วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

หมดทางแก้ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On July 3, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวต่างๆตามมามากมาย

ทั้งการแสดงความวิตกกังวลต่อตัวกฎหมายที่อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศและสถานการณ์โลก เนื่องจากจะมีผลบังคับใช้ไปถึง 20 ปี ผูกมัดให้รัฐบาลในอนาคตต้องทำตาม

ทั้งเกิดคำถามว่าหากยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้สร้างความเสียหายต่อประเทศในอนาคต ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับ โดยยกประเด็นต่อสู้ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ความน่าสนใจในเรื่องนี้คือ การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเฉพาะฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทหาร คสช. เท่านั้น

แต่ยังมีความเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกมองว่าเป็นกองเชียร์ของรัฐบาลทหาร คสช. ด้วย

นี่อาจเป็นครั้งแรกๆในรอบหลายปีมานี้ที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

หากจะถามว่าอะไรทำให้เกิดความเห็นสอดคล้องกัน

คำตอบที่น่าจะเป็นที่สุดคือความวิตกกังวลต่อการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่จะถูกกำหนดขึ้นมา เพราะหลังการเลือกตั้งไม่ว่าครั้งที่จะเกิดขึ้นหรือครั้งต่อๆไป พรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมากที่สุดมีเพียง 2 พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เท่านั้น

หากจะถามว่าทำไมต้องวิตกกังวล

คำตอบที่ได้มีทั้งความกังวลว่าหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้จะต้องติกคุกติดตะรางหรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองในอนาคต

อีกทั้งกังวลว่าหากยุทธศาสตร์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก สถานการณ์ของประเทศในอนาคต ถ้ายังฝืนเดินตามกรอบที่วางไว้จะส่งผลเสียหายต่อความนิยมของพรรค

จึงไม่แปลกที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเคลื่อนไหวของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าจะส่อไปในทางเสียเปล่า

เมื่อพิจารณาจากผู้ออกกฎหมายคือ สนช. ที่ยืนยันว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีอะไรขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเดินตามขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้อง

เมื่อพิจารณาจากผู้ที่ส่งร่างกฎหมายให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบคือคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ที่สำคัญหัวหน้าคณะรัฐมนตรียังมีอำนาจพิเศษที่จะใช้พลิกหรือแก้สถานการณ์ได้หากเกิดปัญหา

เมื่อพิจารณาจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เพียงเท่านี้ก็พอมองเห็นได้ว่าความพยายามที่จะต่อสู้ทางข้อกฎหมายเพื่อล้มกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีแนวโน้มที่จะสูญเปล่า

เมื่อความพยายามที่จะล้มร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯก่อนประกาศใช้มีแนวโน้มที่จะสูญเปล่า สิ่งที่จะทำได้ในตอนนี้คือ การเฝ้าดูกระบวนการที่จะทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าจะเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายคือ เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคลอดออกมาแล้วจะมีหน้าตาอย่างไร ฝากความหวังในฐานะที่จะมาเป็นลายแทงพาประเทศชาติเดินหน้าไปสู่ความเจริญก้าวหน้า มั่นคง มั่งคั่งได้จริงหรือไม่

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักสำคัญ 4 ด้านที่เป็นตัวฉุดรั้งให้ประเทศไม่พัฒนา อันประกอบด้วย 1.การคอร์รัปชันแบบ 3 ประสานระหว่างนักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ-พ่อค้านักธุรกิจ 2.การเลือกตั้งทุจริตทั้งระดับชาติและท้องถิ่น 3.การบังคับใช้กฎหมายไม่มีมาตรฐาน และ4.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พูดไว้ได้จริงหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ไม่ต้องการให้การรัฐประหารครั้งนี้เสียของ ไม่ว่าจะอย่างไรร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้วก็ต้องมีผลบังคับใช้เพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้จงได้

ทั้งนี้เพราะผลจากการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ยังจะทำให้เกิดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีอำนาจหน้าที่คุมการทำงานของรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปีด้วย

ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยที่จะทำให้ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศไม่มีผลบังคับใช้

เมื่อไม่มีโอกาสที่จะขวางไม่ให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกมาบังคับใช้ ก็ต้องทำใจยอมรับสภาพ ก้มหน้าก้มตาเดินตามทางที่ถูกขีดเอาไว้ ไม่มีหนทางต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากทุกประตูถูกล็อกกุญแจปิดตายไปหมดแล้ว

แม้หลังการเลือกตั้งจะมีสภาผู้แทนราษฎรที่มีอำนาจออกและแก้ไขกฎหมายได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีวุฒิสภาที่ คสช. จะแต่งตั้งคนของตัวเอง 250 คน คอยเป็นหูเป็นตาอยู่

ที่สำคัญหากคิดจะใช้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศหลังการเลือกตั้งยังมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะกระทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศบังคับไว้ในกฎหมายสูงสุดอย่างชัดเจน

ครั้นจะคิดแก้รัฐธรรมนูญยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำได้

ทางเดียวที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้คือ ต้องไปรอลุ้นในอนาคตข้างหน้า

ถ้ายุทธศาสตร์สวนทางกับความเป็นจริงในบ้านเมือง เสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อนั้นจึงจะเกิดความชอบธรรมให้แก้ไข


You must be logged in to post a comment Login