วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

เดี๋ยวก็ถึง‘บางอ้อ’ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On June 12, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ข่าวการโละคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีกระแสมานาน เป็นความจริงแล้วเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องโละ กกต. ทั้งหมดเพื่อทำการสรรหาใหม่

เหตุผลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ใช้เป็นข้ออ้างคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจ กกต. ไว้สูงมาก สามารถใช้อำนาจสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดการทำธุรกรรมของพรรคการเมืองได้

เมื่อมีอำนาจมาก คุณสมบัติของ กกต. ก็จะต้องสูงตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องสรรหาใหม่ทั้งหมด

แม้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ยืนยันว่าเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ และไม่มีใครเดือดร้อน ที่สำคัญคือไม่กระทบต่อการเตรียมจัดเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกราว 1 ปีข้างหน้า

แต่ก็มีคำถามให้ชวนคิดว่า ทำไมต้องโละ กกต.ชุดปัจจุบันทั้งที่รอดจากการถูกยุบมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 นั่งกินเงินเดือนมา 3 ปีเต็มๆ โดยที่ไม่ได้จัดการเลือกตั้ง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.คนดังที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเป็นเพียง 1 ใน 2 กกต. ที่จะถูกโละออกจากตำแหน่ง ตั้งคำถาม 4 ข้อประกอบด้วย

1.การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังในเชิงที่เป็นโทษเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ การเขียนกฎหมายลักษณะนี้เคยมีในอดีตหรือไม่ และจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับสังคมนิติรัฐหรือไม่

2.การกล่าวอ้างว่าตำแหน่งที่รับผิดชอบสูงจำเป็นต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติสูงจึงต้องให้ออกทั้งคณะ ถามว่าเมื่อคนเดิม 4 ใน 5 คน มีคุณสมบัติครบถ้วนและผ่านการสรรหาอย่างถูกต้อง เหตุใดจึงต้องให้ออกด้วย

3.การอ้างว่าต้องรีเซตยกชุดเพราะหลีกเลี่ยงสภาพปลาสองน้ำ ควรออกมาจากปากผู้ร่างกฎหมายเองหรือไม่

4.การกล่าวว่าการรีเซต กกต. ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานสำหรับองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้น อาจจะออกกฎหมายให้กรรมการองค์กรอิสระอื่นสามารถอยู่ต่อไปจนครบวาระ แปลว่าองค์กรเหล่านี้มีความสำคัญในการปฏิรูปการเมือง “น้อยกว่า” กกต. ใช่หรือไม่

“การออกกฎหมายใหม่ที่ขัดหลักนิติธรรม ขาดตรรกะในเชิงเหตุผล กล่าวอ้างแบบขาดภูมิปัญญาและไม่เป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับสังคมที่ปกครองโดยนิติรัฐ มิควรเกิดขึ้นในสังคมไทย”

คำถามของนายสมชัยถือว่าน่าสนใจ และเป็นเหตุเป็นผลที่ควรพิจารณา เพราะปรกติการออกกฎหมายจะต้องไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง

ที่สำคัญคือ เมื่อมี กกต. ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้องแล้ว ทำไมไม่ได้อยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ ทำไมต้องโละออกหมดทั้งคณะเพื่อสรรหาใหม่ คำอธิบายที่ว่าเพื่อไม่ให้เกิดการทำงานในลักษณะปลาสองน้ำดูจะเป็นข้ออ้างที่ย้อนแย้งอยู่พอสมควร

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวโตๆคือ การโละ กกต. ไม่เป็นบรรทัดฐานใช้กับองค์กรอิสระอื่น

หมายความว่าแม้ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่นแตกต่างไปจากเดิม เหตุผลข้ออ้างที่ใช้ในการโละ กกต. ยกชุด เช่น ต้องได้คนที่มีคุณสมบัติสูงกว่า ไม่สามารถใช้กับองค์กรอิสระอื่นได้

เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเกิดคำถามว่าแล้วอะไรคือบรรทัดฐาน

ทำไม กกต. โดนรีเซตอยู่องค์กรเดียว

จริงอยู่ว่าเหลือเวลาอีก 1 ปีเต็มๆก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อพิจารณาแล้วการเปลี่ยน กกต. แบบยกชุดในตอนนี้มีความสมเหตุผลหรือไม่

หลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับ กกต. ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่าจะประกาศใช้ กว่าจะเริ่มกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่น่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ถึงตอนนั้นเวลาการทำงานของ กกต.ชุดใหม่ก็เหลือไม่มากก่อนจัดเลือกตั้งระดับประเทศ

ทำให้เกิดคำถามว่า กกต.ชุดใหม่จะเรียนรู้งานเพื่อทำหน้าที่ของตัวเองได้ทันเพื่อทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่

แม้ที่ผ่านมา กกต.ชุดปัจจุบันจะถูกมองว่าทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์แบบ ขาดความเป็นกลาง แต่ถือว่ามีความพร้อมในการทำหน้าที่จัดเลือกตั้งมากกว่า และมีประสบการณ์จัดเลือกตั้งมาแล้วหลายระดับ รวมถึงการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วย

งานใหญ่อย่างการเลือกตั้งทั่วไปที่ผลเลือกตั้งสามารถกำหนดอนาคตประเทศได้นั้นจึงไม่ควรให้ กกต. มือใหม่มาทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งโดยมีเวลาศึกษางานไม่มาก

เปรียบเหมือนการขับรถให้ถึงเป้าหมาย เราควรไว้ใจคนที่มีประสบการณ์ขับรถมานาน ผ่านทางจนชิน รู้ว่าตรงไหนมีหลุมมีบ่อ หรือไว้ใจพวกมือใหม่หัดขับที่เพิ่งสอบใบขับขี่ผ่าน

ข้อสงสัยเหล่านี้ยังไม่สามารถอธิบายให้เป็นที่ยอมรับได้ด้วยการไม่รีเซตองค์กรอิสระอื่นๆที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากเดิม

ทำให้นึกไปถึงคำถามก่อนหน้านี้ว่าที่ต้องรีเซต กกต. ใหม่เพราะต้องการคุมผลการเลือกตั้งให้ออกมาอย่างที่ต้องการหรือไม่ เป็นการล็อกสเปกคนที่จะมานั่งเก้าอี้ กกต. หรือไม่

หากจำกันได้เคยมีคนกล่าวว่าคุณสมบัติของ กกต.ชุดใหม่ถูกกำหนดไว้ค่อนข้างสูง เรียกได้ว่าเป็นสเปกเทพ

เมื่อพิจารณาจากคำว่าสเปกเทพแล้วกวาดตามองไปทั่วทั้งแผ่นดิน มีคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสามารถเข้ามาร่วมเป็น กกต. ได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันมาตลอดว่าไม่มีแนวคิดที่จะรีเซตพรรคการเมืองและกรรมการองค์กริสระ โดยในส่วนขององค์กรอิสระนั้นหากกรรมการองค์กรอิสระมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดใหม่สามารถอยู่ทำงานต่อไปได้จนครบวาระ จะให้พ้นสมาชิกภาพเฉพาะผู้ที่ขาดคุณสมบัติเท่านั้น

แล้วอะไรทำให้เกิดการโละ กกต. ออกจากตำแหน่งทั้งคณะเพื่อเปิดทางสรรหาใหม่ โดยไม่ใช้หลักการเดียวกันนี้กับองค์กรอิสระอื่น

บางทีคำถามนี้จะได้รับคำตอบชัดเจนเมื่อได้เห็นกระบวนการคัดเลือก กกต.ชุดใหม่ และโฉมหน้า กกต.ชุดใหม่ที่จะมาคุมเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจ


You must be logged in to post a comment Login