- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 10 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 11 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 11 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 11 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 1 day ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 5 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 6 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 7 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
ธุรกิจไม้สัก โดย ดร.สันติ วยากรณ์วิจิตร
คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 เม.ย. 66 )
ในการประเมินต้นไม้มีค่าสูง (มาก) เช่นไม้สักทอง เราพึงรู้ธรรมชาติของธุรกิจนี้ ในกรณีนี้บุคคลผู้มีความรอบรู้แท้ก็คือ ดร.สันติ วยากรณ์วิจิตร ผู้คร่ำหวอดกับวงการไม้สักมา 50 ปี
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้สัมภาษณ์ ดร.สันติ วยากรณ์วิจิตร ประธานกรรมการ บมจ.ซันวู้ดอินดัสทรีส์ และบริษัทในเครือ โดยท่านให้ความกรุณาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 ณ คฤหาสน์บ้านเกาะของท่านในหมู่บ้านการ์เดนโฮมวิลเลจ ลำลูกกา ปทุมธานี
เกี่ยวกับ ดร.สันติ วยากรณ์วิจิตร
ดร.สันติ วยากรณ์วิจิตร อยู่ในวงการไม้สักทั้งไทยและพม่ามากกว่า 60 ปี ตั้งแต่อายุ 22 ปี ปัจจุบันท่านอายุ 86 ปี (เกิด พ.ศ.2480) เป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ มีประสบการณ์เกี่ยวกับไม้มาตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา ต่อมาทำธุรกิจชื้อขายไม้สักจากทั้งสองประเทศ และขายไปทั่วโลก หลังปิดป่าจากนโยบายของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2531 ก็ได้นำเข้าไม้สักจากพม่ามาประเทศ ท่านเคยมีโรงงานไม้ 9 แห่งโดยเป็นที่มัณฑะเลย์ 1 แห่ง และย่างกุ้ง 2 แห่ง และยังมีโรงเลื่อย โรงงานทำพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineering Parquet) โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานไม้ยางพาราที่สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ดร.สันติ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์) จบหลักสูตร Director Certification Program
(DCP) หลักสูตรสำหรับกรรมการบริษัท (มหาชน) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และยังได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ท่านเคยเป็นนายกสมาคมโรงเลื่อยจักร และนายกสมาคมไหหลำแห่งประเทศไทย เคยร่วมแปลหนังสือ “ประวัติการอพยพของชนชาวจีนไหหลำ” (https://bit.ly/43BwA03) ขณะนี้ท่านยังเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)
คนจีนไหหลำในไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำไม้มากกว่าคนจีนอื่น เพราะคนจีนไหหลำมักทำงานอยู่ในบ้านของ “นายฝรั่ง” และฝรั่งในสมัยนั้น (คงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5) มักทำไม้ในประเทศแถบนี้ คนจีนไหหลำจึงเป็นผู้ช่วยเรื่องการทำไม้ ได้ซึมซับเรียนรู้ สามารถเลื่อยไม้เป็น จึงได้มาประกอบธุรกิจทางด้านนี้ และเมื่อคนจีนไหหลำอพยพมาไทย ก็มักจะชักชวนกันมาทำธุรกิจค้าไม้ ไม้แปรรูปและอื่นๆ ที่เกี่ยวกับไม้เรื่อยมา
ว่าด้วยไม้สัก
บจก.โรงเลื่อยจักรเสริมวงศ์ ระบุว่า “สักทอง เนื้อไม้จะมีสีเหลืองทอง ส่วนใหญ่พบในป่าโปร่งชื้น ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ การแตกของเปลือกเช่นเดียวกับสักหยวก อยู่ในที่ที่แห้งชื้น เรือนยอดสมบูรณ์ ใบมีขนาดกลาง เนื้อไม้จะเป็นเส้นตรง ผ่าง่าย มีความแข็งแรกกว่าสักหยวก สีเข้ม เป็นสีน้ำตาลเหลือง หรือที่เรียกกันว่าสีทอง ในบรรดาไม้สักทั้ง 5 ชนิด ไม้สักทองได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้” หรือ “Queen of Timbers” เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทยและประเทศไทย” (https://bit.ly/3zWHcZR)
ไม้สักมีอยู่ในหลายประเทศ ทั้งอาฟริกา เอเชีย แต่ไม้สักที่มีคุณภาพดีอยู่ที่อินเดีย ต่อมาอังกฤษตัดไม้สักอินเดียจนแทบหมด จึงมาล่าอาณานิคมต่อที่เมียนมาร์และทำไม้สัก โดยไม้สักของเมียนมาร์ดีที่สุด เป็นไม้สักทอง รองลงมาก็คือไทย แต่ก็ยังมีที่ลาวและกัมพูชา แต่คุณภาพอาจด้อยกว่า ไม้สักที่ดีขึ้นอยู่กับพันธุ์ และดินฟ้าอากาศ โดยส่วนมากมักอยู่บนภูเขา ในที่สูง เช่น 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป สมัยก่อนการทำไม้ในไทย ข้าราชการระดับสูงยังไปศึกษาเทคนิคการทำไม้ที่เมียนมาร์ โดยผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงและสอนจริงก็คือชาวอินเดียที่ทำงานกับบริษัททำไม้ของอังกฤษ เช่น บริษัท East Asiatic, Borneo และ Louis T. Leonowens เป็นสำคัญ ในประเทศไทย บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ทำป่าไม้สัก ได้แก่ บริษัท Bombay Burma ของคนอังกฤษ มีโรงเลื่อยอยู่แถวสำเหร่ฝั่งธนบุรี
ขนาดไม้ที่สมควรตัดนั้น พึงวัดขนาดเส้นรอบวงประมาณ 150 เซนติเมตรที่ความสูงประมาณรอบอกของคนเรา (ที่ประมาณ 130 เซนติเมตร) จึงจะกานไม้ ไม้สักที่ควรจะตัดมาขายในขณะนี้ ควรมีอายุ 50 ปี โดยมีเส้นรอบวงประมาณ 120-150 เซนติเมตร แต่หากมีอายุ 30 ปี ก็จะมีเส้นรอบวงเพียง 80-100 เซนติเมตร ยังไม่ควรตัด แต่ก็มีผู้ตัดมาขายเช่นกัน
ก่อนตัดต้นสัก มักทำการ “กานไม้” คือ การทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายเพื่อให้ต้นไม้แห้งและมีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการขนส่งและการใช้ประโยชน์เนื้อไม้ วิธีกานไม้โดยใช้มีดหรือขวานฟันเปลือกรอบลำต้นให้เป็นแถบกว้างลึกบางทีอาจลึกเข้าไปถึงเนื้อไม้ ซึ่งในชั้นเปลือกไม้จะประกอบด้วยเนื้อเยื่อเจริญของเปลือก (Cork Cambium) ท่อลำเลียงอาหาร (Phloem) เนื้อเยื่อเจริญของท่อน้ำและท่ออาหาร ชั้นเนื้อไม้ประกอบด้วยท่อน้ำ (Xylem) (https://bit.ly/3GIa0Js)
ไม้สักกานแล้ว 3 ปีก่อนตัดไม้ จะเป็นไม้แห้ง (Dry Logs) ส่วนไม้ที่ไม่ได้กาน แต่ตัดเลยจะเป็นไม้สด หรือ (Green Logs) ไม้ที่ผ่านการกานไม้แล้ว จะมีน้ำหนักเบากว่า สามารถลอยน้ำได้ โดยในสมัยก่อนจะนำไม้จากภาคเหนือมาผูกเป็นแพแล้วล่องมาตามแม่น้ำถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ ซึ่งกลายมาเป็นตลาดซื้อขายไม้ในสมัยก่อนที่ถนนและทางรถไฟจะเจริญ แต่ในปัจจุบันมี “หมอนไม้” หรือ “อู่ไม้” (ตลาดซื้อขาย) อยู่ที่บางปะอินและปากเกร็ด อย่างไรก็ตามหากไม่กานไม้ก็จะเป็น Green Teak ซึ่งเป็นไม้สด ไม่แห้งและจะจมน้ำ ต้องมีลูกบวบผูกไว้เพื่อให้ไม้ลอยขึ้นก่อนล่องมาตามแม่น้ำ ไม้ที่กานแล้วใน 1 ลูกบาศก์เมตรจะมีน้ำหนัก 800-900 กิโลกรัม ในขณะที่ Green Teak จะมีน้ำหนัก 1,300 กิโลกรัม
การทำไม้สัก
การทำไม้สักทองในเมียนมา ต้องผ่าน Myanmar Timber Enterprise (MTE: www.mte.com.mm) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการควบคุมการทำไว้ ดร.สันติ คุ้นเคยกับกรรมการผู้จัดการของที่นี่ในสมัยทำไม้ในเมียนมาร์ ตั้งแต่สมัยนายพลเนวินเป็นประธานาธิบดีเนวินที่ครองอำนาจมายาวนาน แม้หลังยุคเนวินก็ยังสามารถทำไม้ในเมียนมาร์ได้โดยได้รับสัมปทานถึง 2 ป่าใกล้ชายแดนไทยตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ในเขตของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง โดยต้องจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาลเมียนมาร์และจ่ายให้กับกะเหรี่ยงด้วย
ในการตัดไม้ ต้องทำบัญชีให้ MTE ตรวจสอบ โดย ดร.สันติทำไม้โดยไม่ลอบเข้ามาตัดไม้ในฝั่งไทยบริเวณชายแดนอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหากระทบกระทั่งทางการเมือง โดยสั่งให้ “ลูกช่วง” หรือผู้รับเหมาตัดไม้ให้คุณสันติถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด สัมปทานตัดไม้ในเมียนมาร์มีกำหนด 5 ปี เมื่อทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงปี 2531-2535 แล้ว ดร.สันติก็ไม่ได้ไปขอสัมปทานตัดไม้เมียนมาร์ มีแต่การสั่งซื้อไม้มาใช้สอยในไทยหรือส่งออกไปต่างประเทศเพราะช่วงนั้นประเทศไทยเริ่มมีนโยบายการปิดป่า
ไม้สักที่ไม่สมบูรณ์เป็นอย่างไร
ว่ากันว่าไม้สักก็เหมือนเพชร อาจมีราคาหลักร้อยถึงหลักแสนขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ ไม้สักที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งทำให้มูลค่าลดลงจากที่ควรจะเป็นนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ความไม่สมบูรณ์ที่มองเห็นได้ (Visible Defects) หมายถึงไม้ที่มีรู อันเนื่องมาจากหนอนผีเสื้อเจาะต้นสัก (Teak Beehole Borer) หรือไม้ที่มีตาไม้ (Knot) ไม่มีตำหนิรอยนูน ลักษณะลำต้น (Conformation) ไม่ตรง เป็นต้น
2. ความไม่สมบูรณ์ที่มองไม่เห็น (Invisible Defects) เช่น ไม้ที่มีโพรง (Heart Hole) สีไม้ ลายไม้ เป็นต้น ทั้งนี้อาจยกตัวอย่างเปรียบเทียบในกรณีสักทองกับสักขี้ควาย โดย “สักทอง เนื้อไม้จะมีสีเหลืองทอง. . .ไม้สักทองได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้” หรือ “Queen of Timbers” เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกที่ธรรมชาติมอบให้แก่คน. . . (ส่วน) สักขี้ควาย เนื้อไม้จะออกสีคล้ำ. . .เมื่อโค่นลงมาเลื่อยดู ก็จะเห็นได้ชัดว่า เนื้อไม้จะมีสีเขียวปนน้ำตาลแก่ หรือ น้ำตาลอ่อน” (https://bit.ly/3MJ5WMJ)
ในพื้นที่ป่าไม้สักหรือสวนป่า เราจะทราบคุณภาพไม้ว่าดีมากหรือน้อยเพียงใด ก็ต้องสุ่มตัวอย่างในพื้นที่หนึ่ง เช่น ในป่าขนาด1,000 ไร่ ก็อาจสุ่มตัวอย่างประมาณ 30 ไร่ หรือ 30 ตัวอย่างเป็นอย่างน้อย หรือหากกำหนดไว้ที่ 3% – 5% ก็อาจสุ่มในพื้นที่ 30 – 50 ไร่ เป็นต้น (https://bit.ly/3mAX55g) ทั้งนี้ในพื้นที่ 1 ไร่ ก็อาจไม่ได้มีไม้จำนวนมากนักที่จะเกินกว่าการสำรวจ เพราะการปลูกไม้สักมักปลูกห่างกัน 5 เมตร และมีการตัดแต่ง (Trimming) โดยไม้สักที่มีขนาดเล็กกว่าต้นอื่นๆ ก็อาจตัดออกไป เป็นต้น
ตลาด-ราคาไม้สัก
ในปัจจุบัน อ.อ.ป. มีการปลูกป่าที่กาญจนบุรี และจังหวัดในภาคเหนือ และในไทยก็ยังมีสวนป่าเอกชนโดยรวมตัวกันเป็นสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน ในขณะนี้ตลาดไม้สักก็ยังมีในจีน อินเดีย และประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพียงแต่มีอุปทานไม้ที่จำกัดในประเทศไทย ไม้สักที่เลื่อยที่เป็นเส้นตรงด้านกว้างของไม้กระดาน (Quarter Sawn) ที่เขานำไปทำไม้ดาดฟ้า (Teak Decking) ของเรือยอร์ช และเรือโดยสารขนาดใหญ่ทั้งนี้เลื่อยจากไม้ต้นสักขนาดใหญ่ต้นกลมและตรงเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไม้ที่จะขายได้ ต้องมีใบรับรอง FSC (Forest Stewardship Council: https://bit.ly/3zWC48j) ว่าไม้ดังกล่าวไม่ได้เป็นไม้ที่ลอบตัดมาอย่างผิดกฎหมาย สำหรับตลาดพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ที่คึกคักในช่วงก่อน (ตั้งแต่ปี 2545) ในขณะนี้อาจซบเซาเพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศจีนได้
อ.อ.ป.มีราคาไม้สักจาก “ตารางกำหนดราคาจำหน่ายไม้สักสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้” (https://bit.ly/415RYZK) นอกจากนี้ยังมีประกาศ อ.อ.ป.ในการประมูลขายไม้สักท่อน เช่น “ประกาศ ออป. เขตตาก ครั้งที่ 13/2566 เรื่อง ประกาศประมูลจำหน่ายไม้สักท่อน ที่ทำออกจากพื้นที่สวนป่าเชียงทอง แปลงปี 2526-9001-1งวดที่ 3 แบบตลาดกลางค้าไม้” หรืออื่นๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/43vCcsO
ดร.สันติให้ความเห็นว่าราคาของ อ.อ.ป.นั้นเป็นราคาไม้ที่ตัดเสร็จแล้ว หากเป็นต้นสักในป่าหรือสวนป่า ก็อาจาจมีราคาเพียง 50% ของไม้ท่อน เพราะกว่าจะได้ไม้ท่อนมาต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มา
ข้อเสนอแนะในการปลูกป่า
ดร.สันติเสนอให้
1. ปลูกป่าสักในพื้นที่เขาหัวโล้นทั้งหลาย เพราะอยู่ในที่สูงเหมาะกับต้นสัก เป็นการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าได้ด้วย
2. ในการทำไม้ สมควรปลูกป่าทดแทนเพื่อให้มีไม้ไว้ใช้ในอนาคต และเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งหมายถึง “สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ก๊าซต่างๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้” (https://bit.ly/3o8xSPX)
3. ควรเป็นวาระแห่งชาติในการนำสวนป่าเข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น ในประเทศบราซิลและประเทศคอสตาริกา และให้นำไม้มาเป็นหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในวงการสวนป่า ในนิวซีแลนด์ก็มีสหกรณ์สวนป่าสนภาคเอกชน โดยรัฐบาลก็ให้การสนับสนุน ฟินแลนด์ก็เช่นกัน และยังสามารถต่อรองกับโรงงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทมหาชนดังกล่าวพึงมีนักวิชาการหลายแขนง เช่น การเงิน การตลาด การป่าไม้ ทำให้วงการไม้ของไทยเป็นที่น่าเชื่อถือในระหว่างประเทศ
ข้อเสนอแนะของ ดร.สันติจะเป็นจริงหรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองของประเทศไทยของเรา โดยมีผู้เกี่ยวข้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดัน
You must be logged in to post a comment Login