วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

สานพลังพัฒนาแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” นวัตกรรมพลิกโฉมคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง

On June 8, 2023

สานพลังพัฒนาแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” นวัตกรรมพลิกโฉมคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง เชื่อมบริการรัฐแบบไร้รอยต่อ เน้นคุ้มครอง ป้องกันก่อนเกิดภัยคุกคาม ตั้งเป้าดำเนินการครอบคลุม 50 เขต 292 ศูนย์เด็กเล็ก 437 โรงเรียน กทม. ภายใน 5 ปี โดย “กทม. –สพร. – สสส. – สวน. – พม.”

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2566 ณ กรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” พร้อมเปิดตัว “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)” ต้นแบบแพลตฟอร์มเติมเต็ม ที่สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ในการคุ้มครองป้องกันเด็กตั้งแต่ระยะต้นน้ำ ตอบสนองต่อนโยบายขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แพลตฟอร์มเติมเต็ม เป็นกลไกการจัดการความรู้ที่เป็นต้นแบบของระบบข่ายงานให้บริการทางสังคม ร่วมกับชุมชน โดยทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และทำให้เกิด “ระบบและระเบียบวิธีการทำงาน” ในศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมฯ ที่ทดลองและทดสอบในพื้นที่ชุมชนฟื้นนครร่มเกล้า ระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบังมาแล้ว และจะดำเนินการทดสอบขยายผลให้ครอบคลุม 6 เขตใน 6 โซน ที่มีความพร้อมของกรุงเทพมหานครในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจะนำใช้ให้ครอบคลุม 50 เขต 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข 292 ศูนย์เด็กเล็ก 437 โรงเรียนสังกัด กทม. ในอีก 5 ปี นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) มีความสนใจจะบรรจุในแผน 5 ปี เป็นการจัดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ กับ สพร. สสส. สวน. เพื่อทดสอบการปรับใช้แพลตฟอร์มเติมเต็มในจังหวัดต่างๆทั้ง 4 ภูมิภาค 

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้แก่ พลังความรู้ พลังสังคมและพลังนโยบาย ซึ่งการพัฒนานวัตกรรม “ระบบเติมเต็ม” ช่วยพลิกโฉมบริการเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง  เป็นงานสำคัญที่ สสส. สานพลัง กทม. สพร. สวน.และ พม. เพื่อรับมือกับสังคมที่ผันผวนอย่างรุนแรง (VUCA) เนื่องจากงานวิจัยและการลงพื้นที่ พบว่า ภาวะเปราะบางของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ยังขาดมาตรการ วิธีการ เครื่องมือในการจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการขาดมาตรการเชิงรุกที่จะป้องกัน และคุ้มครองเด็กและครอบครัวที่เปราะบางก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ การทดสอบระบบเติมเต็มในพื้นที่ทดลอง หรือ Innovation Sandbox เป็นการเชื่อมโยงผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม เข้ามาจัดให้เกิดบริการร่วม (Shared Service) นำร่องใน กทม. เมืองหลวงที่ขึ้นชื่อเรื่องการกระจุกตัวของทั้งโอกาสและปัญหา ก่อนที่จะถอดบทเรียนขยายผลสู่พื้นที่อื่น นับเป็นก้าวสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทางของการพัฒนาสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Health) ตามพันธกิจของ สสส.

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ สพร. กล่าวว่า ภารกิจการขับเคลื่อนให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษที่ต้องให้สามารถเข้าถึงได้ และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การมีประเทศที่ดี หมายความว่า ประชาชนทุกคนมีสมาร์ทไลฟ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมีความทันสมัย หรือ สมาร์ทเนชั่น แนวคิดของการออกแบบแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” คือ การแบ่งปันข้อมูลให้เกิดการเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้จัดบริการทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข่าวสารกับผู้รับบริการ เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในทุกมิติร่วมกัน ซึ่ง สพร. พร้อมสนับสนุนวิทยาการดิจิทัล ยกระดับแพลตฟอร์มเติมเต็ม ให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ต่อไป

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ สวน. กล่าวว่า ความมุ่งหมายของแพลตฟอร์มเติมเต็ม ที่มีเครื่องมือดอกไม้ 4 มิติ สำหรับสื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง กับศูนย์บริการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครูศูนย์เด็กเล็ก ครูโรงเรียน ฝ่ายพัฒนาสังคมและสวัสดิการของเขต ให้ค้นพบและตระหนักในสถานการณ์ภัยคุกคามก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก และสามารถร่วมวางเป้าหมาย และกำหนดแผนขั้นตอนเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้พัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็นของเด็ก พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ข่ายงานทางสังคมระดับชุมชน และสื่อข่าวสารในรูปข่าวกรอง (Intelligence) ให้กับการจัดข่ายบริการในระดับเขตให้มีการปรับปรุงคุณภาพเท่าทันภาวะคุกคามที่เปลี่ยนไปในอนาคต ตลอดจนสื่อสารข้อจำกัดเชิงระบบขึ้นไปสู่คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กทม. ให้สามารถปรับใช้ข่าวสาร ความรู้และภูมิปัญญาจากประสบการณ์ในชุมชน เพื่อปรับนโยบายคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน


You must be logged in to post a comment Login