วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

รพ.จิตเวชเลยฯปรับโฉมบริการใช้“ผ้าขาวม้า”ตัดชุดผู้ป่วยสร้างความกลมกลืนวัฒนธรรมพื้นถิ่น

On September 17, 2018

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยนายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ จ.เลย เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายในปีงบประมาณ 2561

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมพบว่าขณะนี้โรงพยาบาลจิตเวชเลยฯได้ปรับเปลี่ยนโฉมบริการตามนโยบายทั้งด้านสถานที่ สิ่งแวดล้อมมีความเป็นมิตรให้เกียรติผู้ป่วยและญาติทุกจุดบริการ ให้การดูแลผู้ป่วยแบบวีไอพี  เนื่องจากเป็นผู้เจ็บป่วยทั้งกายและใจ  ลดขั้นตอนบริการทำให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เร็วขึ้น โดยเฉพาะที่แผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉิน  ผู้ป่วยต่อรายใช้เวลาตรวจรักษาจนกระทั่งรับยากลับบ้านเฉลี่ย 100  นาที   ในส่วนของการดูแลรักษาผู้ป่วยในซึ่งมีวันละประมาณ 180 คน ล้วนมีอาการรุนแรงและซับซ้อนที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่8 จำนวน4 จังหวัด คือ เลย หนองบัวลำถู อุดรธานี และหนองคาย และส่วนหนึ่งเป็นชาวสปป.ลาวจากแขวงไชยบุรีได้ปรับเปลี่ยนชุดของผู้ป่วย เป็นชุดลายผ้าขาวม้า สอดคล้องกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นการลดการสร้างตราบาปผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างดี และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นเสมือนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตามปกติ

ในส่วนของมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย เน้นอย่างครบวงจรทั้งการรักษาด้วยยาโดยได้เปิดศูนย์การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electro Convulsive Therapy)เพื่อปรับระบบการทำงานของสมอง ซึ่งใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยโรคทางจิตโรคซึมเศร้า  โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติทำร้ายตัวเอง ผู้ป่วยทุกรายหลังอาการทางจิตสงบจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณจากทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติมากที่สุด จากการติดตามผลพบว่าผู้ป่วยที่กลับไปอยู่บ้านไม่ก่อความรุนแรงซ้ำหลังรักษาภายใน1 ปีร้อยละ 99.72 ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดสามารถหยุดเสพหลังบำบัดรักษาได้ต่อเนื่อง 3 เดือนสูงถึงร้อยละ 98

ทางด้านนายแพทย์อาทิตย์  เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ กล่าวว่า  แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยมาใช้บริการที่โรงพยาบาลจิตเวชเลยฯมีมากขึ้น  ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชจากแขวงไชยบุรี สปป.ลาว ข้ามมาใช้บริการด้วยมีประมาณร้อยละ 2 ในปี 2561 มีผู้ป่วยนอกใช้บริการจำนวน 35,689  คน  ผู้ป่วยในพักรักษาตัว 2,506 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปี2556 ร้อยละ 60 ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยได้เน้นกิจกรรมเพื่อเพิ่มสมาธิให้ผู้ป่วยและขยายให้มีอาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยมีงานหรือกิจกรรมทำต่อเนื่อง สร้างความภาคภูมิใจตนเอง และลดภาระครอบครัว  เช่น จักสานตะกร้า ทำถุงผ้าใช้แทนถุงพลาสติก เพื่อลดโลกร้อน ทำแชมพูสระผมจากสมุนไพรขมิ้นชัน ดอกอัญชันที่มีในท้องถิ่น  ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่โดยใช้เงินจากมูลนิธิผู้ป่วยจิตเวชเป็นทุนอุดหนุนในรายที่มีฐานะยากจน   ปัจจุบันมีผู้ป่วยจิตเวชมีรายได้จากการขายไข่จำนวน 5 คน เฉลี่ยเดือนละ 3,000  บาท และมีทีมเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง  ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถอยู่ในชุมชนโดยไม่กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำ

12

13

14


You must be logged in to post a comment Login