วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

‘แรงงานหุ่นยนต์’ในอนาคต

On September 20, 2017

ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลก ที่ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ ด้วยเห็นว่าทำงานได้เร็วและผลิตได้มากกว่ามนุษย์ อีกทั้งประหยัดต้นทุน เพราะหุ่นยนต์ไม่มีเงินเดือน ซื้อครั้งเดียวใช้งานได้ยาว

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ เผชิญปัญหาใหม่ในภาคการผลิต นั่นคือปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรต่ำ บวกกับจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์เพิ่มตามไปด้วย

สถิติการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตปี 2015 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมาคมหุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics : IFR) ระบุว่า เกาหลีใต้ใช้มากที่สุดในโลก โดยมีหุ่นยนต์ในภาคการผลิตเทียบกับจำนวนแรงงานมนุษย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ตัวต่อมนุษย์ 100 คน ตามด้วยญี่ปุ่น 3.1 เยอรมนี 2.9 และสหรัฐ 1.6

ขณะปีที่ผ่านมา รายงานของทำเนียบขาวสหรัฐที่เสนอต่อสภาคองเกรส ระบุว่า ญี่ปุ่นใช้แรงงานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากที่สุดในโลก เฉลี่ย 1,562 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ 10,000 คน ตามด้วยเยอรมนี เฉลี่ย 1,133 ตัว และสหรัฐ เฉลี่ย 1,091 ตัว

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมอื่นมากเป็นอันดับต้นๆของโลก เฉลี่ย 219 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ 10,000 คน ขณะเยอรมนี เฉลี่ย 147 ตัว และสหรัฐมีค่าเฉลี่ยเพียง 76 ตัว

สถิติดังกล่าว เป็นค่าเฉลี่ยเทียบกับแรงงานมนุษย์ที่ทำงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน หากเจาะจงเฉพาะจำนวนหุ่นยนต์ โดยไม่เทียบกับแรงงานมนุษย์ จีนใช้เพิ่มขึ้นเฉพาะปีที่แล้วมากที่สุดในโลกจำนวน 87,000 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27% ตามด้วยเกาหลีใต้ใช้เพิ่มขึ้น 38,000 ตัว และญี่ปุ่นใช้เพิ่มขึ้น 35,000 ตัว

IFR คาดว่ายอดการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตทั่วโลกปี 2019 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 2.6 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2015 เกือบ 2 เท่า

ความนิยมหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับความกังวลของแรงงานหลายประเทศ หวั่นตกงานจากการถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ขณะนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งก็ “จับยามสามตา” ว่า ในอนาคตอีกไม่ไกล ภาคการผลิตบางอุตสาหกรรมจะใช้หุ่นยนต์อย่างเดียว

แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง “ฟันธง” ว่า ยังอีกยาวไกลที่หุ่นยนต์จะสามารถทำงานส่วนใหญ่แทนมนุษย์ได้

ส่วนสถานการณ์ในญี่ปุ่น โคอิจิ อิวาโมโตะ ผู้เชี่ยวชาญแห่ง Research Institute of Economy, Trade and Industry มองว่า หุ่นยนต์ “แย่งงาน” มนุษย์เพียงบางส่วนเท่านั้น

ขณะงานหลายอย่าง มนุษย์ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ ทำให้สถานะหุ่นยนต์มีบทบาทเข้ามาเสริม มากกว่าจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์


You must be logged in to post a comment Login