วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

เลือก ‘เผด็จการ’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’?

On May 10, 2018

โดนไปบ่นไป “เลือก ‘เผด็จการ’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’?”

โดย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 11-18 พฆฤษภาคม 2561)

ข่าวคราวการเมืองในช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่อง “ดูด” เพราะไม่ว่าจะหันไปทางวงการไหนก็มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และให้ความสนใจแต่เรื่อง “ดูด” นั่นก็หมายความว่ายังมีคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า “พลังดูด”​ มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  ในขณะเดียวกันกับที่บางฝ่ายกลับ “ไม่ให้” ความสำคัญหรือให้ “ราคา” กับเรื่องดังกล่าว

ผมเองน่าจะเป็นลูกครึ่ง  เพราะจะว่าไม่ให้ราคาเลยก็ไม่ได้  แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนใจติดตาม “พลังดูด” อย่างใกล้ชิดแต่อย่างใด  เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่ฝ่ายเผด็จการกำลังทำอยู่เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะอ้าแขนเชื้อเชิญใครก็ตามให้ไปร่วมอุดมการณ์กับฝ่ายที่เชื่อมั่นและศรัทธากับการ “รัฐประหาร”

aa

 

และผมก็เชื่อว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของนักการเมืองหรือใครก็ตามที่เชื่อมั่นและศรัทธากับฝ่ายเผด็จการที่จะขอเข้าไปร่วมอุดมการณ์ของฝ่ายการเมืองที่ได้รับอำนาจรัฐมาจากการรัฐประหาร  เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านี้  ประเทศไทยของเราคงไม่ถูก “แช่แข็ง” มากว่า 4 ปีแล้วอย่างแน่นอน

การแบ่งแยกอุดมการณ์กันอย่างชัดเจนเช่นนี้อาจจะดีกับการตัดสินใจของประชาชนด้วยซ้ำไป  เพราะสามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าพรรคการเมืองไหนเป็นฝ่าย “เผด็จการ” และพรรคการเมืองไหนเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย”

แม้ทุกพรรคการเมืองจะต้องประกาศเจตนารมย์ว่าตนเองเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนกันหมดทุกพรรคก็ตาม  แต่พรรคการเมืองที่พยายามจะตอบสนองการสืบทอดอำนาจของคสช. ย่อมไม่สามารถซ่อนความจริงในกรณีนี้ได้

ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่พึ่งตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมกับฝ่ายเผด็จการในตอนนี้ หรือบางพรรคการเมืองที่ช่วยกัน “หามเสลี่ยงให้เผด็จการนั่ง” ตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ

พฤติกรรมอีแอบประเภท“เกลียดตัวกินไข่เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” แบบนี้ผมเชื่อว่าไม่รอดพ้นสายตาของคนไทยทั้งประเทศอย่างแน่นอน

การกระทำทั้งหลายย่อมอยู่ในความทรงจำของประชาชนและประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดจะเป็นผู้ตัดสินใจ เองว่า  เขาจะเลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์อย่างไร!

เปิดหีบเมื่อไหร่นั่นแหละถึงจะรู้ว่า “เผด็จการ” กับ“ประชาธิปไตย” ใครจะอยู่หรือใครจะไป?

ดังนั้น ปล่อยให้เขามีสิทธิเสรีภาพในการ “ดูด” ได้อย่างสะดวกราบรื่นไปเถอะครับ  เพราะผมไม่เชื่อว่านักการเมืองที่ชอบ “ถูกดูด” จะสามารถคว้ามือของประชาชนให้ไปกาบัตรเลือกตัวเองได้  ตราบใดก็ตามที่การตัดสินใจเลือกตัวแทนของประชาชนยังคงเป็นหน้าที่ของพวกเราและทุกคนยังต้องกาบัตรด้วยตัวเองเท่านั้น

มีคนจำนวนไม่น้อย  รวมทั้งนักวิชาการบางท่านเปรียบเทียบห้วงเวลานี้ว่า  เหมือนกับที่สมัย รสช. เรืองอำนาจ  เพราะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยกลุ่มการเมืองต่างๆหรือทาบทามพรรคการเมืองทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เข้าไปเป็นแนวร่วมเพื่อหวังให้ “บิ๊กฝ่ายเผด็จการ” ได้สืบทอดอำนาจอย่างชอบธรรมต่อไป

โดยสูตรสำเร็จคือการรวมเสียงข้างมากในสภาเพื่อสนับสนุนฝ่ายเผด็จการให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” โดยได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชนนั่นเอง

ถ้าดูเผินๆการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ถ้าวัดความชอบธรรมของเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมาแล้ว  การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี 2535 ที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในเวลาต่อมายังดูว่ามีความชอบธรรมมากกว่ากติกาในการเลือกตั้งที่จะมีต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้เสียอีก

เพราะการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปี 2535 พรรคสามัคคีธรรมซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในขณะนั้น ได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองอื่นๆให้ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและมีสาเหตุเดียว(จริงๆ)ที่ประชาชนออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลหลังจากบริหารประเทศได้แค่เดือนเดียวนั่นก็คือการเลือกเอา“คนนอก” เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ (ถ้ามี) หากยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นกติกาในการเลือกตั้ง  เราจะพบว่ามีสมมติฐานมากมายหลายประเด็นที่ส่อได้ว่าจะกลายเป็นสาเหตุแห่งความวุ่นวาย

เริ่มตั้งแต่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดอาจไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทันทีหลังจากผลการเลือกตั้งปรากฏแก่สาธารณะ

เพราะรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากคสช. เนื่องจากอำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริงยังไม่ตกอยู่กับตัวแทนของประชาชน  แต่ยังคงตกอยู่ในมือของ “ซูเปอร์บอร์ด” และกลไกต่างๆที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น พรรคการเมืองที่ต้องการเป็นรัฐบาลและสามารถใช้อำนาจบริหารได้อย่างราบรื่นจึงต้องเลือกที่จะสวามิภักดิ์กับ“ฝ่ายเผด็จการ” เท่านั้น

ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่มีความประสงค์จะขับเคลื่อนนโยบายดีๆให้กับพี่น้องประชาชน  หากไม่ยอม “เปลี่ยนลายเปลี่ยนสี” ก็เป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่และคงต้องยอมรับสภาพการเป็น “ฝ่ายค้าน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่ยังไม่นับมือของสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 เสียง ที่เก็บเอาไว้เป็น “หมัดเด็ด” เพื่อ“น็อคเอ้าท์” ฝ่ายประชาธิปไตยได้อีกทุกที่ทุกเวลาที่ปรารถนา

ดังนั้น ผลลัพธ์ของการฟอร์มรัฐบาลที่จะออกมาหลังเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มสูงที่จะไม่เป็นไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่และอาจไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นได้

ผมเองเชื่อมั่นและศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขมาโดยตลอด  แม้ว่า “ประชาธิปไตย” อาจจะไม่ใช่การปกครองที่สมบูรณ์พร้อมในทุกมิติ  แต่ก็ถือว่า “ดีที่สุด” เท่าที่มีการใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

คำว่า “ดีที่สุด” หมายถึง “ดีที่สุด” กับ“คนส่วนใหญ่” ของประเทศ  ดังนั้น การใช้กฎหมายเพื่อบิดเบือนหรือสร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายเผด็จการและฝ่ายที่นิยมเผด็จการ  ซึ่งเป็นเพียง “เสียงส่วนน้อย” จึงเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะจุดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาได้อีกครั้ง

aa2

สมมติฐานของผมจะ “ผิด” ในทันที  ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนฝ่ายเผด็จการ​ ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย  เพราะถ้าเสียงส่วนใหญ่เลือกแบบนั้น  ฝ่ายประชาธิปไตยต้องน้อมรับผลการตัดสินใจดังกล่าวอย่างแน่นอน

แต่ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกและยืนเคียงข้างพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ   สมมติฐานของผมก็มีโอกาส “เป็นจริง” ขึ้นมาทันที

เพราะผมเชื่อว่า ฝ่ายเผด็จการจะใช้อิทธิพลและกลไกต่างๆทุกวิถีทางเพื่อการสืบทอดอำนาจของตนเองและพวกพ้องต่อไปและจะไม่ยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน

และเมื่อถึงเวลานั้นคงต้องดูกันต่อไปว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” จะยอมให้ฝ่ายเผด็จการกดขี่ข่มเหงต่อไปอีกหรือไม่?  และถ้าไม่ยอมจะเกิดอะไรขึ้น!!!

aa3

การเลือกตั้งครั้งต่อไปนี้จากนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะไม่ใช่แค่การ “เลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ชอบ” เหมือนกับการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนคนไทยต้องเลือกแล้วว่าจะตัดสินใจเลือกใครระหว่าง “เผด็จการ” กับ“ประชาธิปไตย”

ผมเชื่อว่ามีแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้นจริงๆ


You must be logged in to post a comment Login