วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

มหาพายุคลั่ง / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On August 28, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

พายุที่เคลื่อนตัวมาอย่างเงียบๆทำให้ชาวเมืองไม่ทันได้ตั้งตัว มีผู้คนหลายพันคนติดอยู่ท่ามกลางพายุหิมะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนที่กำลังเดินทางกลับบ้าน

ฤดูหนาวปี 1887 อากาศในรัฐมินนิโซตาค่อนข้างรุนแรงกว่าทุกปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่าศูนย์องศาตลอดช่วงฤดูหนาว ซ้ำร้ายวันที่ 5 มกราคม 1888 เกิดพายุลูกเห็บกระหน่ำ ส่งผลให้ชาวเมืองถูกขังอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้

วันที่ 11 มกราคม 1888 กระแสลมอุ่นจากแคริบเบียนพัดเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนหิมะบนท้องถนนและน้ำแข็งที่เกาะตามขอบหน้าต่างเริ่มละลาย ชาวเมืองต่างยินดีที่ได้รับกระแสลมอุ่นจากทางใต้บรรเทาความหนาวเย็นและละลายหิมะตามท้องถนนทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกกว่าเดิม แต่ที่คนไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ มันเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ตามปรกติในเดือนมกราคมพื้นที่ตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือจะถูกปกคลุมด้วยคลื่นลมหนาว กระแสลมที่พัดมาจากขั้วโลกเหนือยิ่งทำให้อุณหภูมิทางด้านตะวันตกของแคนาดาต่ำกว่าศูนย์องศา ก่อนที่จะค่อยๆแผ่กระจายความเย็นลงมายังอเมริกา และจะคงความหนาวเย็นไปตลอดเดือนมกราคม

ห่วงโซ่หายนะ

ต้นเดือนมกราคม 1888 คลื่นลมหนาวก่อตัวที่รัฐโคโลราโด พัดพาเอาคลื่นความเย็นจากแคนาดาพาดผ่านลงมายังมอนแทนาและไวโอมิง ทำให้อุณหภูมิยิ่งเย็นลงเหมือนกับที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ขณะเดียวกันวันที่ 11 มกราคม กระแสลมอุ่นจากอ่าวเม็กซิโกพัดผ่านเข้าทางรัฐเทกซัสและเคลื่อนตัวขึ้นสู่รัฐทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้อุณภูมิสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผู้คนรู้สึกปีติยินดีที่ปีนี้ฤดูหนาวอันแสนหฤโหดสิ้นสุดลงก่อนกำหนด อากาศที่อุ่นขึ้นทำให้เช้าวันรุ่งขึ้นชาวเมืองออกจากบ้านโดยสวมเพียงเสื้อคลุมบางๆ โดยไม่ระแคะระคายเลยว่าอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนี้จะเกิดหายนะอย่างใหญ่หลวง

บ่ายวันที่ 12 มกราคม คลื่นลมอุ่นจากตอนใต้ปะทะกับคลื่นลมหนาวจากตอนเหนือ ก่อตัวเป็นเมฆก้อนใหญ่รูปร่างคล้ายฝ้ายที่ถูกมัดจนแน่นด้วยเชือกสีเงิน ท้องฟ้าที่สดใสกลับมืดมิดลงในชั่วพริบตา ตามมาด้วยเสียงฟ้าคำรามอย่างน่ากลัว

เวลา 13.00 น. คลื่นลมหนาวปกคลุมทั่วเขตดาโคตา มินนิโซตา และเนแบรสกา ศูนย์พยากรณ์อากาศชักธงเตือนภัยพายุฤดูหนาว แต่ถึงเวลานั้นก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะอากาศขมุกขมัวจนยากที่จะมองเห็นธงสัญญาณ

เสี่ยงทั้ง 2 ทาง

พายุหิมะที่ก่อตัวขึ้นครั้งนี้ต่อมาถูกเรียกว่า Children’s Blizzard เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก ขณะที่พายุก่อตัวขึ้นเป็นเวลาใกล้โรงเรียนเลิก ครูต้องตัดสินใจว่าจะให้เด็กๆหลบพายุในโรงเรียนที่ไม่พร้อมต่อการหลบภัยหรือจะปล่อยให้รีบกลับบ้านที่ต้องเสี่ยงกับการเจอพายุระหว่างทาง

โรงเรียนในชนบทสมัยนั้นเป็นอาคารเดี่ยว ปลูกสร้างโดยใช้วัสดุหาง่ายเช่นไม้หรือหญ้าแห้ง ประตูและหลังคามีพอใช้แค่กันลมกันฝน การจะใช้อาคารเรียนเป็นที่หลบภัยพายุหิมะจึงเป็นการเสี่ยง นอกจากนี้ภายในโรงเรียนไม่มีฟืนมากเพียงพอที่จะนำมาก่อไฟสร้างความอบอุ่นให้คนจำนวนมาก แถมยังไม่มีเสบียงอาหาร

ด้วยเหตุนี้เองครูบางโรงเรียนจึงตัดสินใจปล่อยให้เด็กๆกลับบ้าน ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะเดินทางถึงบ้านก่อนที่พายุหิมะจะมาและกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ในทางตรงกันข้าม มินนี่ เม ฟรีแมน ครูสาววัย 19 ปี ตัดสินใจเก็บเด็กไว้ในโรงเรียน แม้ว่าอาคารจะซอมซ่อแต่อย่างน้อยเด็กก็ยังมีเธอคอยดูแล

ครูใจเพชร

มินนี่เป็นลูกชาวไร่ เธอคุ้นเคยกับสภาพอากาศที่แปรปรวนของเนแบรสกาเพราะมันมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต มินนี่สอนหนังสือที่โรงเรียนมิดเวล แถบหุบเขามิร่า เธอมีลูกศิษย์ 13 คน ซึ่งบางคนอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับเธอ เมื่อใกล้เวลาโรงเรียนเลิก มินนี่เหลือบไปเห็นแถบสีฟ้าบนท้องฟ้าที่ชาวไร่เรียกว่า Blue Northers เธอรู้ทันทีว่านี่คือสัญญาณบอกเหตุว่าพายุหิมะกำลังก่อตัว

ที่สำคัญคือมันไม่ใช่แค่พายุหิมะธรรมดา หากแต่เป็นมหาพายุหิมะที่มีความรุนแรง อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ท้องฟ้าจะมืดมิด หิมะจะตกหนาจนมองฝ่ามือตัวเองแทบไม่เห็น การปล่อยนักเรียนกลับบ้านก็เหมือนส่งเด็กไปตาย

อาคารเรียนไม่แตกต่างไปจากโรงเรียนในชนบทแห่งอื่น ลมกระโชกลูกแรกดึงประตูอาคารเรียนปลิวออกจากบานพับ มินนี่และนักเรียน 2 คนช่วยกันตามเก็บประตู ใช้เชือกหนังมัดจนแน่น แต่ก็ไม่วายถูกลมพัดหลุดออกไปอีกครั้ง คราวนี้มินนี่จึงต้องใช้ตะปูตอกปิดตาย

มินนี่และนักเรียนหลบภัยอยู่ได้ไม่นานพายุก็พัดหลังคาอาคารปลิวหาย ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ครูหลายๆโรงเรียนปล่อยให้เด็กกลับบ้านไม่ยอมให้หลบภัยในโรงเรียน มินนี่รู้แล้วว่าการหลบอยู่ในโรงเรียนไม่ปลอดภัยแน่ๆ บ้านพักของเธออยู่ห่างจากโรงเรียนครึ่งไมล์ เธอจะต้องพานักเรียนทั้ง 13 คน ฝ่าพายุหิมะไปที่นั่นก่อนพระอาทิตย์ตกดินให้ได้

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่ามินนี่ใช้เชือกผูกเธอติดกับนักเรียน 13 คนเพื่อไม่ให้หลงจากกัน ขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการตอกไข่ใส่ข่าว ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม มินนี่สามารถพานักเรียนทั้ง 13 คนไปถึงบ้านเธออย่างปลอดภัย

ตายเป็นเบือ

โรงเรียนในชนบทส่วนใหญ่ปล่อยให้นักเรียนกลับบ้านเพราะรู้ดีว่าอาคารโรงเรียนไม่แข็งแรงพอจะใช้หลบพายุหิมะ เด็กบางคนเดินทางกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย แต่เด็กส่วนใหญ่ต้องจบชีวิตในพายุหิมะ มีโรงเรียนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ตัดสินใจให้นักเรียนหลบภัยในอาคารเรียน

พายุหิมะสงบลงในรุ่งเช้าของวันที่ 13 มกราคม ทิ้งให้หลายสิบเมืองถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หิมะทับถมสูงจนไม่สามารถเดินทางได้ การช่วยเหลือเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายวัน ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ระหว่าง 300-500 คน ขณะที่ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียอวัยวะจากการถูกหิมะกัด ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีการพัฒนาอาคารเรียนให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประโคมข่าววีรกรรมของครูมินนี่ เธอได้รับจดหมายชื่นชม ได้รับคำขอแต่งงานจากชายที่ไม่รู้จักหลายสิบคน มีคนแต่งเพลงสดุดีวีรกรรมให้ ขณะที่มินนี่กลับไม่ยินดียินร้ายกับคำสรรเสริญเยินยอ โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นใครก็ต้องทำ


You must be logged in to post a comment Login