วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เพลิงกาสิโน / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On June 26, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

โรงแรมหรูตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้ระดับไฮเอนด์ พื้นปูด้วยหินอ่อน เพดานประดับด้วยโคมไฟระย้า แต่ละเลยการติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้อย่างถูกวิธี ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและได้รับบาดเจ็บอีกเกือบพันคน

โรงแรม MGM Grand ตั้งอยู่ในลาสเวกัส แหล่งกาสิโนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 1973 ถูกจัดอันดับให้เป็นโรงแรมหรูอันดับต้นๆ เนื่องจากการตกแต่งภายในมีแต่เครื่องใช้ราคาแพง ตั้งแต่พื้นปูด้วยหินอ่อนตลอดจนถึงเพดานประดับด้วยโคมไฟระย้าราคาแพง

MGM Grand เป็นอาคารสูง 26 ชั้น ชั้นล่างเป็นกาสิโนขนาดใหญ่เท่าสนามอเมริกันฟุตบอล 3 สนามเรียงต่อกัน มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมากมายหลายร้าน มีห้องอาหารหรูไว้บริการ และมีห้องพักจำนวน 2,000 ห้อง

สวยแต่รูป

เช้าตรู่วันที่ 21 พฤศจิกายน 1980 เปลวเพลิงก่อตัวขึ้นหลังกำแพงในส่วนของห้องอาหาร Deli ซึ่งถ้าหากเป็นสถานการณ์ปรกติจะมีคนพบเห็นและดับไฟได้ทันเวลา แต่ห้องอาหาร Deli ที่เคยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ถูกปิดหลังเวลาดึกสงัดเนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยจนไม่คุ้มการลงทุน ผู้บริหารโรงแรมจึงสั่งให้ปิดการให้บริการห้องอาหารในช่วงเวลาดังกล่าว

มิหนำซ้ำการติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของสำนักงานเทศบาลที่กำหนดให้ต้องติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟในทุกๆห้อง อีกทั้งรูปลักษณ์ของเครื่องตรวจจับควันไฟไม่สวยงาม ไม่เข้ากับเครื่องตกแต่งอาคารที่เลิศหรู ดังนั้น หลังจากที่ได้รับการตรวจสอบจากทางการแล้ว ผู้บริหารจึงสั่งให้รื้อถอนเครื่องตรวจจับควันไฟแล้วนำไปติดตั้งภายในช่องระบายอากาศแทน

ต้นเหตุจริงๆของการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการปรับปรุงส่วนของห้องอาหาร มีการติดตั้งเครื่องทำความเย็นสำหรับตู้โชว์อาหาร โดยซ่อนท่อทองแดงนำส่งไอเย็นมายังตู้โชว์ในห้องอาหาร ซึ่งท่อทองแดงนี้ติดตั้งเคียงข้างกับท่ออะลูมิเนียมที่ใช้ร้อยสายไฟหลังกำแพง

เมื่อเครื่องทำความเย็นสำหรับถนอมอาหารทำงานจะเกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้ท่อทองแดงหลุดออกจากตำแหน่งที่ติดตั้งไปเสียดสีกับท่ออะลูมิเนียมที่ใช้ร้อยสายไฟ เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่าการกัดกร่อนแบบกัลวานิก (Galvanic Corrosion) ทำให้เกิดการสึกกร่อนจนเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วสร้างความร้อนขึ้นภายในกำแพง

สายเกินแก้

คาดว่าเพลิงลุกไหม้อยู่ในกำแพงนานหลายชั่วโมง แต่เนื่องจากมันอยู่ในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทจึงยังไม่มีความรุนแรง จนกระทั่งเวลา 07.13 น. ทิม คอนเนอร์ พนักงานคนหนึ่ง บังเอิญเดินผ่านมาได้กลิ่นควันไฟ ทิมมองหาถังดับเพลิงแต่มันไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ทิมตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งเหตุไปยังสถานีดับเพลิง

แต่มันช้าเกินไปเสียแล้ว เปลวเพลิงเล็ดลอดออกมาจากหลังกำแพง เมื่อได้รับออกซิเจนเปลวเพลิงก็โหมรุนแรงอย่างรวดเร็ว ไม่ถึง 10 นาทีหลังจากได้รับแจ้งพนักงานดับเพลิงก็เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่ทันการ เพราะเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วเกินกว่าจะระงับได้

การแจ้งเหตุเตือนภัยใช้ระบบแมนวล มีพนักงานคอยกดปุ่มสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ใช้บริการโรงแรมได้รับทราบ แต่ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ รีบออกไปช่วยเหลือการอพยพผู้คนจนลืมกดปุ่มสัญญาณแจ้งเหตุร้าย

เวลาเพียงไม่กี่นาทีเพลิงก็ลุกลามมายังห้องกาสิโนที่มีคนจำนวนมากกำลังเพลิดเพลินกับการเสี่ยงโชค ควันไฟคละคลุ้งไปทั่วและเล็ดลอดเข้าไปในช่องระบายอากาศที่เชื่อมต่อกันทั่วทั้งตัวอาคาร ตอนนี้สถานการณ์ร้ายแรงถึงขนาดไม่สามารถควบคุมได้

ไม่ได้มาตรฐาน

ระบบระบายอากาศได้รับการติดตั้ง “ลิ้นกันไฟ” ลักษณะเป็นตะแกรงบานเกล็ดที่มีฟิวส์ง้างให้บานเกล็ดเปิดตลอดเวลาเพื่อให้อากาศถ่ายเท หากมีความร้อนฟิวส์จะหลอมละลายทำให้บานเกล็ดปิดลง ป้องกันไม่ให้ควันไฟเล็ดลอดเข้ามาภายในห้อง

แม้ว่าฟิวส์ลิ้นกันไฟจะหลอมละลาย แต่บานเกล็ดภายในอาคาร MGM Grand กลับไม่ปิด จึงทำให้ควันไฟเล็ดลอดไปตามช่องระบายอากาศกระจายไปทั่วอาคาร อีกทั้งยังพบว่าฟิวส์ง้างบานเกล็ดลิ้นกันไฟในส่วนของกาสิโนถูกละลายทิ้งตั้งแต่ตอนติดตั้ง ซึ่งใครก็ตามที่เป็นคนทำไม่รู้ความสำคัญของฟิวส์ตัวนี้ ทำให้บานเกล็ดเปิดอย่างถาวรไม่สามารถปิดได้

สายไฟในผนังถูกร้อยใส่ท่อพลาสติก ABS แทนที่จะเป็นพลาสติก PVC เนื่องจาก ABS มีราคาถูกกว่า PVC แต่หาก ABS ได้รับความร้อน มันจะสร้างก๊าซไซยาไนด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ทำให้ควันไฟเป็นพิษกว่าปรกติอีกหลายเท่าตัว

นอกจากนี้โรงแรม MGM Grand ไม่ได้ติดตั้งหัวดับเพลิงสปริงเกลอร์ในทุกๆห้อง ซึ่งจะทำงานทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากค่าติดตั้งต้องใช้เงินราว 192,000 ดอลลาร์ ผู้บริหารจึงตัดสินใจติดตั้งหัวดับเพลิงเฉพาะบางห้องเท่านั้นเพื่อประหยัดงบประมาณ

เสียมาก เสียง่าย

จากการสืบสวนสรุปได้ว่าสาเหตุเพลิงไหม้มาจากการติดตั้งระบบต่างๆอย่างไม่ถูกวิธี และไม่มีการติดตั้งระบบป้องกันตามข้อกำหนดตามกฎหมาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน และได้รับบาดเจ็บราว 700 คน โรงแรม MGM Grand ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินราว 223 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ โรงแรมยังต้องเสียเงินค่าบูรณะโรงแรมอีกราว 40 ล้านดอลลาร์ รวมค่าติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยอัตโนมัติและหัวดับเพลิงในทุกๆห้องตามที่ควรจะเป็น ต่อมามันถูกขายให้กับบริษัท Bally’s Entertainment และเปลี่ยนชื่อเป็น Bally’s Las Vegas

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลให้มีการเข้มงวดกับการติดตั้งระบบเตือนภัยและระบบป้องกันอัคคีภัย โรงแรมทุกแห่งในอเมริกาจะต้องติดตั้งหัวดับเพลิงในทุกๆห้อง มีแผนผังบอกรายละเอียดทางหนีไฟและวิธีการลี้ภัย รวมถึงการระงับการใช้ลิฟต์ระหว่างเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานที่โรงแรมชั้นนำทั่วโลกนำมาใช้ในปัจจุบัน


You must be logged in to post a comment Login