วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

กองทัพกับการเมืองไทย / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On September 21, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

19 กันยายน 2560 ห่างจากปี 2549 ที่ “คมช.” ทำการรัฐประหาร 11 ปีพอดี ถ้าเราเป็นเด็กอายุ 10 ขวบวันที่มีการสั่งการให้ “กองทัพ” นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากประชาชน ปีนี้เราก็จะอายุครบเกณฑ์ทหารเพื่อเตรียมตัวรับใช้ “กองทัพ” ที่ยึดอำนาจจากประชาชนโดย “คสช.” พอดี

แม้หัวหน้ารัฐประหารจะเป็นคนละคนกันกับท่านผู้นำสูงสุดปัจจุบัน แต่ที่เหมือนกันคือทั้ง 2 คนมียศเป็น “พลเอก” และเคยเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” ในวันที่บัญชาการให้กองทัพออกมา “ปฏิวัติ” รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีนายกรัฐมนตรีนามสกุล “ชินวัตร” เหมือนกัน

บริบทก่อนการรัฐประหารและเหตุผลในการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งแทบจะไม่ได้แตกต่างกัน เริ่มจากการเดินขบวนของมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือมวลชนฝ่ายที่เกลียดชังเพื่อขับไล่รัฐบาล จนนำไปสู่ความวุ่นวายในเวลาต่อมาและเป็นเหตุผลสำคัญที่คณะรัฐประหารใช้เป็นข้ออ้างนำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ

เมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็ต้องชี้แจงเหตุผลเพื่อความชอบธรรมการฉีกรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญของสาเหตุในการรัฐประหารที่เราคุ้นเคยได้แก่ การทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ

การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งมีผลลัพธ์อย่างไร ประชาชนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยย่อมทราบดี ที่จริงแล้วอาจใช้คำว่า “ผลลัพธ์” ของการรัฐประหารทุกครั้งจะออกมาเป็นอย่างไรก็น่าจะได้ เพราะนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่นานาอารยประเทศทั่วโลกเลิกสนับสนุนและไม่ยอมรับการรัฐประหาร เนื่องจากการรัฐประหารไม่ใช่วิธีการที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาให้เจ้าของประเทศ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝ่ายเดียวกับกลุ่มที่ถืออาวุธเท่านั้น

แน่นอนว่าผู้ที่เลือกอยู่กับฝ่ายเผด็จการย่อมได้รับความดีความชอบ และฝ่ายประชาชนที่ถูกปล้นอำนาจย่อมสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของการบริหารอำนาจ เพราะอำนาจอยู่ที่ฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นย่อมใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนมากที่สุด เหตุผลนี้ถือเป็นตรรกะที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ผมไม่ปฏิเสธที่จะฟังเหตุผลของผู้ที่ “ชื่นชอบ” เผด็จการ และเข้าใจได้เมื่อท่านอธิบายให้ฟังว่า อำนาจของเผด็จการมีล้นฟ้าและสามารถทำอะไรได้บ้าง เพียงแต่ตรรกะที่ผมเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลยจริงๆ เพราะเผด็จการไม่เคยได้รับอำนาจที่แท้จริงมาจากประชาชนโดยตรง แต่ได้มาจากการปล้นอำนาจ ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีสักครั้งที่ฝ่ายเผด็จการจะยึดถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักและเสียสละทำงานให้ประชาชนอย่างแท้จริง

ผมต้องขอโทษบุคคลที่ผมนับถือ อดีตผู้บังคับบัญชา พี่ๆเพื่อนๆน้องๆและญาติผู้ใหญ่หลายท่านที่ชื่นชมยกย่องและมั่นใจว่าเผด็จการจะเป็นทางออกให้กับประเทศ เพราะไม่เชื่ออย่างที่ท่านเชื่อเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยืนยันว่ายังรักและเคารพทุกๆท่านเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกันและต้องเชื่ออะไรเหมือนกัน แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างปรกติสุข

ผมยอมรับว่า 11 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยก้าวพ้นยุคที่ทหารมีอิทธิพลและอำนาจอยู่เหนือการเมืองและพลังอำนาจแห่งชาติด้านอื่นๆ จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้แล้ว ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าแม้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งก็อาจเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เพราะรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งต่อจากนี้คงเป็นรัฐบาลที่ต้องอาศัยร่มเงาของทหารในการบริหารประเทศต่อไป

ผมอยากให้เรื่องที่คิดเป็นไปได้แค่การ “มโน” ของผม แต่ถ้าเราติดตามการทำงานของแม่น้ำ คสช. ทุกสายจะเห็นว่าทุกฝ่ายยืนยันตรงกันว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิรูป และแบ่งการปฏิรูปอย่างละเอียดถึง 11 ด้าน เช่น การปฏิรูปด้านการเมือง การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ การปฏิรูปด้านพลังงาน การปฏิรูปด้านสาธารณสุข ฯลฯ แต่เชื่อหรือไม่ว่ากลับไม่มีการพูดถึงการ “ปฏิรูปกองทัพ” เลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น เมื่อทหารเป็นผู้ออกมายึดอำนาจ แต่ยืนยันที่จะไม่มีการปฏิรูปกองทัพ แถมยังเอาทหารและเนติบริกรสายทหารมาเป็นผู้ออกกฎหมายอีก แล้วจะให้ผมเชื่อได้อย่างไรว่าเรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปเพื่อที่จะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับมา เพราะแน่นอนเหลือเกินว่าผลลัพธ์ของการแช่แข็งประเทศเพื่อสร้าง “กฎใหม่” ย่อมเป็นกฎที่ทหารสามารถสืบทอดอำนาจได้โดยไม่ต้องทำ “รัฐประหาร” อีกต่อไป

เมื่อผมอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากรั้วจามจุรีที่คร่ำหวอดในวงการนี้มานานที่สุดท่านหนึ่ง ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของผม อาจารย์สุรชาติเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพรักและเคยมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ท่านขณะที่ศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ

ผมได้ติดตามอ่านบทความของท่านที่เขียนลงวารสารต่างๆตั้งแต่เป็นนายทหารเด็กๆ โดยเฉพาะการวิเคราะห์บทบาทหน้าที่และพลังอำนาจด้านการทหาร ซึ่งต้องถือว่าท่านคือ “ตัวจริงเสียงจริง” ของประเทศไทยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสถาบันการศึกษาทางทหารเชิญไปบรรยาย น้อยครั้งที่ท่านจะปฏิเสธ ท่านจึงเป็นที่ยอมรับและมีลูกศิษย์ลูกหามากมายในทุกเหล่าทัพ

สื่อมวลชนได้ถามท่านว่า ทำไมรัฐประหาร 2557 ถึงอยู่ยาวกว่ารัฐประหาร 2549 ท่านตอบว่า รัฐประหาร 2557 เป็นผลสืบเนื่องรัฐประหารปี 2549 เพราะปีกอนุรักษนิยมที่เปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ล้มรัฐบาลเลือกตั้งปี 2549 เหมือนกับยังไม่สิ้นสุดในตัวเอง ซึ่งผมขอแปลต่อคือ เหมือนลงมือทำแล้วแต่ “ไม่สะเด็ดน้ำ” นั่นแหละ

สำหรับปี 2557 เป็นความพยายามที่จะทำแบบ “สุดซอย” และปรากฏผลชัดเจนด้วยการออกมาตรการต่างๆ ใช้สื่อกลไกต่างๆสร้างพลังทางสังคมให้เกิดการสนับสนุนรัฐบาลทหาร พยายามออกแบบสังคม การเมืองไทยในอนาคตผ่านรัฐธรรมนูญ หลังการเลือกตั้งจะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้ง 250 เสียง

ส.ว. 250 คนนี้จะกลายเป็นฐานเสียงหลักของพรรคทหารในอนาคต แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าคือการกำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตีกรอบอนาคตของไทย เท่ากับกำหนด “วาระรัฐบาลเลือกตั้ง 5 รัฐบาล” ดังนั้น การเลือกตั้งในอนาคตจะไม่มีสถานะรัฐบาลแท้จริง รัฐบาลอาจถูกบังคับให้ล้มโดยไม่ต้องรัฐประหารอีกต่อไป

นี่เป็นเพียงแค่บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ตอกย้ำความเชื่อของผมและใครอีกหลายๆคนว่า กองทัพไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำรัฐประหารอีกต่อไป เสียดายหน้ากระดาษหมดแล้ว แต่ผมยังอยากให้ท่านผู้อ่านลองติดตามบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ให้จบ ลองเสิร์ชในอากู๋ดู เจอแน่นอน

อ่านแล้วจะได้ประโยชน์จริงๆ เพราะให้สัมภาษณ์เป็นเชิงวิชาการ ไม่เชียร์ใคร ไม่ให้ร้ายใคร แต่วิเคราะห์ให้ฟังในมุมมองของท่าน เป็นอีกบทความที่เข้ากับบรรยากาศของการรัฐประหารเมื่อ 11 ปีที่แล้วเทียบกับบรรยากาศในตอนนี้ ที่สำคัญท่านให้ความเห็นเรื่อง “ปฏิรูปกองทัพ” เอาไว้ด้วย “ใครเป็นทหาร หรือเคยเป็นทหาร หรือจบจากโรงเรียนเตรียมทหารอย่างผมไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งครับ”


You must be logged in to post a comment Login