วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

Disintegration คำพิพากษาและการเปลี่ยนแปลง? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On November 21, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ในงานเขียนที่หลากหลายของ Arnold Toynbee มีประโยคหนึ่งที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “โดยความจริงแล้ว Disintegration ก็คือคำพิพากษาที่เป็นสัจธรรม ซึ่งต้องเกิดขึ้นกับทุกๆสรรพสิ่ง รวมทั้งชีวิตมนุษย์ด้วยเช่นกัน”

คำกล่าวของ Toynbee ผมมีความเห็นว่ามันก็ดำเนินไปภายใต้หลักการของศาสนาพุทธตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ซึ่งก็คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของวัฒนธรรมและอำนาจทางการเมือง

โดยศัพท์ความหมายของ Disintegration แปลว่า การกัดกร่อนและบุบสลายภายในของตัวเอง เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ตรงนี้เราอาจต้องหยิบยกบางตัวอย่างในทางฟิสิกส์หรือกัมมันตรังสีมาเทียบเคียงเพื่อทำความเข้าใจได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทฤษฎีโดยตรง

ในการศึกษาธาตุกัมมันตรังสีต่างๆ พบว่าเวลามีการแผ่รังสีแอลฟาหรือรังสีบีตามักจะมีธาตุใหม่เกิดขึ้นเสมอ จึงกล่าวได้ว่ารังสีเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนสภาพของนิวเคลียสตามการเปลี่ยนแปลงนิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสีในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งอธิบายได้ตามทฤษฎีสัมพัทธ์ (relativity theory) เกิดขึ้นเพราะธาตุดั้งเดิมหรือธาตุแม่มีความไม่เสถียรเพียงพอ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงปลดปล่อยพลังงานออกมาตามหลักการของฟิสิกส์ที่ว่าสสารและพลังงานย่อมไม่สูญหาย แต่จะเปลี่ยนกลับไปกลับมา

การเปลี่ยนแปลงจึงออกมาในรูปของอนุภาคแอลฟาหรือบีตา ทำให้ธาตุที่เหลืออยู่ซึ่งเป็นธาตุลูกมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือเปลี่ยนเป็นคนละนิวเคลียสไปเลย

ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีการเผชิญหน้าของศิวิไลเซชั่น ซึ่งเป็นผู้บงการการเปลี่ยนแปลง ก็จะเผชิญหน้ากับอีกชุดกระแสตรงกันข้าม เราต้องเข้าใจว่ามันได้เกิด 2 สภาวะขึ้นมาพร้อมกันคือ มีการเผชิญหน้ากับสภาวะภายนอก ซึ่งเป็นชุดกระแสตรงกันข้าม พร้อมกันนั้นก็มีกระบวนการกร่อนสลายภายในเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงมีคุณภาพที่เหลืออยู่ใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ย้อนออกไปภายนอก เพื่อไปเผชิญหน้าตามทฤษฎี challenge and respond นี่น่าจะพอเทียบเคียงได้กับการเกิดขึ้นของฟิสิกส์

แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก อาจต้องเข้าใจพื้นฐานของกฎอิทัปปัจจยตาของศาสนาพุทธดังที่ว่า “เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี” หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎอิทัปปัจจยตาเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่มีอะไรที่จะอยู่นอกเหนือกฎนี้ไปได้ และกฎที่เป็นหัวใจหรือเป็นกฎใหญ่ที่ครอบคลุมหลักของ “ปฏิจจสมุปบาท” 12 ประการ ซึ่งกฎอิทัปปัจจยตานั้น ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากนักและเป็นความจริงของธรรมชาติ กฎอิทัปปัจจยตาจึงเป็นธรรมะที่เป็นองค์รวมและเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลของอะไร แต่ต่างก็เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

นี่คือพื้นฐานของการเกิดศิวิไลเซชั่นใหม่ ซึ่งเป็น genesis โดยเกิดขึ้นพร้อมกันกับสภาวะ Disintegration

ถ้ามองตามทฤษฎีนี้แล้วและนำมาประยุกต์เข้ากับมุมมองการเมืองในประเทศไทยก็ต้องสรุปว่า “ไม่มีอะไรที่จะไม่เปลี่ยนแปลง” แต่ในขณะนี้ผมเข้าใจว่ากลุ่มอำนาจนำได้มีเนื้อหาใหม่ที่นำเสนอออกมาเพื่อเผชิญหน้ากับกระแสตรงกันข้าม ซึ่งคงเป็นกระแสประชาธิปไตย

ผมว่าในขณะนี้การเผชิญหน้ามีข้อสรุปไปขั้นหนึ่งแล้ว นั่นคือการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากทุกสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอะไรจะเป็นความสำเร็จหลังจากที่มีการ challenge แล้วก็ไม่รู้ว่าจะ respond ออกมาอย่างไร?

แต่ที่แน่นอนตามกฎของ Disintegration กงล้อของประวัติศาสตร์จะต้องเดินหน้าเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครสามารถขัดขวางกงล้อประวัติศาสตร์ได้” หรืออาจจะต้องตอบด้วยความรู้ของเจ้าคุณธงชัย หรือพระพรหมมังคลาจารย์ (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยันต์วิเศษของสโมสรฟุตบอลดังในอังกฤษ และล่าสุดก็ยังทำผ้ายันต์ “win-win-win” ให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์ จนชนะเลือกตั้งในอเมริกา

ท่านเจ้าคุณธงชัยพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ว่า ตอนนี้ดาวมฤตยูมีอำนาจเหนือโลก หมายถึงพระอิศวรซึ่งเป็นเพศชายจะครองความเป็นใหญ่ ซึ่งในเมืองไทยพระอิศวรก็ยังต้องมีอำนาจอยู่ต่อไป แต่ท่านเจ้าคุณบอกว่าจะต้องมีคุณสมบัติอีกประการเกิดขึ้นด้วยคือ 1.การเปลี่ยนแปลง (Change) 2.การเข้าสู่ยุคใหม่การก้าวสู่นวัตกรรม (Innovation) 3.การกำเนิดแนวคิดใหม่ (Idealist) และ 4.เสรีภาพ (Freedom)

คือทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงด้วยชุดความคิด 4 ประการ ผมว่าในชุดความคิด 4 ประการนี้ ถ้าจะมีปัญหาติดขัดก็เห็นจะเป็นข้อสุดท้ายนั่นแหละ แต่อย่าลืมว่า Disintegration เป็นคำพิพากษาว่าประวัติศาสตร์และทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ต้องเปลี่ยนแปลง!


You must be logged in to post a comment Login