วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘แจ็ค หม่า’ไม่รักเมืองไทย? / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On March 30, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

เมื่อไม่กี่วันมีข่าวว่า “รัฐบาลมาเลเซียจับมือแจ็ค หม่า เปิดเขตการค้าเสรีดิจิตอล” อ้าว! ก่อนหน้านี้เห็นว่าจะมาลงทุนในไทยมิใช่หรือ หรือว่านายหม่าไม่รักเมืองไทยเสียแล้ว

ตามข่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 ว่า “นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย และแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของอาลีบาบากรุ๊ป ซึ่งเป็นอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของโลก ร่วมกันประกาศเปิดเขตการค้าเสรีดิจิตอลหรือ DFTZ ในงานเสวนาโกลบอล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ตามข้อตกลง DFTZ ที่เป็นความคิดริเริ่มและการร่วมมือกันระหว่างนาจิบและหม่าจะยกเลิกภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีราคาสูงเกินกว่า 500 ริงกิต หรือ 3,850 บาท คาดว่าตลาดนี้จะซื้อขายสินค้ารวมมูลค่า 65,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานได้ 60,000 ตำแหน่งภายในปี 2025 (2568) ทำให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องข้อบังคับ กระบวนการ และกำแพงการค้าที่ซับซ้อน ส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆสามารถเชื่อมโยงกันในการค้าข้ามพรมแดน ซึ่งมาเลเซียจะเป็นศูนย์กลางให้บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่งและศูนย์กลางสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาค”

จริงๆแล้วไทยได้รับความสนใจก่อนมาเลเซียด้วยซ้ำไป โดยวันที่ 6 กันยายน 2559 ข่าวว่า “แจ็ค หม่า พบประยุทธ์ พร้อมช่วยหนุนระบบขนส่งสินค้า SMEs” โดยการพบกันในครั้งนั้นจัดขึ้นระหว่างนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 (G20) ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน และวันที่ 11 ตุลาคม 2559 นายหม่ายังได้มาพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลและกล่าว (เท็จ?) ว่า “นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นสิ่งที่ดีและเดินมาถูกทาง โดยในส่วนของความร่วมมือกับรัฐบาลไทย บริษัทอาลีบาบาจะเปิดโอกาสให้เข้าร่วมฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี นักศึกษาไทยไปฝึกงานที่ประเทศจีน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ก็มีข่าวว่า “มาเลเซียตั้ง “แจ็ค หม่า” เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจดิจิตอล” โดยข่าวกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า แจ็ค หม่า จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการสร้างหนทางแห่งอนาคตให้กับมาเลเซีย นอกจากนี้แจ็ค หม่า ยังตอบรับเข้าร่วมการประชุมโกลบอล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟอรั่ม (Global Transformation Forum) รวมทั้งเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้เดือนมีนาคมปี 2560” ถ้ารัฐบาลไทยฉลาดพอ เห็นข่าวแบบนี้ต้องตามติดแจ็ค หม่า เพื่อชิงให้มาลงทุนไทยให้ได้ แต่นี่เขาก็ไปเสียแล้ว

การที่นายหม่าไม่มาตั้งฐานที่ประเทศไทยทำให้เราเสียหายหลายอย่าง อาทิ 1.เสียรู้มาเลเซีย 2.เสียหน้าที่เขาไม่เลือกเรา 3.เสียโอกาสการลงทุนและการจ้างงานมหาศาล 4.เสียภาพพจน์ประเทศไทย 5.เสียหายถึงความมั่นคงของรัฐบาล (ยิ่งกว่ากรณียิงเด็ก)

เรื่องนี้น่าสนใจมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ซิงเกิล เกตเวย์” ก็ได้ เพราะเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีข่าว “เมิน 3 แสนชื่อค้าน! สนช. เดินหน้าผ่านพ.ร.บ.คอมพ์” (15 ธันวาคม 2559) รัฐบาลออกมาปฏิเสธเป็นพัลวันว่าไม่ได้เอาจริงกับ “ซิงเกิล เกตเวย์” แต่ท่าทีกลับควบคุมสื่อต่างๆอย่างเข้มงวด คนอื่นเขาก็คงมองออกว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร โอกาสการลงทุนของต่างชาติก็คงจะต้องทบทวนให้หนัก

ยิ่งเจอกรณีเหมืองทองคำพิจิตรที่รัฐบาลให้สัมปทานบริษัทออสเตรเลียถึงปี 2572 แต่กลับใช้มาตรา 44 เลิกสัมปทาน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอาจขาดความแน่นอนด้านนโยบาย ทั้งที่ผ่านมามีข่าวชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนเหมืองทองคำ และผลพิสูจน์ชัดว่าประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ ไม่เช่นนั้นคนงานเหมืองคงตายไปหลายคนแล้ว แต่ไม่มีคนงานเหมืองตายเพราะเหมืองเลย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับเลือกเชื่อเอ็นจีโอแทนที่จะเชื่อประชาชนเจ้าของประเทศ

เรื่องการลงทุนต่างชาติถือว่าน่าห่วงมาก ปรกติไทยกับจีนคบหากันดีอยู่แล้ว จีนกับมาเลเซียไม่น่าจะไปด้วยกันได้นัก แม้จะมีคนจีนอยู่มากมายในมาเลเซีย แต่ประเทศปกครองโดยคนมาเลย์หรือภูมิบุตร คนจีน คนอินเดียสัญชาติมาเลเซียต่างเป็นพลเมืองชั้นสองของประชาชนมาเลย์ส่วนใหญ่ จะซื้อบ้านก็ต้องซื้อเต็มราคา ส่วนชาวมาเลย์ซื้อในราคาที่มีส่วนลด แปลกมั้ยลดให้กับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ลดให้คนส่วนน้อย

การที่นายหม่าเลือกมาเลเซียนั้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมาเลเซียเปิดกว้างด้านเสรีภาพมากกว่าไทย อนาคตความยุ่งเหยิงน่าจะน้อยกว่าไทย แม้มาเลเซียด้อยกว่าไทยในหลายด้าน แต่ก็ยังดีกว่าในสายตาของนายหม่า เรื่องนี้สะท้านใจจริงๆสำหรับคนที่รักประเทศไทยเพราะถูกเมิน จะเห็นได้ว่าการลงทุนข้ามชาติของไทยก็หดหายไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยตกต่ำลง

ผมว่ารัฐบาลที่มีอำนาจเต็มไม่ควรใช้อำนาจมากไปนัก ควรเผื่ออำนาจไว้ใช้ในยามจำเป็นบ้าง เพราะยิ่งใช้อาจยิ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กระทำต่อขีดความเสี่ยงของประเทศที่เพิ่มขึ้น ถ้าวันใดผู้มีอำนาจหมดอำนาจไปก็ยิ่งอยู่ยากกว่า “ทักกี้” ที่ไปได้ทั่วโลกยกเว้นประเทศไทยเสียอีก ผมจึงขอเตือนไว้เพื่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจและความมั่นคงของชาติว่า นายหม่าคงรักเมืองไทย อยากมาอยู่เมืองไทยใจจะขาด แต่ติดขัดที่ท่านผู้นำหรือรัฐบาลที่ออกจะไม่ “เวิร์ค” ในสายตาโลก เพราะไม่ได้มาตามแบบปรกติ

ถ้าไทยพอไปไหวจริงๆ นายหม่าคงไม่ทิ้งไปเช่นนี้ มาเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกันเถอะ!?!


You must be logged in to post a comment Login