วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เกิดครั้งเดียวใช้ให้คุ้ม / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On September 4, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ทายาทเศรษฐีปฏิเสธการใช้ชีวิตหรูหราในคฤหาสน์ ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตออกเดินทางท่องโลกไปยังดินแดนห่างไกลเต็มไปด้วยภยันตราย ไม่ว่าจะต้องเสี่ยงภัยมากแค่ไหน หากเขาอยากไปเห็นก็จะต้องไปให้ได้

ริชาร์ด ฮาลลิเบอร์ตัน เกิดที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 1900 บิดามีฐานะเข้าขั้นระดับเศรษฐีคนหนึ่ง เขาศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ขณะที่กำลังศึกษาในปี 1919 ริชาร์ดอาศัยช่วงวันหยุดภาคฤดูร้อนสมัครเป็นกะลาสีเรือเดินสมุทรออกเดินทางไปยังทวีปยุโรป โดยบอกกับพ่อแม่ว่าไปเยี่ยมเพื่อนที่อยู่ต่างรัฐ

กว่าจะเดินทางกลับก็ล่วงเลยไปถึงเดือนมกราคม 1920 ซึ่งเลยเวลาเปิดภาคเรียนใหม่ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ริชาร์ดกลับมาศึกษาต่อจนกระทั่งจบการศึกษา ในช่วงระหว่างเรียนริชาร์ดเขียนบทความประสบการณ์ท่องเที่ยวให้กับนิตยสาร Field & Stream โดยได้รับค่าเรื่องตอนละ 150 ดอลลาร์ ทำให้เขาเห็นลู่ทางสร้างรายได้จากสิ่งที่เขารัก

ทันทีที่เรียนจบริชาร์ดก็ออกเดินทางอีกครั้ง ช่วงระหว่างปี 1921-1923 เขาเดินทางไปยังประเทศต่างๆในทวีปยุโรป เอเชีย และแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ หลังจากกลับบ้านเกิดเขาเขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ The Royal Road to Romance ตีพิมพ์เมื่อปี 1925 มียอดขายสูงมากติดอันดับหนังสือขายดี เขาได้รับส่วนแบ่งจากการขายหนังสือมากกว่า 70,000 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่เขาเคยได้รับจากการเขียนคอลัมน์หลายเท่าตัว

อยู่ไม่สุข

ริชาร์ดตัดสินใจหาเลี้ยงชีพด้วยการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆทั่วโลกเพื่อนำข้อมูลมาเขียนหนังสือ เขาปีนเขามัทเทอร์ฮอร์นความสูง 4,478 เมตร ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับอิตาลี ใช้ชีวิตตามลำพังบนเกาะดีวิล พักแรมบนยอดพีระมิด ขี่ช้างข้ามเทือกเขาแอลป์ ว่ายข้ามแม่น้ำไนล์ คลองปานามา และแกรนด์คาแนลในกรุงเวนิส

ปี 1930 ริชาร์ดติดต่อโมเย่ สตีเฟน ให้ขับเครื่องบินเล็กแบบ 2 ที่นั่งชื่อ Flying Carpet พาเขาเดินทางรอบโลกโดยไม่มีค่าจ้าง แต่เบิกค่าใช้จ่ายได้ไม่อั้น การเดินทางครั้งนั้นกินเวลา 18 เดือน จอดแวะ 34 ประเทศ ระยะทางทั้งสิ้น 54,100 กิโลเมตร

การเดินทางเริ่มในวันคริสต์มาสปี 1930 ออกเดินทางจากลอสแอนเจลิสสู่นิวยอร์ก จากนั้นนำเครื่องบินขึ้นเรือเดินสมุทรเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ แล้วจึงเริ่มใช้เครื่องบินเดินทางอีกครั้งไปยังฝรั่งเศสและสเปน ก่อนจะมุ่งหน้าสู่ทวีปแอฟริกา ตามด้วยประเทศในแถบตะวันออกกลางและเอเชีย

ระหว่างที่โมเย่ขับเครื่องบินผ่านยอดเขาเอเวอเรสต์ ริชาร์ดเปิดประตูเครื่องบินถ่ายภาพยอดเขาเอเวอเรสต์จากทางอากาศภาพแรกของโลก เมื่อเดินทางมาถึงเกาะบอร์เนียว ริชาร์ดทูลเชิญซิลเวีย เบร็ตต์ ราชินีผิวขาวแห่งซาราวัก ประทับเครื่องบินชมทิวทัศน์ทางอากาศ ต่อมาเชิญหัวหน้าเผ่าล่าหัวมนุษย์ไอแอ็กขึ้นเครื่องบิน ริชาร์ดได้รับของกำนัลตอบแทนเป็นหัวมนุษย์ย่อส่วนจำนวนมาก เขาจำใจรับมันไว้ก่อนจะนำไปทิ้งในเวลาต่อมา

ฉลองสะพาน

ริชาร์ดสร้างคฤหาสน์หรู Hangover House บนหน้าผาในแคลิฟอร์เนีย มองเห็นทิวทัศน์สวยงามของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเพื่อนสนิท พอล มูนีย์ ออกแบบและติดต่อสถาปนิก แต่งบประมาณการก่อสร้างบานปลาย ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองก็มีการก่อสร้างสะพานโกลเดนเกต ซึ่งเปิดให้ใช้งานได้ในปี 1937

เมืองซานฟรานซิสโกวางแผนจัดงานนิทรรศการโกลเดนเกตในเดือนกุมภาพันธ์ 1939  ริชาร์ดจึงได้ความคิดว่าเขาจะต่อเรือสำเภาแบบที่คนจีนโบราณใช้ เดินทางจากฮ่องกง แล่นลอดใต้สะพานโกลเดนเกตมาโชว์ตัวในวันเปิดงานนิทรรศการ จากนั้นขายบัตรเก็บค่าโดยสารเรือนั่งชมรอบอ่าวซานฟรานซิสโก

ปี 1938 ริชาร์ดว่าจ้างกัปตันเรือ จอห์น เวลช์ และลูกเรือชาวออสเตรเลียจำนวนหนึ่งเดินทางมายังเกาลูน จากนั้นริชาร์ดติดต่อช่างต่อเรือให้สร้างเรือสำเภาแบบโบราณ การต่อเรือเป็นไปอย่างเชื่องช้าและประสบปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลายเหมือนกับที่ริชาร์ดประสบตอนที่สร้างคฤหาสน์

ริชาร์ดพยายามติดต่อขอสปอนเซอร์จากบริษัทใหญ่ๆ แต่พวกเขาไม่เชื่อว่าเรือสำเภาโบราณจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากเท่าไร และแนะนำให้ริชาร์ดเปลี่ยนมาทำกาสิโนลอยน้ำแทน ขณะเดียวกันบางบริษัทก็ไม่อยากมีชื่อสินค้าติดอยู่บนเรือสำเภาโบราณ เพราะภาษาอังกฤษเรียกเรือสำเภาโบราณว่า Junk ซึ่งแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ห่วย” ริชาร์ดจึงต้องบากหน้าไปขอเงินจากญาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจน้ำมัน

ไม่น่ารอด

ริชาร์ดมารู้ในภายหลังว่าช่างต่อเรือที่เขาจ้างนั้นไม่เคยออกทะเล อย่างไรก็ตาม เรือสำเภาโบราณก็ต่อสำเร็จในที่สุด โดยริชาร์ดตั้งชื่อว่า Sea Dragon ชาวเรือสบประมาทว่าหากมันไม่จมภายใน 5 นาทีที่ลงน้ำ ก็ต้องถูกถล่มด้วยคลื่นกลางทะเลอย่างแน่นอน เหตุผลก็คือ เรือลำนี้มีระวางขับน้ำน้อยขณะที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่

ริชาร์ดนำเรือออกจากอ่าววิกตอเรียในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1939 หลังจากนั้นเพียง 5 วัน กัปตันก็นำเรือกลับมาที่เดิม เนื่องจากไปเจอมรสุมที่ช่องแคบไต้หวัน เรือโคลงเคลงอย่างไม่น่าไว้ใจ เมื่อกลับถึงฮ่องกงลูกเรือหลายคนลาออก ริชาร์ดสั่งให้ทำการปรับปรุงเรือให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

Sea Dragon ออกเดินทางอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1939 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับจีนไปแล้ว ก่อนที่จะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน นั่นหมายความว่าเรือ Sea Dragon ของริชาร์ดเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับเรือรบญี่ปุ่นกลางทะเล

วันที่ 24 มีนาคม เรือ Sea Dragon ส่งวิทยุติดต่อกับเรือรบเพรสซิเดนท์คูลิดจ์ “ทะเลรุนแรง พายุฝนกระหน่ำ ที่นอนเปียก เดินเรือลำบาก มันสุดยอดมาก อยากให้เป็นคุณที่อยู่ตรงนี้แทนที่จะเป็นผม”

หลังจากนั้นพายุก่อตัวกลายเป็นไต้ฝุ่น เรือรบเพรสซิเดนท์คูลิดจ์ต้องลดความเร็วจนเกือบจะหยุด หลังจากพายุสงบก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเรือ Sea Dragon อีกเลย เรือรบเพรสซิเดนท์คูลิดจ์คำนวณทิศทางของเรือ Sea Dragon แต่ก็ไม่มีวี่แวว เมื่อถึงวันที่ 29 มีนาคมก็ยังไม่ได้รับการติดต่อ จึงประกาศการสูญหายของเรือ Sea Dragon

บิดาของริชาร์ดบริจาคเงิน 400,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างหอระฆังเป็นที่ระลึกถึงบุตรชายที่สูญหายไปกลางทะเล จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือ Sea Dragon เรื่องราวการผจญภัยของริชาร์ดก็ค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำของแฟนๆ เหลือทิ้งไว้แต่เพียงที่ปรากฏในหนังสือ 15 เล่มที่เขาเขียนทิ้งไว้


You must be logged in to post a comment Login