วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่แน่? / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On January 9, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

อาจารย์นิธิมองสถานการณ์การเมืองในปี 2560 ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ขณะนี้ปัจจัยทุกอย่างงวดเข้ามาทุกขณะ คือจากปี 2557 ถึงปี 2559 ถ้าสถานการณ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเป็นอยู่อย่างนี้ ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เพราะตั้งแต่ปี 2557 ที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ คนอาจจะมีความหวัง คิดว่าทุกอย่างจะเริ่มต้นกันใหม่และไปในทางที่ดี แต่พอมาถึงปี 2559 ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อย แม้แต่กลุ่มที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารก็เริ่มสำนึกได้ว่ามันไม่ใช่ มันไม่ไปไหน คงจำได้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่คุณอานันท์ ปันยารชุน (อดีตนายกรัฐมนตรี) ซึ่งสนับสนุนการรัฐประหาร ออกมาแสดงความรู้สึกอึดอัด

ผมคิดว่าทั้งหมดเหล่านี้เป็นสัญญาณที่รู้สึกว่าผู้ที่สนับสนุนรัฐประหารน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่อย่านึกว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นจากกองทัพเพียงอย่างเดียว มาจากหลายกลุ่มคนที่สนับสนุนให้มีการรัฐประหารขึ้น บางคนอาจจะร่วมวางแผนด้วยซ้ำไป อยู่ๆเขาจะปล่อยให้คณะรัฐประหารชุดนี้พังโดยที่ตัวเขาเองพังไปด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ ยังไงเขาจะต้องสละสิ่งที่จะทำให้เขาพังออกไปเสียก่อน แล้วอาจมีคณะรัฐประหารชุดใหม่เข้ามา อันนี้ผมไม่ทราบนะ แต่ผมคิดว่าชุดนี้เขาเอาไว้ไม่ได้แล้ว เพราะจะทำให้พวกเขาเองเดือดร้อนไปด้วย ผมว่าปี 2560 สงสัยจะเป็นปีที่เกิดเหตุได้ 2 อย่างคือ

เหตุที่ 1 หมายถึงคนทั่วๆไปที่ไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหารสามารถรวมตัวกันติดและสามารถสร้างเงื่อนไขต่อรองให้คณะรัฐประหารชุดนี้ออกไปเสีย แล้วต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ แต่คิดว่าจะไม่เหมือนอย่างนี้อีกแล้ว หรือเหตุที่ 2 กลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารเองคือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารที่เขาถือว่าต้องทิ้งกลุ่มนี้ซะแล้ว เพราะมันไปไม่รอด แล้วจะทำให้ตัวเองเดือดร้อน ต้องมีการกลับตัวกันยังไงผมเองก็เดาไม่ถูก อาจจะมีรัฐประหารซ้อน อาจจะมีอะไรผมไม่ทราบ

เงื่อนไขที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาจากรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรงนั่นแหละ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความหวังกับใครสักเท่าไรว่าอะไรต่ออะไรจะดีขึ้น บอกว่านักลงทุนจากต่างประเทศไม่มาลงทุนเพราะมีการยึดอำนาจ ผมคิดว่านั่นไม่ใช่เหตุใหญ่หรอก แต่เหตุใหญ่คือ คุณยึดอำนาจแล้วคุณไม่ได้ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจอะไรมากนัก เราลองคิดอย่างนี้ ถ้าเรามีเงินมากๆจะเอาเงินมาลงทุนในประเทศที่ยังหาความมั่นคงแน่นอนไม่ได้มั้ย เราไม่ห่วงเงินเราหรือ เขาไม่ห่วงหรอกประชาธิปไตย นายทุนทั้งหลายจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องของคุณ นักลงทุนไม่เกี่ยว แต่ต้องทำให้มั่นใจว่าเงินของเขาจะปลอดภัย แล้วเงินเขาจะสามารถทำกำไรได้

ผมคิดว่า 3 ปีที่ผ่านมา 2 อย่างนี้ทำไม่สำเร็จ ในปี 2560 ผมคาดการณ์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ใครจะเป็นคนเปลี่ยนยังไงผมเดาไม่ถูก ผมคิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในสถานะที่มันอยู่นานๆอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าชั่วครั้งชั่วคราวเป็นไปได้ แต่ถ้านานขนาดนี้เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่ว่าใครก็ตามที่สนับสนุนการรัฐประหาร ไม่สนับสนุนรัฐประหาร ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มมีความเห็นพ้องต้องกันว่าคุณต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปในทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพอใจหรือไม่มันคนละเรื่อง

เสรีภาพถูกคุกคามหนัก

เรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2559 จนเกิดกระแสต่อต้านไปทั่วนั้น ไม่คิดว่านักลงทุนต่างประเทศหรือในประเทศจะแคร์เรื่องสิทธิเสรีภาพนัก แต่มันเป็นดัชนีที่บ่งชี้ให้เห็นสภาวะไม่ปรกติ ยิ่งคุณไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนโดยไม่จำเป็นมากเท่าไรก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าคุณสันหลังหวะ ที่จริง พ.ร.บ. ฉบับเก่าก็แย่มากอยู่แล้ว ไม่ช่วยทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในธุรกิจคอมพิวเตอร์ เพราะคุณไม่ได้เข้าไปจับกุมที่จะทำให้การคดโกงทางคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นได้ยาก คุณกลับใช้กฎหมายในแง่ที่จะไปปราบปราม ลงโทษคนที่คิดต่างจากคุณ มันก็ไม่ช่วยอะไรในทางธุรกิจ

ตอนนี้รัฐบาล คสช. ยิ่งออกกฎหมายแบบนี้มาอีก ผมคิดว่ายิ่งทำให้เห็นว่าคุณเปราะบางมากเลย ผมไม่อยากเอาเงินมาไว้ใต้อุ้งเท้าคุณแน่ๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือเปล่า ผมมองว่านักธุรกิจที่เขาทำมาหากินเขาไม่สนใจทั้ง 2 ฝ่ายคือ ไม่สนใจทั้งคุณทักษิณ และไม่สนใจเผด็จการทหาร เขาอยากเป็นอะไรเรื่องของคุณ แต่ผมอยากทำกำไร ผมอยากมีความปลอดภัยในเงินผม ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะมีการปิดกั้นทางไอที หรือเที่ยวจับคนอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นอำนาจของคุณ อำนาจหลายอย่าง อำนาจหนึ่งคืออำนาจในเชิงใช้กำลังบังคับ อันนี้เป็นอำนาจที่เราเห็นได้ทั่วๆไป เช่น คุณไม่ชอบหน้า คุณก็ไปเตะไม่ให้มาหือกับคุณ แต่อำนาจอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้คนอื่นๆเห็นพ้องต้องกันกับคุณโดยที่คุณไม่ต้องไปเตะเขา ทั้งที่คุณเอาเปรียบเขา เขาก็ยังรู้สึกว่าคุณดี ยอมให้คุณเอาเปรียบ

การปกครองประกอบด้วยอำนาจ 2 อย่างนี้ แต่การปกครองที่มั่นคงคือใช้อำนาจแบบที่ 2 อำนาจแบบที่ 1 ที่ไหนๆก็มีได้ทั้งนั้นแหละ เมื่อไรที่คุณใช้อำนาจแบบที่ 1 คืออำนาจเชิงกดขี่บังคับมากเท่าไร ก็แสดงว่าอำนาจอย่างที่ 2 คุณมีน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้เห็นได้ว่าสังคมนั้นๆคือสังคมที่ใช้แต่อำนาจกดขี่บังคับ เป็นสังคมที่มีการปกครองที่อ่อนแอและไม่ค่อยมั่นคงเท่าไร การที่รัฐบาล คสช. เที่ยวไล่จับคน เที่ยวใช้กฎหมายแบบเพื่อจะรังแกคน ยิ่งทำให้คนอื่นๆเห็นความอ่อนแอของคุณมากขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้นถามว่าเวลานี้ 3 ปีผ่านมาแล้ว เขามีความมั่นใจในอำนาจของเขามากพอที่จะเลิกใช้อันนี้หรือไม่ ซึ่งถึงนาทีสุดท้ายในปี 2559 ก็ยังใช้อยู่ ทั้งกฎหมายที่ออกใหม่ จับคุณไผ่ และอะไรต่ออะไร ขอย้ำว่าทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคุณยังไม่ก้าวหน้าไปสักก้าวเดียวเลย คือวันแรกที่คุณยึดอำนาจ คุณจับคนโน้นไปขังไว้ก่อนก็โอเค ตรงนี้เข้าใจได้ แต่หลังจากนั้นคุณต้องทำให้อำนาจเชิงเชื่อถือและเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อคุณจะได้ไม่ต้องใช้อำนาจมากดขี่บังคับ ถ้าคุณยังใช้อำนาจกดขี่บังคับอยู่ต่อไปยิ่งแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังหวั่นไหวและมีปัญหา

ถามว่า 3 ปีที่ผ่านมาปัญหานี้ลดลงหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ลด มันเหมือนเก่า คุณลองย้อนกลับไปสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร อำนาจเชิงกดขี่บังคับเขาจะใช้น้อยลงๆจนกระทั่งคนทั่วไปรู้สึกว่าเราอยู่ในกฎหมายปรกติ มาตรา 17 จอมพลสฤษดิ์ไม่ใช่อยู่ๆจะประกาศใช้ ไม่ใช่ใช้มันทุกอย่าง เขาไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ขณะที่คณะรัฐประหารในปัจจุบันใช้อำนาจตรงนี้อย่างพร่ำเพรื่อ แสดงให้เห็นว่าคุณไม่สามารถทำให้ระบบทำงานได้ ถ้าระบบทำงานได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษ และที่คุณเข้ามาคุณอ้างว่าจะมาปฏิรูปประเทศใช่มั้ย มนุษย์เราทุกคนต้องตาย คุณจะอยู่ค้ำฟ้าได้อย่างไร วันหนึ่งคุณก็ต้องตายไป มันจะแปลว่าอะไร ถ้าคุณไม่สร้างให้ระบบมันทำงานได้เอง ไม่เกี่ยวกับคน คำว่าปฏิรูปคือจะต้องทำให้ระบบทำงานได้ ไม่ใช่ด้วยตัวคุณ

ปฎิรูปไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

ที่รัฐบาล คสช. ประกาศเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นการประกาศตามเสียงเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พอยึดอำนาจเสร็จก็อ้างว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มันเข้าล็อกกันพอดี จะเพราะเขาร่วมมือกันอะไรก็แล้วแต่เถอะ แต่มันเข้าล็อกกันพอดี คุณก็ต้องทำให้คนยอมรับคุณ ต้องทำอย่างที่คุณพูดด้วย คุณต้องใช้อำนาจบีบบังคับน้อยลงๆ แล้วสร้างระบบที่จะทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีคนมากขึ้นๆ ทำไมคนถึงอยู่ภายใต้จอมพลสฤษดิ์ จอมพลประภาส จอมพลถนอมมาได้ถึง 16 ปี เพราะพวกนี้เขาทำเป็น

ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นหรือไม่

ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกอาจจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ทำให้คุณแก้ปัญหาอะไรได้ยาก เพราะมันแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน สิ่งที่รัฐบาล คสช. ประกาศว่าจะสร้างความปรองดองความสามัคคีอะไรต่างๆ ผมคิดว่าทั้งหมดเหล่านี้ไม่ใช่เป้าหมายจริงของเขาหรอก มันเป็นคำประกาศที่นึกว่าประกาศแล้วจะได้รับการสนับสนุนต่างหาก ถ้าเขามีเป้าหมายจริงต้องคิดทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ปล่อยอย่างนี้มา 3 ปี

ที่น่าเศร้าคือ ผมเกรงว่าคณะรัฐประหารชุดนี้ไม่มีเป้าหมายอะไร ไม่รู้ว่าจะทำอะไรด้วยซ้ำไป คือมีเป้าหมายที่เราไม่เห็นด้วยก็ยังดี แต่นี่ไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำไป ไม่รู้ว่าคุณยึดอำนาจแล้วจะทำอะไร ถามว่าสิ่งที่จะตามมาคืออะไร อย่างที่ผมบอกไปแล้วข้างต้นคือ ไม่ใช่กองทัพอย่างเดียว อย่ามองว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องของกองทัพอย่างเดียว แต่มันเป็นความร่วมมือของหลายฝ่ายหลายกลุ่ม แล้วกลุ่มต่างๆเหล่านี้ไม่ได้คิดกันมาให้ตกผลึกก่อนที่จะยึดอำนาจว่ายึดไปเพื่อทำอะไร เหตุผลง่ายๆของการยึดอำนาจคือ เพื่อจะยุติพัฒนาการทางการเมืองที่เลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลอาจเป็นพรรคที่ไม่อยู่ในโอวาทของพวกตัวเอง คิดได้เท่านั้นไง มันเลยไม่มีเป้าหมายอะไร

คราวนี้พรรคการเมืองที่ว่าไม่อยู่แล้ว ไม่มีแล้ว เพราะถูกคุมไม่ให้มี คำถามคือคุณหยุดได้มั้ย คุณยึดอำนาจแล้ว พรรคการเมืองนั้นก็กลับมาอีก จะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ หรือพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของที่นั่งรัฐสภา จะยอมอยู่ในโอวาทกลุ่มที่เคยมีอำนาจมาก่อนหรือ มันไม่อยู่หรอก เพราะฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทยหรือคุณทักษิณ โอเคถ้ามีการเลือกตั้ง พรรคของคุณทักษิณอาจได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่น แต่ถ้าคุณทักษิณตายล่ะ คุณคิดว่าพรรคอะไรที่จะได้คะแนนมากที่สุด ถ้าสมมุติว่าพรรคประชาธิปัตย์ปรับปรุงตัวเอง ก็เป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนมากที่สุดก็ได้ คุณอย่านึกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างนี้อีกต่อไป คุณชวนอาจกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่โดยมีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งในรัฐสภา แต่คุณชวนก็จะไม่ใช่คุณชวนคนเก่าอีกแล้ว รัฐประหารที่ผ่านมามองปัญหาง่ายๆเพียงแค่ขอไล่ทักษิณออกไปก่อน อย่างอื่นค่อยคิดทำอะไรทีหลัง ถามว่าเวรกรรมตกอยู่กับประเทศหรือไม่ ผมคิดว่าเราเองก็อาจทำกรรมไว้ด้วย เราเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ก็ไม่ใช่ คือทุกฝ่ายเคยทำกรรมมาแล้วก็รับๆกันไปก็แล้วกัน

การเลือกตั้งปลายปี 2560

ตอนนี้ชักจะเลื่อนๆไปเป็นต้นปี 2561 แล้ว แต่นั่นไม่สำคัญเท่าไร เลือกตั้งก็เหมือนไม่เลือก เลือกไปทำไมผมก็ยังไม่เข้าใจเลย ถ้ารัฐธรรมนูญแบบนี้เลือกหรือไม่เลือกก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย ยังไงคุณก็มีพรรคจากการแต่งตั้ง 250 เสียง แต่มีบทบาทเท่าคนที่มาจากการเลือกตั้ง มันตลกสิ้นดี แต่ที่ผมทำนายอาจจะผิดก็ได้ที่คิดว่ารัฐบาล คสช. จะอยู่ไม่ถึงเลือกตั้ง มันจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ทุกอย่างดูเหมือนงวดเข้ามาหมดแล้ว สงสัยว่าอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป แต่เปลี่ยนแล้วจะถูกใจเราหรือไม่นั้นเป็นคนละเรื่อง

บทบาทกองทัพต่อการเมือง

กองทัพเป็นหน่วยทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่ง ถ้าฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารเป็นผู้เปลี่ยนเสียเองก็ต้องรักษากองทัพไว้ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งมีกำลังจะเปลี่ยนหรือไม่ ผมคิดว่าไม่มีหรอก อย่างมากคุณก็สร้างแรงกดดันเพื่อให้เกิดการต่อรองและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่ง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน พูดง่ายๆ คุณไม่มีกำลังขนาดนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเชื่อว่าจะไม่กระทบไปถึงกองทัพนัก ถ้ากระทบก็ไม่มาก

คุณคิดดูพรรคเพื่อไทยของคุณยิ่งลักษณ์ได้คะแนนเสียงท่วมท้นในสภายังให้งบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อเอาใจไม่ให้ก่อรัฐประหาร จนนาทีที่เขาจะก่อรัฐประหาร บอกให้รีบไปลงนามในสนธิสัญญากรุงโรมก็ไม่กล้า คุณจะไปหวังอะไรกับนักการเมืองเหล่านี้ ถามว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในปี 2560 สภาพบ้านเมืองหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร จะเกิดการปฏิวัติประชาชนมั้ย ไม่เกิดหรอก แต่มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะมีบทบาทมากดดันมากขึ้น ส่วนกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นรัฐบาลอยู่เวลานี้ก็ต้องปรับตัว จะปรับโดยวิธีใดก็แล้วแต่

สมมุติว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากแรงกดดันของประชาชน ประชาชนก็ไม่มีกำลังที่จะกดดันได้สุดโต่งนัก กดได้ในระดับหนึ่ง ผมคิดว่าชนชั้นนำถ้ายังอยู่ฝ่ายเดียวกัน เขาอาจจะให้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะเดินทางไปอยู่ต่างประเทศจนคนลืมแล้วค่อยกลับมาใหม่ แต่จะไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยอม ไม่ฮึดสู้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ปลอดภัย จนถึงทุกวันนี้ พล.อ.สุจินดา (พล.อ.สุจินดา คราประยูร) ก็ยังอยู่สบาย ไม่เห็นมีอะไรเลย เพราะนี่คือประเทศไทย

ทิศทางอนาคตฝ่ายการเมือง

จริงๆฝ่ายการเมืองถามว่าเขาเดือดร้อนมั้ย กลุ่มคุณทักษิณเดือดร้อนมั้ย ผมคิดว่าก็เดือดร้อนนิดหน่อยตรงที่กลับบ้านไม่ได้ เงินถูกยึดไป แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้วเขาจะล้มละลายหรือไม่ ไม่หรอก ผมคิดว่าเวลานี้ประชาชนอยู่ด้วยตัวของตัวเองนะ คุณเผชิญหน้ากับเผด็จการโดยตรง ไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นตัวแทนให้คุณในการต่อสู้ ไม่แม้แต่มาร่วมต่อสู้กับคุณด้วยซ้ำไป มันก็ไม่แปลกอะไร ตั้งแต่ปี 2490 แล้วที่มีการรัฐประหารครั้งแรกโดยกองทัพ อาจมีนักการเมืองจากพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญกับพรรคอาชีพที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารขนาดจะทำรัฐประหารซ้อนที่เรียกว่ากบฏวังหลวง แต่ทำไม่สำเร็จ หลังจากปี 2500 เป็นต้นมา ทหารยึดอำนาจ ถามว่ามีพรรคการเมืองไหนบ้างที่ร่วมกับประชาชนในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ไม่มี จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มี ทุกวันนี้ทุกคนสู้กันอยู่โดยตัวคุณเองแท้ๆ

ในปี 2560 ภาคประชาชนก็ยังไม่เข้มแข็งขึ้น แต่ผมรู้สึกว่าตอนนี้ความกลัวที่เขาใช้เป็นเครื่องมือในการกดประชาชนไว้เริ่มจะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง อาจเป็นเพราะมันนานเกินไปแล้ว ตอนแรกที่คนรู้สึกหวาดกลัวก็ค่อยๆลดลง คือคุณต้องเข้าใจว่า กลุ่มรัฐประหารชุดนี้มีความเข้าใจว่าคุณทำให้เลือดตกยางออกไม่ได้ คุณก็ใช้ความกลัวแค่จับเขาไปขัง แต่คุณจะไปเที่ยวยิงอย่างปี 2553 ไม่ได้แล้ว ทีนี้ถ้าคนไม่กลัว คุณก็ต้องขยับความกดขี่มากขึ้น ถามว่าขยับไปได้ถึงไหนล่ะ ถึงขั้นยิงทิ้งเลยได้มั้ย ในแง่นี้พวกนักศึกษา คนรุ่นหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ทั้งหลายที่ลุกขึ้นสู้และยอมรับผลของมันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอะไรก็แล้วแต่ ต้องถือว่าเป็นหัวหอกที่เสียสละ การเคลื่อนไหวในปี 2560 เชื่อว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่เราควรจะมองว่ากลุ่มใหม่อื่นๆมีบ้างมั้ย ไม่ใช่มีแต่กลุ่มเก่าอย่างนี้ อย่างการต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลุ่มนักศึกษาจุฬาฯซึ่งไม่เกี่ยวกับใครเลย ถือเป็นกลุ่มใหม่ ผมคิดว่ากลุ่มอย่างนี้น่าสนใจกว่า ที่ผ่านมากลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นน้อยไป ถ้ามันเกิดถี่ขึ้น เดี๋ยวกลุ่มนี้มา กลุ่มโน้นมา โดยไม่ได้นัดหมายหรือเกี่ยวข้องกันมาก่อน อันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายประชาชนเริ่มเคลื่อนหนักขึ้น ถามว่าเราจะมีโอกาสเห็นประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานหรือไม่ ผมไม่รู้เหมือนกัน เพราะคนอายุขนาดผมตายเมื่อไรได้ แต่ผมก็คิดว่าเรามีโอกาสเห็นประชาธิปไตย อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเต็มที่ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ถอยหลังไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540

ผมคิดว่ารัฐประหารครั้งนี้พิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ชนชั้นนำพอได้อำนาจแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ ไม่เหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์เขารู้ว่าจะทำอะไร ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ความมั่นคงปลอดภัยกลุ่มสำคัญๆของชนชั้นนำไทยเหมือนกัน เช่น ไม่ได้ปฏิเสธทรัพย์สินส่วนบุคคล ถ้าคุณรวยเป็นพันล้านหมื่นล้านคุณไม่ต้องห่วงเลยว่ารัฐจะมายึดทรัพย์คุณ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามาก


You must be logged in to post a comment Login