วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ร่วมสร้างทัศนคติใหม่ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ”ลดการคุกคามทางเพศ

On April 5, 2024

สงกรานต์ปีนี้มีเรื่องที่น่ายินดีที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ อีกทั้งมติ ครม.ได้เห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์เป็นเวลามากถึง 21 วัน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” แต่ในทุกๆปีปัญหาการคุกคามทางเพศได้ส่งผลกระทบเป็นภาพลบของงานวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

สวนดุสิตโพล เผยพฤติกรรมจับมือ/แขนเบียดเสียดส่วนหนึ่งคือการคุกคามทางเพศ

ปัญหาการคุกคามทางเพศ รวมถึงการลวนลามในวันสงกรานต์ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างบาดแผลทั้งทางร่ายการและจิตใจของผู้ถูกกระทำ จนอาจทำให้บางคนถึงกลับมาอยากมาเล่นน้ำวันสงกรานต์เลย ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,011 คน พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 66.09% ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เพราะต้องการพักผ่อน อากาศร้อน ขณะที่ 14.19% ที่ไม่เล่นเพราะกลัวถูกลวนลาม ซึ่งมีบางส่วนเคยถูกลวนลาม กลุ่มที่เคยเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เคยเจอสถานการณ์ถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79% (กลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี เคยถูกประแป้งที่ใบหน้ามากที่สุดถึง 76.77%) ถูกฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 32.43% พฤติกรรมที่พบมากที่สุดคือ ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45% ถูกสัมผัสร่างกาย 37.19% ถูกจับแก้ม 34.47% ใช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45% ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54% และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่นๆ ที่เกินเลย 16.55% ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง “รับรู้” ว่าการถูกลวนลาม/คุกคามทางเพศถือเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา 92.10%

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ ให้ระมัดระวังตนเองขณะที่เล่นน้ำสงกรานต์ 24.33% มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มบทลงโทษให้ชัดเจนและรุนแรงขึ้นกับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น 15.97% เพิ่มเจ้าหน้าที่คอยดูแลและควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวดและทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงให้ภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแล 11.04% รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น 10% หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่มีคนหนาแน่นและเสี่ยงที่จะถูกลวนลาม  8.06% จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์แบบขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีไว้อย่างต่อเนื่องทุกปี และให้คนรุ่นใหม่รักษาและสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิม 7.01%

สสส. หนุนสร้างความปลอดภัยในวันสงกรานต์ เคารพสิทธิในร่างกายของคนทุกเพศ

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานสถานการณ์สงกรานต์ ปี 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 264 คน ลดลง 14 คน จากปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 278 คน ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตลดจาก 16.5% ในปี 2565 เหลือ 10.6% ในปี 2566 สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตคาที่ลดลงจาก 56.8% ในปี 2565 เหลือ 53.4% ในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที นอกจากนี้ข้อมูลการสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,725 คน ระหว่างวันที่ 24 – 30 มี.ค. 2566 เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า 96.5% เคยถูกปะแป้งที่ใบหน้าหรือร่างกาย 87.9% ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมองทำให้อึดอัด 85.7% เคยถูกฉวยโอกาสลวนลาม 84.9% เกิดอุบัติเหตุ 82.4% ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 73.8% ทะเลาะกันในครอบครัว ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างระบุว่าสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5% อุบัติเหตุ 22.5%

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์นั้น สสส.พยายามเน้นไปที่เรื่องของความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และในทุกๆปีเราพยายามพ่วงเรื่องของการเคารพสิทธิ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ในขณะที่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาถูกกระทำ โดยที่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกกล่าวขานมากนัก ทั้งนี้เรื่องการแต่งกายเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้ต้องการถูกการละเมิด บางคนอาจเข้าใจคิดว่าอยากจะโชว์ ก็ต้องโดนบ้าง ซึ่งสังคมไทยยังพูดเรื่องนี้กันน้อยมาก สสส.จึงมองว่า ถ้าเราชวนภาคีเครือข่าย เข้ามาทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสุดท้ายจะลบเรื่องการล่วงละเมิด  ดังนั้นการดูแลในสิทธิเนื้อตัวของคน เป็นเรื่องสำคัญ แล้วมันจะทำให้โอกาสในการเกิดปัญหาในครอบครัว ในสังคมก็จะลดลงไปด้วย เลยเป็นที่มาที่เราจะพยายามหาโอกาสที่จะยุติความรุนแรง และเพิ่มการขยายโอกาสเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการรับรู้ ในเรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ สสส.ทำมาอย่างยาวนาน เราทำงานกับเครือข่ายและมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และทำงานในชุมชนค่อนข้างเยอะ ในหลายชุมชนเราพยายามเปลี่ยนให้ผู้ชายเท่าเทียมกับผู้หญิง ในครอบครัวผู้ชายไม่ใช่ช้างเท้าหน้าต่อไป แต่ผู้หญิงและผู้ชายเดินคู่ขนานกันไป ช่วยเหลือ ดูแลให้ครอบครัวแข็งแรงต่อไป ซึ่งเป็นงานที่เกิดขึ้นในชุมชนและเราพยายามที่จะขยายโอกาส การสื่อสาร นอกจากการสื่อสารแล้วการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงสงกรานต์นี้ทาง สสส.เราได้มีถนนตระกูลข้าวในหลายพื้นที่ ที่จะจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกฮอล์จะเป็นตัวกระตุ้นในมนุษย์ขาดสติอาจมีการล่วงละเมิดทางเพศ ลวนลามกันได้  เราพยายามดูแลให้เป็นพื้นที่ที่ครอบครัวเข้ามาเล่นสงกรานต์กันได้

การดูตนเองสำหรับผู้หญิง หรือกลุ่ม LBGTQ+ เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือลวนลาม อย่างแรกที่ต้องทำคืออย่ากลัว เพราะเมื่อเจอสถานการณ์ต่อหน้าผู้หญิงส่วนใหญ่จะกลัว ผู้ถูกล่วงละเมิดจะอายจะไม่กล้าพุด จริงต้องตะโกนร้องให้คนอื่นมาช่วย ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทำให้เราเป็นจุดสนใจเพื่อที่คนที่มาล่วงละเมิดเราถอยออกไป อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราอยากให้คนได้ใช้สิทธิปกป้องตนเอง ในการเรียกร้องสังคมให้มาช่วยเหลือ ซึ่งในทุกๆเพศสามารถใช้สิทธิในการช่วยเหลือตนเองได้

ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือการอยู่ร่วมกันในสังคมมันเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องเคารพคุณค่าซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่กดขี่กับคนบางกลุ่มในสังคมเหมือเป็นชนชั้นล่างซึ่งมันไม่ใช่แบบนี้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งคนไทยจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเราจะต้องก้าวไปพร้อมๆกัน และดูและสิทธิซึ่งกันและกัน

“สงกรานต์ปีนี้ สสส. จึงเน้นย้ำเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ป้องกันลดอุบัติเหตุ ความรุนแรง มีสติ มีขอบเขตและการเคารพสิทธิ ปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 พื้นที่ ถนนตระกูลข้าวปลอดเหล้ากว่า 60 แห่ง โดยขอฝากทุกคนว่า “ดื่มไม่ขับ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการทำลายสมอง” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้สังคมต้องปกป้องผู้ถูกกระทำ

นายจะเด็ด เชาน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า  การคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในส่วนตัวเชื่อว่าทุกเพศโดนคุกคามกันหมด แต่สำหรับกลุ่ม LBGTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มที่เราเรียกว่า สาวสองในกลุ่มนี้ในสังคมจะมองว่าคนกลุ่มนี้จะโดนอย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นการมองแบบกดทับ เวลาทุกคนมองสาวสสองจะพุ่งกันไปแบบเต็มที่ โดยมีความรู้สึกว่า ทำไปแล้วไม่เป็นไรหรอก เพราะมองว่าเขาเป็นคนอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในส่วนตัวคิดว่าผู้ชายส่วนใหญ่คิดแบบนี้ มันเลยทำให้คนกลุ่มนี้โดนหนัก บางครั้งอาจมีกลุ่ม LBGTQ+ เป็นผู้กระทำ แต่กลุ่มนี้จะน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ชายเป็นผู้กระทำ

ทั้งนี้เราต้องเชื่อว่าปัญหาคุกคามทางเพศนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้จากการแต่งตัว ดังนั้นเมื่อเราถูกคุกคามทางเพศเราจะต้องรู้จักปกป้องตัวเอง เพราะมันไม่ใช่ความผิดของเรา การโทษว่าเป็นเพราะเราเองที่แต่งตัวไม่มิดชิดมันเป็นมายาคติที่ผิด ซึ่งมันมาจากความไม่เท่าเทียมกัน เราต้องมองว่ามันเป็นความผิดของคนที่มากระทำเรา และจัดการด้วยการไปแจ้งความ เล่นงานกลุ่มคนพวกนี้ เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อไม่ให้เขาไปทำกับคนอื่นต่อ เพราะฉะนั้นเราอยากให้เขาเปลี่ยนความเชื่อว่า การเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ควรแต่งตัวโป๊ แต่งตัวให้มิดชิด ปัญหามาไม่ได้จากการแต่งตัวโป๊ แต่มันมาจากการใช้อำนาจของผู้ชายของคนที่มีอำนาจเหนือกว่า กระทำกับเพศที่มีอำนาจน้อยกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ได้มันจะนำไปสู่การปกป้องตัวเอง ตนคิดว่ากลุ่ม LBGTQ+ เขาได้เห็นปัญหาต่างๆเหล่านี้แล้วเขาควรจะลุกขึ้นมาที่จะปกป้องตนเอง ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ปัจจุบันหากภาครัฐประกาศการบังคับใช้กฎหมาย รัฐต้องส่งสัญญาณให้ชัดว่าการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากเกิดเคสการคุกคามทางเพศ ต้องมีการพาไปแจ้งความ และทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจว่าเวลาไปเที่ยวแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา เราจะได้รับความคุ้มครอง  ไม่ต้องไปกลัวเพราะเรามีรัฐคอยดูแลเรา

ซึ่งหากเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้าแล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจให้ความช่วยเหลือ เราต้องต่อสู้ เช่น ถ่ายคลิป เพื่อประจาน หรือกระทุ้งเจ้าหน้าที่รับแจ้งความต่อหน่วยงานภาครัฐ เช่น แจ้งหน่วยงาน พม.ที่มีอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งเราต้องช่วยกันหลายๆทางเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำงาน

“ทุกวันนี้ความคิดของสังคมมันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่หลายคนจ้องไปที่สงกรานต์ว่าเราจะลวนลามใครได้ สังคมมองว่าเป็นเรื่องยอมให้กัน มองว่าสงกรานต์ปีเดียวจับแก้มกันไม่ได้เหรอ แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์มันเปลี่ยน หากเกิดเรื่องแบบนี้แล้วเราโวยวายขึ้นมาสังคมจะเข้ามาช่วย ตอนนี้สังคมมันเปลี่ยนถ้าเราลุกขึ้นมาสังคมจะมาช่วยเรา และไม่เข้าข้างคนผิด ส่วนของทางมูลนิธิฯเราจะต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ให้มากขึ้น” นายจะเด็ด กล่าว

หากวันนี้คนในสังคมลุกขึ้นมา ตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น และมีกรณีศึกษาที่ออกมาปกป้องตนเอง การคุกคามทางเพศมันจะค่อยๆลดลง เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ดีขึ้นแน่นอน และไม่ใช่วันสงกรานต์จะเป็นวันที่เราต้องถูกคุกคามทางเพศ

พม.ขานรับเล่นน้ำสงกรานต์เคารพสิทธิร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคีเครือข่าย ตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมายโดยเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องการเคารพ ให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างก็มีความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยกันสร้างกระแสให้สังคมร่วมกันผลักดัน และร่วมกันเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบกับปัญหาเหล่านี้ และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นถึงโทษของแอลกอฮอล์ ลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่าง ๆ และรณรงค์ต่อเนื่องในทุก ๆ วัน ไม่เฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login