วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ไวรัลคลิป / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On January 22, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้างเหมือนการกระจายตัวของเชื้อไวรัส การแพร่กระจายตัวนี้จึงถูกเรียกว่า “ไวรัล” ซึ่งกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุคต้นๆของโลกโซเชียลมีเดีย

หลายคนคงเคยเห็นไวรัลคลิปสั้นๆความยาว 26 วินาที เป็นภาพชายร่างใหญ่คนหนึ่งนั่งทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในคอก ทันใดนั้นเขาก็แสดงอาการเกรี้ยวกราดทุบตีจอมอนิเตอร์และแป้นคีย์บอร์ดอย่างแรงจนเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในคอกติดๆกันลุกขึ้นชะโงกดูว่าเกิดอะไรขึ้น

หลังจากนั้นเขาใช้แป้นคีย์บอร์ดฟาดลงไปที่จอมอนิเตอร์จนกระเด็นตกจากโต๊ะ ก่อนจะลุกจากเก้าอี้ตามไปเตะจอมอนิเตอร์ที่กลิ้งอยู่บนพื้นอีก 2-3 ครั้ง คลิปดังกล่าวมีชื่อว่า Bad Day (หรือ Badday) ซึ่งยังคงมีให้เห็นในยูทูบ โดยตั้งแต่คลิปนี้ถูกแชร์ออกไปในโลกโซเชียลมีเดียเป็นครั้งแรก หลายคนก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นและเป็นเรื่องจริงหรือไม่

คลิป Bad Day เริ่มแพร่กระจายออกไปในโลกโซเชียลมีเดียราวปี 1997 แต่โซเชียลมีเดียในยุคสมัยนั้นไม่ใช่การใช้แอพฯไลน์หรือเฟซบุ๊คเหมือนในปัจจุบัน เพราะสมัยนั้นแอพฯประเภทไลน์และเฟซบุ๊คยังไม่เกิด เป็นการส่งต่อคลิปด้วยอีเมล์ จึงไม่ได้เป็นกระแสในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลานานนับปีถึงจะแพร่ระบาดออกไปทั่วประเทศ

ดังไม่รู้ตัว

ชายที่ปรากฏในคลิปชื่อ วินนี่ ลิกเซียร์ดิ ทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดส่ง บริษัท Loronix ตั้งอยู่ที่เมืองดูแรนโก รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่เกิดเหตุคือคอกทำงานของเขาที่บริษัท เพียงแต่ว่าเหตุการณ์นี้เป็นการจัดฉากเท่านั้น

วินนี่ไม่รู้ตัวว่าเขากลายเป็นคนดังไปแล้ว จนกระทั่งเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งบอกเขาว่าเห็นคลิปดังกล่าวในรายการข่าว MSNBC และต่อมาในปี 1998 สำนักข่าว CNN ก็นำเสนอคลิปนี้ในช่วงหนึ่งของรายการเช่นเดียวกัน

บริษัท Loronix ผลิตและจำหน่ายระบบกล้องวงจรปิด ปีเตอร์ แจนโคว์สกี้ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี ต้องการสร้างคลิปวิดีโอสั้นๆเพื่อส่งให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในสำนักงาน

แรกเริ่มเดิมทีนั้นปีเตอร์เขียนบทให้วินนี่แสดงเป็นพนักงานขี้โกง แอบขโมยสินค้าในโกดัง แต่วินนี่ออกความเห็นว่าเขาอยากเล่นเป็นพนักงานอารมณ์ร้ายมากกว่า ปีเตอร์เห็นด้วยโดยทันที เขาจัดแจงหาจอมอนิเตอร์และคีย์บอร์ดที่เสียแล้วมาเป็นเครื่องประกอบฉาก จอมอนิเตอร์ที่เห็นในคลิปมีแต่โครง จอภาพถูกถอดออกเพื่อความปลอดภัยของนักแสดง คลิปนี้ถ่ายทำ 2 ครั้ง เนื่องจากครั้งแรกนักแสดงหัวเราะทำให้ใช้ไม่ได้

แฟนเพจ

คลิปนี้ถ่ายทำด้วยกล้องวิดีโอระบบอนาล็อกเพราะในสมัยนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตอล ไฟล์ที่ได้ถูกนำมาแปลงเป็น MPEG-1 เพื่อใช้สำหรับเปิดด้วยโปรแกรม Windows Media Player ซึ่งเป็นโปรแกรมดูวิดีโอที่นิยมใช้กันมากที่สุดในสมัยนั้น คลิปมีความละเอียด 352×240 พิเซล เทียบเท่าความละเอียดของ VCD

คลิปถูกนำมาบันทึกลงบนแผ่น CD แนบไปคู่กับแผ่นพับโฆษณาสินค้าของบริษัท Loronix ส่งให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้นพวกเขาก็ลืมเรื่องนี้ไปเลย จนกระทั่งมีคนก๊อบปี้ไฟล์คลิปส่งต่อๆกันทางอีเมล์จนไปถึงมือสำนักข่าวหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น CNBC, CBS, LAWEEKLY, The Wall Street Journal และ CNN

คลิป Badday.mpg มีขนาด 5 MB ถูกส่งต่อๆกันผ่านทางอีเมล์จนทำให้เซิร์ฟเวอร์บริษัทหลายแห่งล่ม ยุคสมัยนั้นไฟล์ขนาด 5 MB ถูกจัดว่าเป็นไฟล์ขนาดใหญ่มาก บริการฟรีอีเมล์สมัยนั้นให้เนื้อที่แค่ 2 MB หากต้องการใช้พื้นที่มากกว่านี้จะต้องเสียเงินซื้อ ผู้ที่จะส่งคลิปนี้จึงใช้อีเมล์ของบริษัท ซึ่งให้พื้นที่เก็บไฟล์มากกว่าฟรีอีเมล์

ความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็มีปัญหา เพราะสมัยนั้นยังคงใช้อินเทอร์เน็ตระบบไดอัลอัพโมเด็ม โดยทั่วไปมีความเร็วการส่งข้อมูลอยู่ที่ 14.4k ซึ่งช้ากว่าระบบไฟเบอร์ออพติกที่เราใช้กันในปัจจุบันหลายพันเท่า การส่งไฟล์ขนาด 5 MB ต้องใช้เวลานานกว่า 20 นาที

นักพัฒนาเว็บไซต์ เบนวา ริกูด ได้รับคลิป Badday.mpg ทางอีเมล์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เขาให้ความสนใจกับคลิปนี้เป็นพิเศษ เบนวาเคยทำงานที่ CERN องค์กรก่อตั้ง World Wide Web เมื่อปี 1989 หรือระบบเว็บไซต์เชื่อมต่อกันทางอินเทอร์เน็ตที่เราเล่นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเขายังคงสามารถเข้าไปใช้เซิร์ฟเวอร์ของ CERN ได้

เบนวาสร้างเพจแฟนคลับ Bad Day และนำคลิป Badday.mpg ต้นฉบับขนาด 5 MB ไปวางบนเซิร์ฟเวอร์ของ CERN เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้โดยไม่ต้องส่งต่อกันผ่านทางอีเมล์อีกต่อไป เบนวาวิเคราะห์คลิปอย่างละเอียดเฟรมต่อเฟรมแล้วสรุปว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นคลิปที่ถูกจัดฉาก

นักสืบโซเชียล

หลังจากดูคลิปเบนวาเกิดข้อสงสัยหลายอย่าง ทำไมชายในคลิปจึงโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงขนาดนั้น ทำไมเขาถึงเอาคีย์บอร์ดทุบจอมอนิเตอร์แทนที่จะเป็นตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ เหตุเกิดที่ไหน? แต่เดี๋ยวก่อน ดูเหมือนชายคนนี้หันมามองกล้องแวบหนึ่ง หรือว่ามันเป็นคลิปจัดฉาก?

เบนวาพิจารณาคลิปทีละเฟรมๆและขยายภาพเพื่อดูรายละเอียด เขาพบว่าแป้นคีย์บอร์ดไม่ได้ต่อสาย ที่น่าสงสัยอีกอย่างคือคลิปนี้มีเสียง ในสมัยนั้นหลายรัฐในอเมริกามีกฎหมายว่าต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถูกบันทึกเสียงหรือได้รับอนุญาตจากรัฐบาลก่อนจึงจะสามารถบันทึกเสียงได้ แต่ภาพไม่ต้องขออนุญาต มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นคลิปจัดฉากแน่นอน

เบนวาพบว่าชายในคลิปนอกจากมองมาที่กล้องแล้วเขายังแสยะยิ้มอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นตอนที่ชายคนนี้หันหน้าไปมองเพื่อนร่วมงาน เพื่อนของเขาก็แสยะยิ้มออกมานิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นคลิปจัดฉากล้านเปอร์เซ็นต์

หลังจากเปิดเว็บไซต์แฟนเพจ Badday ได้ไม่นาน เบนวาก็ได้รับอีเมล์จากวินนี่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1998 มีใจความว่า “ขอบคุณที่ทำแฟนเพจให้ ผมอาจจะทำลายอะไรอย่างอื่นอีกในเร็วๆนี้” ลงชื่อ Mr.Bad Day, วินนี่ ลิกเซียร์ดิ

หลังจากนั้นเบนวาและวินนี่ก็ส่งอีเมล์คุยกันอีกหลายครั้ง เรื่องราวทั้งหมดถูกเฉลย วินนี่ยอมรับว่าเป็นคลิปจัดฉาก แต่ทำขึ้นเพื่อใช้ส่งเสริมการขายระบบกล้องวงจรปิดเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นไวรัลคลิปแต่อย่างใด

เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่งผลให้ Bad Day เป็นไวรัลคลิปแรกๆของโลก เบนวาเป็นนักสืบโซเชียลคนแรกๆของโลก และเว็บไซต์แฟนเพจ Badday.mpg ส่งผลให้เกิดการสร้างเว็บไซต์สื่อกลางเก็บรวบรวมไฟล์เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดูได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องส่งต่อกันทางอีเมล์อีกต่อไป


You must be logged in to post a comment Login