วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ความงามที่เป็นภัย / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On September 4, 2017

คอลัมน์ : China Today

ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

จากคำพูดที่เป็นที่คุ้นเคยของชาวจีนที่ว่า “สาวงามเปรียบดั่งสายน้ำที่ก่อให้เกิดภัย” ซึ่งบันทึกขึ้นครั้งแรกจากหนังสือ “ชีวประวัติของจ้าวเฟยเยี่ยน” เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว

จ้าวเฟยเยี่ยน เป็นสนมเอกผู้เลอโฉมแห่งจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่น พระนางเป็นหญิงสาวที่เชี่ยวชาญทางด้านการร่ายรำและมีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น ถึงกับมีผู้กล่าวถึงพระนางว่า พระนางสามารถร่ายรำได้บนฝ่ามือของบุรุษหรือแม้แต่จานข้าวได้เลยทีเดียว และด้วยความงามแปลกตานี้เอง ที่ทำให้พระนางกลายมาเป็นสนมคนโปรดขององค์จักรพรรดิ

แต่ทว่าความสุขของพระนางกลับมิได้ยั่งยืนเพราะเพียงจักรพรรดิสวรรคต พระนางก็ต้องถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายสำหรับข้อหาที่ว่า พระนางเป็นต้นเหตุที่ทำให้จักรพรรดิลุ่มหลง จนลืมราชกิจงานเมืองและทำให้แผ่นดินล่มจม

จากความเชื่อเกี่ยวกับธาตุทั้งห้าของจีนกล่าวไว้ว่า ความรุ่งเรืองของประเทศเปรียบได้กับไฟและอิสตรีก็คือน้ำที่จะมาดับความลุกโชนรุ่งเรืองของประเทศ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงมีคำเปรียบเกี่ยวกับผู้หญิงที่ทำให้ผู้ชายลุ่มหลงจนลืมหน้าที่การงานของตนว่าสายน้ำแห่งหายนะ

ปัจจุบัน พวกเราสามารถหาตำนานหรือเรื่องราวของสิบหญิงผู้นำภัยพิบัติมาสู่แผ่นดินจีนได้ตามอินเทอร์เน็ตทั่วไป และสตรีส่วนใหญ่ก็ได้รับการจัดให้มีความงามสุดยอดหนึ่งในสิบเช่นเดียวกัน ซึ่งความงามดังกล่าวก็ได้สร้างความลุ่มหลงให้แก่บรรดาจักรพรรดิต่างๆ อันนำมาซึ่งหายนะในภายหลัง ชาวจีนจึงนิยมพูดกันว่า ความงามนำมาซึ่งความโชคร้าย

หนึ่งในหญิงสาวผู้นำหายนะมาสู่แผ่นดินจีนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ หยางอวี่หวน หรือ หยางกุ้ยเฟย สนมผู้เลอโฉมแห่งจักรพรรดิราชวงศ์ถัง เรื่องราวของเธอได้มีการนำมาเผยแพร่และทำเป็นภาพยนตร์กันเป็นจำนวนมาก

พระสนมหยางกุ้ยเฟย ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสี่ยอดหญิงงามแห่งแผ่นดิน อันได้แก่ เตียวเสี้ยน หวางเจาจวิน และไซซี แต่ด้วยความงามของพระนางนี่เอง ที่ก่อให้เกิดบทกวีที่ว่า ค่ำคืนอันแสนวิเศษนั้นสั้นนัก แต่จักรพรรดิก็ไม่สามารถออกว่าราชการในตอนเช้าทัน” เพราะความลุ่มหลงของจักรพรรดิ ทำให้ญาติและพวกพ้องของหยางกุ้ยเฟย สามารถเข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ก่อให้เกิดความไม่พอใจบรรดาขุนนางอื่นๆอย่างมาก สุดท้ายจึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในราชสำนัก จักรพรรดิถูกบังคับให้มีคำสั่งประหารพระสนมหยางกุ้ยเฟยด้วยการให้ผูกคอตายและส่งผลให้แผ่นดินถังอันแสนรุ่งเรืองต้องล่มสลาย

ในสมัยโบราณชาวจีนเชื่อกันว่า หญิงสาวที่นำหายนะมาสู่บุรุษนั้น แท้จริงแล้วคือปิศาจจิ้งจอกที่ปลอมตัวมา เพราะจิ้งจอกสามารถกลายร่างเป็นคนได้และจะพยายามหลอกล่อให้ผู้ชายตกไปอยู่ที่อำนาจใฝ่ต่ำ ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงเข้ามามีอิทธิพลเหนือการเมือง เมื่อนั้น ชาวจีนก็จะประณามหญิงผู้นั้นว่า เป็นปิศาจจิ้งจอก เช่นเดียวกับกรณีของจักรพรรดินีบูเช็กเทียน

ปัจจุบัน แม้ชาวจีนจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ชายกับผู้หญิงนั้นเท่าเทียมและเสมอภาคกัน แต่ความจริงแล้วเรายังสามารถพบกับความเชื่อเรื่อง สายน้ำแห่งหายนะ ได้ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งผู้หญิงมากมายได้รับการกล่าวโทษว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโกงกินและการคอร์รัปชันของผู้ชายอยู่เช่นเดิม

อย่างเช่น กรณีของอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการถาวรแห่งสภาประชาชนแห่งชาติ เฉิน เคอเจี๋ย  ที่ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี ค.ศ.2000 โทษฐานคอร์รัปชัน และในรายงานความผิด ปรากฏชื่อของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ หลี่ ผิง ซึ่งเฉินให้การรับสารภาพว่า ที่ทำผิดทั้งหมดนั้น เกิดจากความต้องการที่จะเอาใจหลี่ ผิง เท่านั้นเอง

ในปีค.ศ. 2003 ที่มณฑลเสฉวน ได้มีกฎออกมาว่า ห้ามมิให้ผู้บริหารมณฑลมีเลขานุการเป็นผู้หญิง

เมื่อความงามของผู้หญิงถูกมองเป็นหายนะแล้ว ผู้หญิงจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้ายและน่ากลัวในสังคมชาวจีน แต่ที่น่าแปลกก็คือ ชาวจีนให้ความเคารพและกตัญญูต่อมารดาผู้ให้กำเนิด รวมไปถึงการยกย่องให้แผ่นดินเกิดเป็นแผ่นดินมาตุภูมิ เหตุใดผู้หญิงกลับถูกมองเป็นสิ่งชั่วร้ายและบาปด้วยเล่า?


You must be logged in to post a comment Login