วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สองคนยลตามช่อง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On March 20, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

เรื่องการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 16,000 ล้านบาท กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งก่อนที่อายุความจะหมดในช่วงสิ้นเดือนนี้

เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกรมสรรพากร กับรัฐมนตรีในรัฐบาล นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนมีความเห็นแตกต่างกัน

ในส่วนของกรมสรรพากรตีธงว่าเรื่องนี้สิ้นสุดแล้ว ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ แต่รัฐมนตรีในรัฐบาล นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงหน่วยงานตรวจสอบอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่จบ ต้องเรียกเก็บภาษีก้อนนี้ หากไม่เก็บต้องมีคนติดคุกและต้องมีคนชดใช้เงินก้อนนี้แทน

อย่างไรก็ตาม เรื่องได้ถูกโยนให้เป็นการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

การโยนให้เป็นหน้าที่ตัดสินใจของหัวหน้า คสช. นับว่ามีผลดีประการหนึ่งคือ ไม่ว่าจะตัดสินใจไปในทิศทางไหน อย่างไร “บิ๊กตู่” มีเกราะคุ้มกันแน่นหนา ไม่ต้องกลัวใครตามล้างตามเช็ดหลังลงจากอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวนิรโทษกรรมล่วงหน้าไว้ทุกการกระทำแล้ว

ไม่ว่าท่านผู้นำรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร อยากพาย้อนไปดูเหตุผลของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นว่าต้องเรียกเก็บภาษีจาก ดร.ทักษิณ และฝ่ายที่เห็นว่าไม่มีอำนาจไปเรียกเก็บ เพื่อดูว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอให้ใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรภายในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความ 10 ปี กรณีนี้กรมสรรพากรสามารถทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้ ดร.ทักษิณได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อน เพราะมาตรา 61 มิได้บังคับให้ออกหมายเรียกก่อนประเมินภาษีเหมือนมาตรา 49 ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อนจึงจะประเมินได้

ถ้ากรมสรรพากรเกรงว่าจะเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบก่อน สตง. เห็นว่ากรมสรรพากรเคยออกหมายเรียกตรวจสอบนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ดร.ทักษิณ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนของ ดร.ทักษิณผู้มีเงินได้ที่แท้จริง ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่ 242-243/2555 การออกหมายเรียกตรวจสอบตัวแทนทั้งสองจึงมีผลผูกพัน ดร.ทักษิณ ซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 และ 821 มีผลเท่ากับได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบ ดร.ทักษิณไปแล้ว

กรมสรรพากรจึงมีอำนาจประเมินให้ ดร.ทักษิณเสียภาษี 16,000 ล้านบาทได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบอีก ซึ่งการส่งหนังสือแจ้งการประเมินกรมสรรพากรสามารถส่งโดยวิธีปิดหนังสือดังกล่าวไว้ที่บ้านที่ ดร.ทักษิณมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะมีผลทันทีตามกฎหมาย เนื่องจาก ดร.ทักษิณอยู่นอกราชอาณาจักร

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุให้ทำความจริงให้กระจ่างในประเด็นที่สังคมสงสัยคือ 1.ทำไมกรมสรรพากรไม่ออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนภายใน 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร 2.ถ้ากรมสรรพากรออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนก่อนคดีขาดอายุความจะทำให้สามารถประเมินภาษีได้ต่อไปอีกหรือไม่ และ 3.ถ้าคดีขาดอายุความใครจะรับผิดชอบ จะถือว่ามีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ขณะที่กรมสรรพากรยืนยันว่า ได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555 ส่วนกรณีที่ สตง. เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความจะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไปหรือใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้

ตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรระบุไว้ว่า ในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้องมีอายุความ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้นมีอายุความ 10 ปี สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาได้ยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555

ทั้งนี้ ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ปต่อนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้ว กรมสรรพากรในขณะนั้นไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และอัยการสูงสุด ลงนามในการไม่อุทธรณ์

ส่วนการเสนอให้ขยายอายุการประเมินภาษีตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาการยื่นภาษี การอุทธรณ์ การเสียภาษีนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากในมาตรานี้การขยายระยะเวลาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษผู้เสียภาษี เช่น กรณีภาษีมินิแบที่กรมสรรพากรได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้บริษัท เนื่องจากเป็นปัญหาการตีความที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทเอกชนจึงได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่บริษัท เพราะหากไม่ขยายระยะเวลาการยื่นแบบทางบริษัทจะต้องถูกค่าปรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท ขณะที่เนื้อภาษีที่ต้องจ่ายจริงเพียงไม่กี่พันล้านบาท

ส่วนการจะขอใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น คงไม่สามารถใช้ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากในช่วงที่คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลภาษีกรมสรรพากรได้ใช้มาตรานี้เพื่อระบุว่านายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาเป็นผู้ที่ลงนามในเอกสารสำคัญที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินคือหุ้นชินนั้นแล้ว แต่ศาลภาษียกประเด็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ระบุว่าหุ้นทั้งหมดรวมหุ้นที่เป็นกรณีพิพาททางภาษีนี้ด้วยเป็นของ ดร.ทักษิณ ดังนั้น จึงไม่สามารถยื่นฟ้องซ้ำในคดีเดียวกันนี้ได้อีก

นี่เป็นเหตุผลของทั้งฝ่ายที่เห็นว่าสามารถเรียกเก็บภาษีจาก ดร.ทักษิณได้ และฝ่ายที่เห็นว่าไม่สามารถเรียกเก็บได้แล้ว เข้าตำรา “สองคนยลตามช่อง” เรื่องเดียวกันแต่มีความเห็นที่แตกต่างกัน

ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเอง บทสรุปของเรื่องจึงขึ้นอยู่กับว่าเหตุผลใดจะโดนใจผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือผู้มีอำนาจจะเลือกใช้เหตุผลของฝ่ายใดมาอธิบายการตัดสินใจก็เท่านั้นเอง


You must be logged in to post a comment Login