วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ฮัจญ์’ห้องปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ / โดย บรรจง บินกาซัน

On September 4, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

ถ้าจะเปรียบกาลเวลาของจักรวาลเป็นเส้นด้ายที่ปลายทั้งสองไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจุบันกาลก็เป็นแค่ปมเล็กๆของเส้นด้ายที่เชื่อมต่ออดีตกับอนาคต มนุษย์อยู่กับอดีตมากกว่าปัจจุบัน และมนุษย์เท่านั้นที่มีความรู้เรื่องในอดีต ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆไม่มี

ดังนั้น มนุษย์จึงมีความผูกพันกับอดีตและมีพิธีกรรมบางอย่างเพื่อระลึกถึงอดีต นี่คือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์จึงมีการเรียนและการสอนประวัติศาสตร์กัน แม้ในทุกศาสนาก็มีพิธีกรรมที่ทำให้ศาสนิกย้อนรอยสู่อดีตเพื่อรับบทเรียนจากสิ่งที่ตัวเองยึดถือและผูกพัน นี่คือความเหมือนกันอย่างหนึ่งในความแตกต่างของศาสนา

ชาวพุทธเดินทางไปแสวงบุญที่พุทธคยาเพื่อระลึกถึงชีวประวัติของพระพุทธเจ้า แม้จะไม่ได้เห็นตัวพระพุทธองค์ แต่การได้เห็นโบราณสถานที่ชาวพุทธในสมัยพุทธกาลสร้างขึ้นก็ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความซาบซึ้งในความศรัทธาและการอุทิศตนของชาวพุทธในอดีต ความรู้สึกเช่นนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ความศรัทธาเพิ่มพูน และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในห้องเรียน

ชาวยิวเดินทางไปสวดมนต์ที่กำแพงร้องไห้ (Wailing Wall) ตรงด้านหนึ่งของมัสยิดอัลอักซอในเมืองเยรูซาเล็ม เพื่อระลึกนึกถึงว่าครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของพวกตนซึ่งเป็นศาสดาผู้ยิ่งใหญ่เคยอยู่และสร้างความเจริญไว้ที่นี่ ชาวยิวที่ไปแสวงบุญที่นั่นคร่ำครวญต่อการที่วิหารแห่งเมืองเยรูซาเล็มต้องถูกทำลายจนราพณาสูรถึง 2 ครั้ง และบางคนอยากเห็นวิหารนั้นถูกสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ชาวคริสเตียนเดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเยรูซาเล็มเหมือนกัน แต่ชาวคริสเตียนไปยังโบสถ์ที่สร้างขึ้นตรงบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และไปยังเมืองเบธเลเฮมเพื่อเยี่ยมสถานที่เกิดของพระเยซู บางคนอุทิศตนแบกไม้กางเขนจำลองเหตุการณ์เมื่อครั้งพระเยซูถูกนำตัวไปตรึงบนไม้กางเขน

สำหรับมุสลิมจุดหมายปลายทางหลักของการจาริกแสวงบุญคือก๊ะอฺบ๊ะฮฺที่เมืองมักก๊ะฮฺ ซึ่งเรียกว่าการทำฮัจญ์ จุดหมายสำคัญลำดับ 2 คือมัสยิดของนบีมุฮัมมัดที่เมืองมะดีนะฮฺ และลำดับ 3 คือมัสยิดอัลอักซอที่เมืองเยรูซาเล็ม

การเดินทางไปทำฮัจญ์ที่เมืองมักก๊ะฮฺถือเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมที่มีความสามารถทางด้านร่างกายและทรัพย์สินต้องไปทำครั้งหนึ่งในชีวิต สำหรับมัสยิดที่เมืองมะดีนะฮฺซึ่งร่างของนบีมุฮัมมัดถูกฝังอยู่ที่นั่นไม่เป็นข้อบังคับ แต่ไหนๆไปทั้งทีแล้วและตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมักก๊ะฮฺ ผู้ไปทำฮัจญ์จึงย่อมไม่พลาดที่จะไปเยือนเพื่อขอพรต่อพระเจ้าให้แก่ท่านที่นำอิสลามมายังมนุษยชาติ

ส่วนการไปเยือนมัสยิดอัลอักซอที่เมืองเยรูซาเล็มไม่เป็นข้อบังคับทางศาสนา แต่ส่งเสริมให้ไปเพื่อเป็นการยืนยันถึงความผูกพันของมุสลิมที่มีต่อสถานที่ที่มีความสำคัญแห่งนี้ตลอดไป

การไปทำฮัจญ์ที่เมืองมักก๊ะฮฺเป็นการเดินเข้าสู่ห้องปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ พิธีฮัจญ์เป็นการยืนยันให้มนุษยชาติได้รู้ว่านบีอิบรอฮีมหรืออับราฮัม บรรพบุรุษของชาวยิวและชาวคริสเตียน เคยมายังเมืองนี้ และสร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว

การเดินอย่างรีบเร่งระหว่างเนินเขาเศาะฟาและมัรฺวะฮ์ที่อยู่ไม่ห่างจากก๊ะอฺบ๊ะฮฺก็เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมแห่งความศรัทธาและความไว้วางใจในพระเจ้าของนางฮาการ์ภรรยาของนบีอิบรอฮีม เมื่อนางและลูกน้อยอิสมาอีลถูกนำมาทิ้งไว้ในหุบเขาบักก๊ะฮฺ

การขว้างเสาหินและการเชือดสัตว์พลีก็เพื่อเป็นการระลึกถึงการต่อสู้กับมารร้ายที่พยายามล่อลวงนบีอิบรอฮีมมิให้ทำตามคำบัญชาของพระเจ้าที่สั่งเขาให้เชือดอิสมาอีลลูกชายพลีถวายต่อพระองค์

พิธีกรรมทางศาสนามีส่วนสำคัญในการทำให้คนซาบซึ้งในคำสอนของศาสนา และทำให้ความศรัทธามั่นคงเข้มแข็งถ้าศาสนิกผู้ปฏิบัติทำด้วยความรู้และความเข้าใจ


You must be logged in to post a comment Login