วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สังหาริมทรัพย์เรือดำน้ำ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On May 4, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ตอนนี้ถ้าไม่พูดถึงเรือดำน้ำคงจะเชยน่าดู ผมในฐานะที่ทำการประเมินค่าทรัพย์สินขอกล่าวถึงสังหาริมทรัพย์ประเภทเรือดำน้ำสักหน่อย

สื่อบางสำนักรายงานข่าวว่า “รัฐบาลปัดปกปิดซื้อเรือดำน้ำ แจงกลาโหม-กองทัพเรือกำหนดเป็นเรื่องลับ สื่อไม่ถามเอง ย้ำโปร่งใส” เรื่องนี้เป็นคำแถลงที่กำกวมดูไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะ

1.เรื่องการใช้เงินซื้อเรือดำน้ำจะจัดเป็นเรื่องลับหรืองบลับคงไม่ได้ เพราะไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ แต่มีมูลค่าถึงลำละ 13,500 ล้านบาท

2.เรื่องนี้รัฐบาลจำเป็นต้องแถลง ไม่ใช่อ้างว่าสื่อไม่ถามจึงไม่ได้แถลง

3.ที่ “อมพระมาพูด” บอกว่า “โปร่งใส” แต่ในความเป็นจริงที่ว่าการไม่แถลงเพราะสื่อไม่ได้ถามนั้น ถือเป็นความไม่โปร่งใสโดยพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างนี้จะมีความโปร่งใสได้อย่างไร

ที่เป็นดังเช่นข้างต้นถือเป็นการ “แก้เกี้ยว” หรือไม่ หรือเป็นรัฐบาลที่ได้มาด้วยกำลังอาวุธ ประชาชนไม่ได้เลือกมา จึงจะพูดอะไรก็ได้ ไม่มีใครกล้า “หือ” หรือไม่อาจตั้งข้อสงสัยได้เลยหรืออย่างไร

เรามาดูการแข่งขันด้านแสนยานุภาพในโลกจะเห็นว่า

1.ประเทศในอาเซียน ไทยมีแสนยานุภาพเป็นอันดับที่ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยไทยอยู่อันดับที่ 21 จาก 126 ประเทศทั่วโลก ส่วนเวียดนามมีแสนยานุภาพอันดับที่ 16 ของโลก และอินโดนีเซียอันดับที่ 14 ของโลก

2.สำหรับความแข็งแกร่งทางเรือ ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 14 ได้ 81 คะแนน รองลงมาจากเวียดนาม เมียนมา และฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียได้คะแนนน้อยกว่าไทย คงเป็นเพราะเป็นประเทศขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 3.5 เท่า แม้มีกองทัพทางเรือมากกว่าไทยแต่ก็คงมีความแข็งแรงน้อยกว่า เวียดนามและฟิลิปปินส์มีความจำเป็นทางกองทัพเรือเพราะมีข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะ ส่วนเมียนมาภายใต้การปกครองทหารเกือบ 30 ปี ก็ต้องสะสมอาวุธและกองทัพทางเรือพอสมควร

3.ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินชื่อเรือหลวงจักรีนฤเบศร ประเทศอื่นไม่มี ซึ่งอาจถือเป็นหน้าเป็นตา เป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของไทย

4.เรื่องเรือดำน้ำนั้นไทยกำลังจะมี 3 ลำ (เฮ) แต่ปัจจุบันถือว่าไม่มี ประเทศที่มีเรือดำน้ำได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ด้วยเหตุนี้ไทยจึงอยากมีเรือดำน้ำบ้าง อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านั้นมีน่านน้ำกว้างขวางมหาศาล ผิดกับไทยที่อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในเชิงเปรียบเทียบ

อาจกล่าวได้ว่าไทยมีเรือที่สามารถต่อสู้กับเรือดำน้ำได้อยู่แล้ว แต่เรือดำน้ำก็คงไม่สามารถต่อสู้กับเครื่องบินรบได้ เรือดำน้ำน่าจะเหมาะกับประเทศมหาอำนาจที่ต้องออกไปปกป้องผลประโยชน์หรือรุกราน การป้องกันประเทศอาจมีความจำเป็นในการใช้เรือดำน้ำน้อยกว่า ถ้าเราไม่ได้ออกไปรุกไล่ประเทศอื่นก็คงไม่ต้องใช้เรือดำน้ำ เรือดำน้ำอาจจะล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบันของสงคราม “กดปุ่ม” ถึงเรามีเรือดำน้ำก็ไม่ใช่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ และไทยก็ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์

หากพิจารณาราคาเรือดำน้ำ 13,500 ล้านบาทต่อลำ จำนวน 3 ลำ เป็นเงิน 40,500 ล้านบาท หากผ่อนจ่ายก็ลดลงเหลือ 36,000 ล้านบาท เรือดำน้ำลำหนึ่งมีอายุขัยประมาณ 30 ปี เท่ากับแต่ละปีมีค่าเสื่อมประมาณ 1,080 ล้านบาท

การใช้เงินขนาดนี้เป็นระยะเวลา 30 ปีจะคุ้มค่าหรือไม่ อายุของเรืออาจลดน้อยลงกว่านี้หากเทคโนโลยีเปลี่ยนไป และยุทธศาสตร์เปลี่ยนเป็นการรบทางไกล ทางอากาศ มากกว่าการใช้เรือดำน้ำ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้นในแต่ละปียังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและการปฏิบัติภารกิจ (แต่ส่วนมากคงจอดไว้เฉยๆหรือใช้ทำการฝึกมากกว่า) อาจเป็นเงินอีกราว 10% ของค่าเรือ หรือเป็นเงินปีละ 3,600 ล้านบาท

คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่ และแสดงให้สังคมเห็นว่ามี “เงินทอน” หรือไม่ จะมีระบบตรวจสอบการเดินทางของเงินตราอย่างไร นี่คือสิ่งที่ประชาชนเจ้าของประเทศพึงรู้


You must be logged in to post a comment Login