไหว

ผมก็ภาวนาว่าประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหว เพียงแต่เงื่อนไขมันไม่ง่าย เพราะเรามีปัจจัยเยอะมาก โดยเฉพาะความแตกแยกทางความคิดสูงมาก หลายครั้งเวลาเราดูในเฟซบุ๊คจะพบว่าประชาชนตอบโต้กันมากมายมหาศาล อาจมากกว่าทะเลาะกับกองทัพหรือ คสช. ด้วยซ้ำ มันเป็นบาดแผลที่ถูกสร้างขึ้นมาตลอดเวลา ยิ่ง คสช. อยู่ไปเรื่อยๆก็จะหากินกับความแตกแยกตรงนี้ต่อไป เมื่อประชาชนรวมกันไม่ได้ คนที่เข้ามามีอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกติกาอย่าง คสช. ก็จะสามารถดำรงอยู่ได้

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะผ่านวิกฤตตรงนี้ ประชาชนต้องรวมกันให้ได้ แต่ตรงนี้ผมก็ยังมองไม่เห็นเหมือนกัน ขบวนการของนักศึกษาก็ถูกทำลายไปมาก อาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะรวมพลังกันได้ ผมยังมั่นใจว่าขบวนการนักศึกษาจะกลับมามีพลัง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่านักศึกษาจะรวมกันได้แค่ไหน ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษามีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารพอสมควร

การเมืองในสภาพที่ขาด “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

ผมคิดว่ายังมี แต่ไม่มาเคลื่อนไหวในประเทศอยู่แล้ว ที่ผ่านมาคุณทักษิณมีบทบาทไม่ใช่น้อย กลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) จึงใช้คุณทักษิณมาโจมตีล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คุณทักษิณคงมีบทบาทในการเมืองไทยต่อไป คุณยิ่งลักษณ์จะเงียบไปหรือไม่ไม่รู้ แต่ คสช. คงจะใช้ประเด็นคุณทักษิณมาสร้างภาพให้คนกลัวต่อไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง เช่น ไม่มีพวกเขา ทักษิณมาแน่ ถ้าให้ คสช. ไปจะเกิดม็อบประท้วงอีก ซึ่งวันนี้คนกรุงเทพฯไม่ต้องการให้มีการชุมนุมทางการเมือง เพราะเขาค้าขายไม่ได้

ผมคิดว่าการเมืองไทยคงเป็นแบบเดิมๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คสช. จะยอมไปหรือไม่ เพราะเขามั่นใจในอำนาจมาก เขาสามารถคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้ ไม่ว่าเขาจะผิดพลาดซ้ำแค่ไหนเขาก็เชื่อว่าเขาสามารถจัดการได้ ผมคิดว่า คสช. จะอยู่ยาวอีกหลายปี เขาต้องจัดการตระกูลชินวัตรให้เรียบร้อยจริงๆเพื่อมั่นใจว่าจะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนอีก นอกจากนี้เขาต้องมั่นใจจริงๆว่าระบอบที่เขาสร้างขึ้นจะไม่ถูกทำลายหลังมีการเลือกตั้ง ต้องทำให้พรรคการเมืองที่เป็นนอมินีหรือมีอุดมการณ์แบบเดียวกันสามารถชนะเลือกตั้งได้

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขาวางไว้จะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่อิดออด ไม่ถูกดึงไว้ กลไกต่างๆที่ออกแบบก็เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถจัดการปัญหาต่างๆได้ ผมเชื่อว่าเขาต้องให้คนของเขาเป็นผู้บริหารประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติจึงอันตราย เพราะโลกมันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ผมไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร เพราะมันผูกพันและบังคับให้ต้องทำตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก แต่คนที่ทำยุทธศาสตร์นี้อีกไม่นานก็ต้องลาโลกนี้ไปแล้ว

ยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกกำหนดขึ้นวันนี้แน่ใจได้อย่างไรว่าสภาพการณ์ของสังคมจะไม่เปลี่ยนไป แม้จะมีการทบทวนยุทธศาสตร์ แต่จะเชื่อมั่นได้หรือไม่ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เรากลับทำยุทธศาสตร์บังคับให้ทำยาวนาน มันจะสอดคล้องในอนาคตหรือไม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่อันตรายที่สุด โดยเฉพาะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์นี้เลย เราไม่รู้ว่าเขาจะทำเพื่อประชาชนจริงๆหรือไม่ เมื่อประชาชนไม่ได้เลือกเขาเข้ามา เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบประชาชน หลายฝ่ายจึงออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่ผมว่ายังไม่พอ ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ไปเลย

บ้านเมืองจะถูกแช่แข็งเบ็ดเสร็จ

สามารถพูดอย่างนั้น เคยมีกลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ที่ออกมาเสนอเรื่องแช่แข็งประเทศ ซึ่งสภาพประเทศไทยขณะนี้ก็เป็นแบบนั้น การแช่แข็งประเทศยิ่งทำให้ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ที่รัฐบาล คสช. บอกว่าจะสร้างความปรองดอง ผมคิดว่าสร้างไม่ได้หรอก ถ้าจะสร้างได้ต้องคืนความยุติธรรมให้กับคนที่เขาสูญเสีย ไม่ใช่สูญเสียแค่1-2 ปีนี้ แต่สูญเสียมาเป็นสิบปีแล้ว

การสร้างความปรองดองที่ต้องเกิดขึ้นก่อนเลยคือ ต้องคืนความเป็นธรรม คุณไม่สามารถเรียกร้องให้คนถูกกระทำปรองดองกับคนที่กระทำเขาได้หากเขายังไม่ได้รับการเยียวยาเลย ซึ่ง คสช. ก็ไม่ได้เยียวยาแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วยซ้ำไป

ดังนั้น กระบวนการสร้างความปรองดองจึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หนำซ้ำปัญหายังซึมลึกในสังคมไทยต่อไป เห็นได้จากโซเชียลมีเดียต่างๆว่ามันลึกมาก โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันก็มี หลายครั้งก็มีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้น หลายครั้งที่ได้กลิ่นอายม็อบชนม็อบ การเมืองทะเลาะกันเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลาระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ไม่ใช่ทหารกับเสื้อแดง หรือทหารกับเสื้อเหลือง

ภาพการเมืองไทยในอนาคต

ถ้าโครงสร้างทางการเมืองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผมเชื่อว่าเราจะทะเลาะกันเรื่องการเมืองอีก เพราะกลไกรัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน กลไกรัฐธรรมนูญเอื้ออำนาจให้องค์กรอิสระและคนบางกลุ่มเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่ยึดโยงกับประชาชน เมื่อพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกไปขัดแข้งขัดขากลุ่มอำนาจเก่า องค์กรเหล่านี้ก็พร้อมจะกำจัด

ที่สำคัญรัฐบาลหลังการเลือกตั้งยังถูก คสช. ครอบงำ เพราะกลไกที่วางไว้ สุดท้ายก็กลับไปทะเลาะกันเหมือนเดิม เมื่อกลไกทางรัฐสภาหรือกลไกทางการเมืองในระบอบปรกติแก้ไขไม่ได้ก็จะมีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิต่างๆเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ผมจึงไม่เชื่อว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้าย ผมมั่นใจว่ายังจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต


You must be logged in to post a comment Login