วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

Casa Las Penas เสน่ห์บ้านแนวลาด / โดย วรวุฒิ สารพันธ์

On May 15, 2017

คอลัมน์ : Inspire Living
ผู้เขียน : วรวุฒิ สารพันธ์

ที่ดินในบ้านเราที่เป็นแนวลาดเอียงของเนิน ส่วนใหญ่จะมองกันว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะใช้สร้างบ้านหรืออาคาร เนื่องจากมีความยุ่งยากในการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ

แตกต่างจากหลายประเทศที่เลือกพื้นที่ลาดเอียงสร้างบ้าน แม้สถาปนิกจะยอมรับว่าเป็นความท้าทายสำคัญ

แต่ผลงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมีคุณภาพคุ้มกับความยากของการออกแบบ จากเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งความสวยงามด้านดีไซน์ ความกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม และมีประโยชน์ใช้งานโดนใจเจ้าของบ้าน

“Casa Las Penas” (บ้านเปยาส) หลังนี้ เป็นผลงานหนึ่งที่สร้างบนความลาดเอียงของเนิน และมีคุณสมบัติตามที่เอ่ยถึง โดยสถาปนิกค่าย C3V Arquitectura รังสรรค์ผลงานนี้ให้ครอบครัวชาวเอกวาดอร์ ประเทศขนาดย่อมในอเมริกาใต้ มีภาคเหนือติดโคลอมเบีย และภาคใต้ติดเปรู

แปลงดินลาดเอียงไม่สวยงาม แต่สถาปนิกสามารถ “ปรับวิกฤตเป็นโอกาส” ได้ ส่วนสภาพแวดล้อมที่เหลือล้วนเป็นธรรมชาติที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะทัศนียภาพทิวเขารอบด้านถือเป็น “สวรรค์” ของคนรักแสงแดด สายลม และขุนเขา

สำหรับเอกลักษณ์ของบ้าน 2 ชั้นหลังนี้ อยู่ที่การออกแบบโครงสร้างทรงกล่อง 3 กล่องเรียงประกบกันตามยาว มองจากด้านหน้าคล้ายบางส่วนฝังอยู่ในเนิน เสริมด้วย “กล่องอิสระ” อีก 1 กล่องที่ฝั่งขวา

ส่วนของพื้นบ้านยกระดับเป็นขั้นบันได 3 ระดับ ไล่ขึ้นจากด้านหน้าตามองศาลาดเอียงของเนิน โดยระดับสูงสุดอยู่ด้านหลัง ซึ่งสูงระดับเดียวกับพื้นดินด้านนอก

ความโดดเด่นส่วนหนึ่งของดีไซน์ภายนอกอยู่ที่รูปทรงของหลังคาที่เชิดขึ้นด้านข้างส่วนหน้าและส่วนหลังฝั่งตรงกันข้ามคล้ายการบิดตัวของโครงหลังคา สถาปนิกผู้ออกแบบบอกว่า ประยุกต์จากรูปทรงของทิวเขาที่อยู่โดยรอบ

ในส่วนของห้องต่างๆของชั้นแรก ประกอบด้วย ห้องเก็บของอยู่ใน “กล่อง” หลักตรงกลาง และห้องน้ำอยู่ในกล่องซ้ายตรงบันไดด้านนอกขึ้นจากหน้าบ้าน

ส่วนชั้น 2 มีศูนย์รวมอยู่ที่ “กล่อง” หลักตรงกลาง มีระเบียงขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า ออกแบบห้องเป็นโถงกลางเพดานสูงยาวจากหน้าสุดจดหลังสุด ประตู หน้าต่าง และผนังส่วนหนึ่งติดกระจก ด้านข้างซ้ายติดระเบียงเปิดมีหลังคา

จัดพื้นที่ห้องเป็นโซนต่างๆไล่จากด้านหน้า ประกอบด้วย โซนโต๊ะอาหาร โต๊ะครัว โต๊ะอาหารอีกชุด โซนพักผ่อน และโซนสุดท้ายยกพื้นสูงระดับเดียวกับพื้นดินด้านนอก ใช้เป็นโซนพักผ่อนอีกส่วนหนึ่ง

ส่วนกล่องขวาใช้เป็นห้องนอน 2 ห้อง คั่นกลางด้วยห้องน้ำ และกล่องซ้ายใช้เป็นห้องนอนเจ้าของบ้าน ด้านหน้าติดระเบียงเปิดมีหลังคา

สำหรับห้องกระจกฝั่งขวาสุดของบ้านสร้างแยกเป็นเอกเทศจากโครงสร้างหลักคล้ายเป็นส่วนต่อเติมใหม่ ส่วนหนึ่งฝังอยู่ในเนิน ใช้เป็น “เรือนรับรอง” ต้อนรับแขก รวมทั้งใช้พักผ่อน

หลังคาห้องกระจกออกแบบเป็นเทอเรซ หรือลาน “เพลิน” กลางแจ้ง ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนรับลมชมวิว หรือใช้จัดสังสรรค์กลางแจ้งอีกแห่ง เสริมกับระเบียงมีหลังคา

จากการออกแบบระเบียงเปิด และลานกลางแจ้งบนหลังคาห้องกระจก ซึ่งเป็นจุดหย่อนใจคลายอารมณ์ที่สามารถชมวิวทิวเขารวมทั้งธรรมชาติแวดล้อมได้กว้างไกล

บ้านหลังนี้จึงน่าจะมี “นิกเนม” ว่า “บ้านชมวิว”


You must be logged in to post a comment Login