วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘เนติวิทย์’เอฟเฟ็ค! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On May 11, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สัปดาห์ที่แล้วลมฟ้าอากาศบ้านเราดูแปรปรวนอยู่ไม่น้อย ทั้งอากาศที่ร้อนจัด ตลอดจนพายุฤดูร้อนที่พัดกระหน่ำในบางพื้นที่ บางจังหวัดมีลูกเห็บตกลงมาทำความเสียหายให้กับบ้านเรือนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราต้องเจอกันอยู่ทุกปี บ้านใครเจอพายุต้องถือว่าฟาดเคราะห์กันไป แต่อย่างน้อยฝนฟ้าที่ตกลงมาก็ช่วยดับร้อนในช่วงคิมหันตฤดูไปได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เดินทางไปไหนมาไหนต้องระมัดระวังและอย่าประมาทนะครับ

เรื่องร้อนๆในบ้านเมืองที่ไม่ใช่เรื่องอากาศในช่วงที่ผ่านมา นอกจากเรื่อง “เรือดำน้ำ” แล้วคงหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกตั้งและการเข้ารับตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงสมัครตำแหน่งประธานสภานิสิต ภายหลังการลงคะแนนแบบลับปรากฏว่าเนติวิทย์ชนะด้วยคะแนนท่วมท้น มีคะแนน 27 คะแนน จากคณะกรรมการจำนวน 36 ราย จึงได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯคนล่าสุด

เรื่องนี้อันที่จริงแล้วไม่น่าจะมีประเด็นอะไรเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นกิจการภายในของนิสิตจุฬาฯ แต่พอผลการเลือกตั้งมีชื่อเนติวิทย์เป็นประธานสภาคนใหม่ก็เกิดกระแสสนับสนุนและต่อต้านออกมาพร้อมๆกัน ถ้ากระแสดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะในองค์กรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นประเด็น แต่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญทันทีเมื่อท่านผู้นำสูงสุดโดดลงมาร่วมวงวิพากษ์วิจารณ์ไปกับคนอื่นๆด้วย

ก่อนที่ผมจะบ่นเรื่องต่างๆให้ฟังต่อจากนี้ ขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านก่อนว่าผมไม่เคยรู้จักเนติวิทย์เป็นการส่วนตัว แต่เคยอ่านเรื่องราวของเขาผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน เท่าที่ติดตามจากข่าวสารทั่วไปก็พอจะสรุปได้ว่า เนติวิทย์ถือเป็นนิสิตนักกิจกรรมและเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งตกเป็นข่าวบ่อยครั้งในประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

เนติวิทย์มีจุดยืนเรื่องดังกล่าว โดยร่วมต่อสู้และต่อต้านการรับน้องที่ใช้ความรุนแรงเช่นระบบโซตัส การบังคับให้นิสิตใส่เครื่องแบบให้เรียบร้อย หากทำผิดระเบียบจะมีโทษ รวมถึงแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาไทย นอกจากนั้นยังนำเสนอแนวคิดยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเป็นตัวหลักในการเชิญโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชื่อดังชาวฮ่องกง มาปาฐกถาที่จุฬาฯ ก่อนถูกห้ามเข้าประเทศในเวลาต่อมา

การทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของเนติวิทย์ในช่วงที่ประเทศไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่มาจากการปฏิวัติและมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอยู่ตลอดเวลาถือว่า “สุ่มเสี่ยง” ต่อการถูกเรียกไป “ปรับทัศนคติ” เป็นอย่างยิ่ง และแน่นอนว่านิสิตนักกิจกรรมคนนี้ย่อม “ไม่เป็นที่พอใจ” ของผู้มีอำนาจในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อนิสิตจุฬาฯคนนี้ขยับสถานะขึ้นเป็นประธานสภานิสิต จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้ใหญ่ระดับ “ท่านผู้นำสูงสุด” ไปจนถึง “ลิ่วล้อ” ไอ้จุกไอ้แกละทั้งหลาย ขยับออกมาวิพากษ์วิจารณ์และถล่มเนติวิทย์ผ่านสื่อต่างๆอย่างเมามัน ทั้งขาประจำ ขาจร และจัดตั้ง แต่ก็เหลือเชื่อจริงๆ ยิ่งมีฝ่ายต่อต้านออกมากระหน่ำซัมเมอร์เซลกันมากเท่าไร ฝ่ายที่สนับสนุนกลับยิ่งมีมากเท่านั้น

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังเชื่อมั่นและสนับสนุนหลักการในระบอบประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งประธานสภานิสิตจุฬาฯในครั้งนี้ใช้หลักการเดียวกันกับการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภาเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตัวแทนที่ได้รับคะแนนสูงสุดขึ้นไปทำหน้าที่ ดังนั้น แม้จะมีการต่อต้านเนติวิทย์จากฝ่ายรัฐและประชาคมจุฬาฯบางกลุ่ม แต่ในกลุ่มนิสิตและพี่น้องประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ต่างสนับสนุนการเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้อย่างเต็มที่

ถ้าไม่เชื่อก็ลองพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาดูก็ได้ ขนาด “ท่านผู้นำสูงสุด” ลดตัวลงมาปั่นกระแสเองว่าการที่เนติวิทย์ได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นความเสื่อมเสียของมหาวิทยาลัย แทนที่คนส่วนใหญ่จะช่วยกันเออออห่อหมกด้วย กลับกลายเป็นตรงกันข้ามเมื่อมีการสวนกลับจากกลุ่มนิสิตจุฬาฯว่า การเลือกตั้งตัวแทนนิสิตครั้งนี้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เหมือน “ท่านผู้นำสูงสุด” และคณะที่ไม่มีใครเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่เข้ามาบริหารประเทศได้เพราะยึดอำนาจมาจากประชาชน

เจอแบบนี้ทำให้รัฐบาลทหาร “หล่อ” ขึ้นมาอีกไม่น้อย เพราะ “ผมขาว” ถูกถอนออกมาทันทีแทบจะหมดทั้งหัว แต่ถ้าให้ผมแนะนำคิดว่ายอมเสียตังค์ให้ร้านทำผมย้อมให้น่าจะดีกว่า เพราะโดนเด็ก “ถอนหงอก” แบบนี้ถือว่าเสียฟอร์มจริงๆ ขืนปล่อยให้ถอนออกไปมากกว่านี้ผมเกรงว่าหัวจะล้านเอา

สรุปแล้วเรื่องเนติวิทย์น่าจะจบลงเพียงเท่านี้ แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ ผมไม่แน่ใจว่าการเสียรังวัดที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เรื่องนี้ “ไม่จบเร็ว” ใช่หรือไม่ เพราะวันต่อมาปรากฏบทความกล่าวหาเนติวิทย์ โดยการใช้รูปภาพที่อ้างว่าเป็นเนติวิทย์กำลังหมอบกราบคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยกล่าวหาว่าเนติวิทย์กราบคุณหญิง แต่ไม่ยอมกราบถวายบังคมเสด็จพ่อ ร.5

จากนั้นก็โพสต์และแชร์บทความดังกล่าวต่อไปในโลกโซเชียล นอกจากจะกล่าวหาเนติวิทย์แล้ว ยังมีการกล่าวหาว่าคุณหญิงหน่อยเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการกระทำของเนติวิทย์ หลังจากเรื่องนี้เผยแพร่ไปได้ไม่มากเท่าไรก็กลายเป็นเรื่อง “โอละพ่อ” อีกครั้ง เพราะรูปที่ขบวนการดิสเครดิตนำมาใช้เพื่อหลอกลวงประชาชนในครั้งนี้ไม่ใช่เนติวิทย์ แต่เป็นรูปของ “เก่ง การุณ” อดีต ส.ส.หลายสมัย ขวัญใจคนดอนเมืองนั่นเอง

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะคิดว่าคนไทยทุกคนไม่มีความจำเป็นต้องมีความเห็นตรงกันทุกเรื่อง และไม่แปลกถ้าเราจะเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล แต่ทุกวันนี้สังคมแตกแยกและมีความขัดแย้งกระจายอยู่ทุกหย่อมหญ้า เนื่องจากแต่ละฝ่ายต้องการเอาชนะคะคานกันจนลืมเหตุลืมผล ซ้ำร้ายยังแต่งเรื่องเล่าความเท็จเพื่อทำร้ายและทำลายฝ่ายที่เห็นต่าง หากปล่อยเอาไว้แบบนี้รับรองว่าประเทศไทยไม่มีวันดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรช่วยกันอย่างจริงใจ ใครก็แล้วแต่ที่ชอบสร้างเรื่องเท็จเพื่อกล่าวหาผู้อื่นไม่ควรได้รับความเชื่อถือจากสังคมอีกต่อไป ผมเข้าใจได้และไม่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องคิดเหมือนกัน แต่ไม่ว่าเราจะเกลียดกันมากแค่ไหนก็ไม่ควรเอาเรื่องโกหกมดเท็จมาทำร้ายกัน โดยเฉพาะ “นักเลงคีย์บอร์ด” ทั้งหลายควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนโพสต์ก่อนแชร์ ไม่เช่นนั้นท่านนั่นแหละที่จะเป็นสาเหตุสร้างความแตกแยกให้กับประเทศของเรา

สุดท้ายผมขอเตือนด้วยความหวังดีอีกครั้งว่า หากท่านโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเสียหาย หากเจ้าทุกข์เอาเรื่องขึ้นมา เรื่องสนุกสะใจของใครบางคนจะกลายเป็นเรื่องเศร้าทันที ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจอย่าเสี่ยงดีกว่าครับ


You must be logged in to post a comment Login