วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

กฎหมาย-นิติลัด-นิติทำ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On July 24, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ประเด็นร้อนการเมืองสัปดาห์นี้จับตาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดค่ายทหารจัดตั้ง “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” แต่กลับถูกมองว่าสะท้อนความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ย้ำว่าการปราบคอร์รัปชันเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล แต่การทุจริตคอร์รัปชันก็ยังเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง จึงต้องตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในค่ายทหาร เท่ากับชี้ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องเสียเอง ที่สำคัญหลายกรณียังเป็นคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจทั้งในรัฐบาลและกองทัพ แต่เกือบทุกเรื่องกลับเงียบหายไป หรือผลการตรวจสอบไม่ผิด หรือไม่ผิดปรกติแบบมีข้อกังขา แม้แต่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หลายหมื่นล้านของกองทัพก็มีคำถามว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงการจัดซื้อจัดหาหรือไม่?

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคดีโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่ามีการทุจริตในระดับนโยบาย อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แถลงต่อรัฐสภาเพื่อทำตามที่ประกาศหาเสียงไว้ แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับมีมติเอกฉันท์ว่ามีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123/1 โดยไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอนจนทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย

21 ก.ค. นัดสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ตามสำนวนคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดวันที่ 19 มีนาคม 2558 โดยมีการไต่สวนพยานโจทก์ปากแรกเดือนมกราคม 2559 จนครบ 15 ปาก ต่อด้วยพยานจำเลยที่วางไว้ 44 ปาก ซึ่งวันที่ 21 กรกฎาคม ถือเป็นวันไต่สวนนัดสุดท้าย นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า หากไม่มีพยานมาไต่สวนเพิ่มอีก ศาลจะกำหนดนัดคู่ความใช้สิทธิแถลงปิดคดี อาจแถลงด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หากเป็นลายลักษณ์อักษรจะให้ยื่นเอกสารภายใน 7 วัน แล้วนัดฟังคำพิพากษา เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาให้มีคำพิพากษาใน 7 วัน แต่ถ้ามีเหตุสมควรหรือจำเป็นศาลอาจนัดฟังคำพิพากษาได้อีกภายใน 14 วัน รวมจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

ตามปฏิทินการพิจารณาคดี ศาลฎีกาฯอาจมีคำพิพากษาในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององค์คณะและการดำเนินการไต่สวนพยานเพิ่มเติมหรือยื่นเอกสารของคู่ความ ขณะที่คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 28 ราย ศาลฎีกาฯให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 สิงหาคม ทั้ง 2 คดีจึงจะมีการพิพากษาไล่เลี่ยกันหากไม่มีการไต่สวนอะไรเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทีมทนายความของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2558 เป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติว่าการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาคดี และให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา มีบทบัญญัติใหม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 235 ระบุตอนท้ายว่า…การพิจารณาของศาลฎีกาฯให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

ดังนั้น จึงยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการพิจารณาตามกระบวนการเดิมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลเพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เนื่องจากการต่อสู้คดีของจำเลยที่ผ่านมาอัยการฝ่ายโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาใหม่โดยไม่มีการไต่สวนไว้ในรายงานและสำนวนของ ป.ป.ช. เอกสารบางเรื่องเป็นเอกสารใหม่ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น และไม่ได้อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น ซึ่งจำเลยได้ร้องคัดค้าน เพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี

มีรายงานข่าวว่า องค์คณะผู้พิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวของศาลฎีกาฯนัดชี้ขาดว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย การต่อสู้ของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จึงยังไม่ใช่นัดสุดท้าย แม้องค์คณะผู้พิพากษาจะไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็มีสิทธิจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้

สิทธิตามหลักความยุติธรรม

นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กล่าวถึงกรณีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า จากการศึกษามาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดว่าการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก และให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรค 6 กำหนดว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจมีการไต่สวนหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ หลักของมาตรา 235 เป็นหลักใหม่ ไม่ใช่การใช้ดุลยพินิจเหมือนเดิมแล้ว แต่เป็นหลักความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนเพิ่มเติมได้ โดยต้องคำนึงไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

“ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้ใช้ดุลยพินิจของศาลในการพิจารณาว่าสมควรมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่จึงขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 235 วรรค 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งในแง่เจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษร

นายพนัสยังกล่าวว่า นอกจากนี้คดีโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมามีการรวบรัดสำนวนยังไม่สมบูรณ์ แล้วยังมีการเอาหลักฐานมาเพิ่มไม่น้อย อย่างรายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐบาลชุดที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีเอกสารหลายพันแผ่น ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่ได้กำหนดให้ทำ และยังเอาคดีอื่นๆเข้าไปอีก ซึ่งผิดหลักตามที่กฎหมายกำหนดที่ให้ยึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาคดี ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียเปรียบ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอสืบพยานเพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบแน่นอน จึงถือเป็นสิทธิของคู่ความที่จะร้องให้ศาลฎีกาฯส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมาตรา 212 ที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับคดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้ง พร้อมให้เหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย โดยระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ถือเป็นการประวิงเวลา แต่เป็นสิทธิในการต่อสู้คดีในประเด็นที่คิดว่าต่อสู้ได้ หากศาลฎีกาฯไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้

ไม่มีใบสั่ง? แต่หลักการเดียวกัน

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนขึ้นไปอีกคือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นกฎหมายที่จะส่งผลสะเทือนทางการเมืองและต่อนักการเมืองอย่างมาก เพราะสาระสำคัญให้สามารถส่งฟ้องคดีของนักการเมืองต่อศาลโดยไม่ต้องนำจำเลยไปแสดงตัวได้ หลังศาลรับฟ้องภายใน 3 เดือน หากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาขึ้นศาล ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ และคดีจะไม่มีการนับอายุความ หากศาลตัดสินจำคุกแต่ผู้ต้องหาหลบหนีก็จะไม่นับอายุความ คือหนีจนหมดอายุความจะไม่มีอีกแล้ว

ทำให้ถูกมองว่าเป็นใบสั่งหรือกฎหมายการเมืองหรือไม่ เพราะเกือบทุกฝ่ายจับจ้องไปที่คดีของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่มีคดีค้างการพิจารณาอีกหลายคดี รวมถึงเป็นการเตือนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่คดีโครงการรับจำนำข้าวใกล้จะมีการตัดสิน หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่ากฎหมายนี้เป็นไปตาม ใบสั่ง เพื่อปิดบัญชีล้างตระกูล ชินวัตร ให้สะเด็ดน้ำหรือไม่ ซึ่งนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ยอมรับว่ากฎหมายใหม่นี้จะส่งผลโดยตรงต่อ 2 พี่น้องตระกูลชินวัตรที่มีคดีอยู่ขณะนี้

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า บทบัญญัติของกฎหมายใหม่ไม่ได้คำนึงถึงการดำเนินคดีเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ใช่บังคับเฉพาะนักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ยังใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย

แต่คำตอบที่น่าสนใจกลับเป็นของ โฆษกไก่อูพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายใหม่ที่ให้มีการพิจารณาคดีลับหลังที่ฝ่ายการเมืองมองว่ามีใบสั่งและเป็นการไล่ล่านักการเมืองว่า ต้นทางของกฎหมายมาจากรัฐสภา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลและ คสช. คิดอยู่เสมอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ การทำให้บ้านเมืองเดินไปได้ด้วยความมีประสิทธิภาพนั้นต้องทำให้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง และมีวิธีการทำให้คนไม่ดีไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ปกครองบ้านเมืองได้ ซึ่งหลักการมีแค่นี้ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรเป็นแนวคิดของคนเหล่านั้น แต่ประชาชนจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะกฎหมายในปัจจุบันต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน

อย่าหนีสิ ถ้าไม่หนีทุกอย่างก็เข้าสู่กระบวนการ แล้วกฎหมายก็ไม่ได้เลือกบังคับใช้แก่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่บังคับใช้กับทุกคน ใครเป็นนักการเมืองก็ต้องใช้ ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมาย สภาท่านเป็นคิด แต่โดยหลักการแล้วรัฐบาลและ คสช. เห็นว่าการมีกฎหมายเป็นเสมือนตะแกรงร่อนให้คนดีสามารถปกครองบ้านเมือง ไม่ให้คนไม่ดีที่มีประวัติโกงกินมาปกครองบ้านเมืองได้ ดังนั้น ใครมีคดีความแบบนี้ไม่ว่าไปหลบอยู่ที่ไหนก็ต้องถูกดำเนินคดี ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่หรือ พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ระวัง ดาบนี้คืนสนอง

ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเห็นว่าภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่า “ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด…” ข้อ 10 กำหนดว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผย…” รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด…” ซึ่งประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติรับรองและผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงคำประกาศของผู้นำประเทศคนปัจจุบัน และแม้แต่เนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมก็ยังระบุไว้เช่นเดียวกัน

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอถามผู้ที่คิดและทำกฎหมายฉบับนี้ว่า มีนานาอารยประเทศใดบ้างที่เขียนกฎหมายให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้และไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดี ไม่เฉพาะคดีอาญาที่ทำกับนักการเมือง แต่คดีของประชาชนหรือบุคคลอื่นก็ไม่พิจารณาลับหลังและให้มีโทษย้อนหลังร้ายแรงในทางอาญา เพราะถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรมทั่วไป ซึ่งตนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมา 30-40 ปี ไม่เคยเห็นการเขียนกฎหมายที่ปิดโอกาสการต่อสู้คดีของจำเลย ที่ผ่านมาใครจะมีอคติกับใครนั้นไม่ทราบ สิ่งที่พูดไม่ใช่ใครมาสั่งให้พูดตามที่มีคนออกมาวิจารณ์ แต่พูดเพราะเห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม หากคนทำกฎหมายเขียนกติกาโดยไม่มีจิตสำนึกก็ไม่มีประโยชน์ ขอเตือนถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันซึ่งมีสถานะเป็นนักการเมืองเช่นเดียวกันว่าให้ระวังดาบนี้จะคืนสนอง

หลังคำพิพากษายังไร้เสถียรภาพ

ขณะที่เว็บไซต์ด้านกิจการประเทศอาเซียน ASEAN Today เผยแพร่บทวิเคราะห์โดย John Pennington ถึงแนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทยภายหลังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า ไม่ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดหรือพิพากษาให้พ้นผิด ประเทศไทยก็ยังคงไร้เสถียรภาพต่อไป หากศาลตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดก็อาจเกิดการลุกฮือต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ถ้ายกฟ้องหรือลงโทษสถานเบา รัฐบาลทหารก็อาจปกครองต่อไปอย่างยากลำบาก

นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในบทความดังกล่าวว่า เพราะคดีนี้เป็นเรื่องควบคู่กับการรัฐประหารที่ต้องการล้มล้างระบอบทักษิณให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงการกำจัด น.ส.ยิ่งลักษณ์และปิดฉากยุคทักษิณ นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกตัดสินว่ามีความผิด จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง เรียกเงินชดใช้ 35,000 ล้านบาท และอาจถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ประชาชนอาจต่อต้านหากคิดว่าเธอได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ในทางตรงกันข้ามหากศาลตัดสินให้พ้นผิดก็ถือเป็นการตบหน้าคณะรัฐประหาร และทำให้มวลชนผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ฮึกเหิมจนสั่นคลอนอำนาจของทหารได้ เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยจะยิ่งดังขึ้น

ขัดหลักสากล ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดข้อตกลงระหว่างประเทศ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul การพิจารณาคดีลับหลังว่า มีเฉพาะในฝรั่งเศสกับอิตาลี ใช้กับทุกคดีอาญา ไม่เฉพาะนักการเมือง แต่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปทักท้วงว่าขัดหลักความยุติธรรม แม้จะไม่มีตัวจำเลยแต่ก็ต้องให้ส่งทนายมา อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสกำลังจะเลิกกฎหมายนี้

นายปิยบุตรยังตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 67 ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่แก้ไขใหม่ให้นำไปใช้กับคดีที่ฟ้องก่อนหน้ากฎหมายใหม่นี้ด้วย ถือเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายหรือไม่? ตามหลักแล้วการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นผลร้ายไม่สามารถทำได้ ขัดหลักสากล ขัดข้อตกลงระหว่างประเทศ ขัดรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ “กฎหมายอาญา” มีขอบเขตอย่างไรบ้าง คำตอบคือ “กฎหมายอาญา” ที่ห้ามใช้ย้อนหลังเป็นผลร้าย หมายถึงกฎหมายอาญาส่วนสารบัญญัติเท่านั้น ได้แก่ การกำหนดฐานความผิด การกำหนดองค์ประกอบความผิด การกำหนดโทษ ส่วนกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่อยู่ในความหมายนี้ ดังนั้น จึงใช้ย้อนหลังได้ กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ เช่น เขตอำนาจศาล การจัดองค์กรศาล เงื่อนไขการฟ้องคดี อายุความ พยานหลักฐาน เป็นต้น

นายปิยบุตรเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นมาหลายๆคดีปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งหมดนี้เกิดจากวิธีคิดแบบตั้งธงไว้ว่า ต้องมีระบบพิเศษเพื่อลงโทษนักการเมืองที่ทุจริต อันเป็นผลพวงของปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่เปิดสวิตช์ตั้งแต่ 25 เมษายน 2549 จนวันนี้ยังหาผู้ใดมาปิดสวิตช์ไม่ได้

หลักกฎหมาย-หลักนิติลัด-หลักนิติทำ

ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังว่าเจาะจงพุ่งเป้าไปที่คดีเก่าของอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ทันทีหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยสามารถไต่สวนลับหลังและไม่มีอายุความใช่หรือไม่?

เช่นเดียวกับคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ซึ่งมาตรา 67 เดิม กำหนดให้คดีอาญาของนักการเมืองให้ดำเนินการไปตามกฎหมายฉบับเก่า แต่ให้สิทธิอุทธรณ์ ตามร่างกฎหมายฉบับใหม่เมื่อมีการแก้ไขมาตรา 67 ใหม่ คดีอาญาของนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ต้องดำเนินการตามร่างกฎหมายฉบับที่แก้ไขใหม่

วันที่ 21 กรกฎาคม อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องลุ้นว่าองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

โค้งสุดท้ายของคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จึงหนักหนาสาหัสกว่าพี่ชายยิ่งนัก เพราะต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในเฮือกสุดท้ายกับฝ่ายที่ถือทั้งกฎหมาย (ที่เขียนขึ้นมาใหม่เพื่อเอาผิดย้อนหลังก็ได้) และมีอำนาจพิเศษจากการรัฐประหาร (ที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กับสิ่งที่ทำไป)

ผลการพิจารณาจึงมีความเป็นไปได้ทุกด้านคือ 1.ศาลฎีกาฯสั่งไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าการไต่สวนดำเนินการต่อในนัดสุดท้ายและนัดวันฟังคำพิพากษา หรือ 2.ศาลฎีกาฯส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การตัดสินของศาลฎีกาฯก็ต้องชะลอไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสร็จ หรือ 3.ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาและตัดสินว่าไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัย คำร้องก็จะตกไป ซึ่งศาลฎีกาฯก็จะนัดฟังคำพิพากษา หรือ 4.เกิดอะไรขึ้นก็ได้ในแบบที่ไม่มีใครอาจคาดการณ์ได้

อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จึงต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ขณะนี้ต่อสู้ยืนหยัดและยืนยันในความถูกต้องอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะได้กำลังใจจากประชาชนที่รักและศรัทธากว่าสิบล้านคนที่เคยลงคะแนนให้ หรือแม้แต่เสียงจากแฟนเพจ 6 ล้านคน ท่ามกลางนักวิชาการ นักกฎหมาย และนานาชาติ ที่ตั้งคำถามและข้อสังเกตมากมายถึงกระบวนการยุติธรรมต่อคดีต่างๆว่า อยู่บนหลักการ นิติรัฐ-นิติธรรม จริงหรือไม่?

เมื่อการไล่บี้เพื่อเก็บทรัพย์ตระกูลชินวัตรย้อนหลังยังต้องใช้ อภินิหารทางกฎหมายหรือการมีคำสั่งทางปกครองจัดการยึดทรัพย์อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอศาลตัดสินคดีว่าถูกหรือผิดยังทำได้ หวยจึงออกได้แทบทุกเบอร์

เมื่อ “กฎหมาย” ยังต้องใส่วงเล็บ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ก็กลายสภาพเป็น นิติลัด-นิติทำ

อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วย อภินิหารทางกฎหมายภายใต้ระบอบพิสดาร ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 99.99%

เพราะที่นี่คือ.. ประเทศไทย (ถ้ารับไม่ได้.. ก็จงออกไปจากแผ่นดินนี้)!!??


You must be logged in to post a comment Login