วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ดูแล‘หู’ / โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน

On August 21, 2017

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน :  รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน

หูใครว่าไม่สำคัญ นอกจากเป็นอวัยวะที่ใช้ในการได้ยินแล้วยังช่วยในการทรงตัวด้วย

โรคของหูมีหลายชนิดตั้งแต่โรคของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อมีความผิดปรกติของหูเกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้คือ หูอื้อหรือหูตึง มีเสียงดังในหู มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ปวดหู  มีน้ำหรือหนองไหลออกจากรูหู คันหู หน้าเบี้ยวหรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต

การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู

1.ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบ น้ำที่เข้าไปในช่องหูชั้นนอกอาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญต้องใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้การอักเสบของหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุแก้วหูทะลุสามารถป้องกันน้ำเข้าหูได้โดยเอาสำลีชุบวาสลีนอุดหู หรือใช้หมวกพลาสติกคลุมผม หรือใช้วัสดุอุดรูหู

เวลาอาบน้ำเมื่อน้ำเข้าหูควรเอียงศีรษะเอาหูข้างนั้นลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออกและเฉียงไปทางด้านหลัง (ปรกติช่องหูจะโค้งเป็นรูปตัว “S”) ซึ่งจะทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรงที่น้ำจะไหลออกมาได้ง่าย ส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหูจะหายไปทันที ไม่ควรปั่นหรือแคะหู

2.เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงจมูก เช่น หวัด โพรงหลังจมูก โพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) มีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรรีบรักษาให้บรรเทาหรือหายโดยเร็ว เนื่องจากมีทางติดต่อระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน ถ้าเป็นโรคดังกล่าวเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังในหูชั้นกลาง ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปรกติ หรือแม้แต่ทำให้ประสาทหูอักเสบ เกิดภาวะประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้

3.ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหูและบริเวณใกล้เคียง เช่น การถูกตบหู อาจทำให้เยื่อบุแก้วหูทะลุและฉีกขาด การที่ศีรษะกระแทกกับพื้นหรือของแข็งอาจทำให้กระดูกรอบหูแตก ทำให้ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด มีเลือดออกในหูชั้นกลางหรือชั้นใน มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาทางช่องหู กระดูกหูเคลื่อน ทำให้การนำเสียงผิดปรกติไป

4.โรคบางชนิด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม เกิดหูหนวกหรือหูตึงได้ ควรใส่ใจในการดูแลรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ให้ดี เช่น โรคหวัด โรคหัด คางทูม เบาหวาน โรคไต โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคโลหิตจาง โรคเลือด และควรระวังปัจจัยบางชนิดที่อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปรกติ เช่น เครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ (สารนิโคติน) รับประทานอาหารเค็ม เครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม (สารกาเฟอีน) พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงประสาทหู

5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานานๆ (เสียงในสถานเริงรมย์ โรงงานอุตสาหกรรม) เสียงดังมากๆในระยะเวลาสั้นๆ (เสียงปืน เสียงประทัด) เพราะจะทำให้ประสาทหูค่อยๆเสื่อมลงทีละน้อย หรือเสื่อมแบบเฉียบพลัน ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น ที่อุดหู (ear plug) หรือที่ครอบหู (ear muff)

6.ก่อนใช้ยาทุกชนิดไม่ว่าฉีด รับประทาน หรือหยอดหู ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพ (aminoglycoside) ยาแก้ปวด (aspirin) หรือยาขับปัสสาวะ บางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหูและประสาทการทรงตัว อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมหรือเสียการทรงตัวได้ ผู้ป่วยอาจแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้

7.ขี้หู เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหู ไม่จำเป็นต้องแคะหู ถ้ามีขี้หูอุดตันมากจนทำให้หูอื้อควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก

8.เมื่อมีอาการผิดปรกติทางหู เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ปวดหู มีน้ำหรือหนองไหลออกจากรูหู คันหู หน้าเบี้ยวหรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต ควรรีบปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก


You must be logged in to post a comment Login