วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

“ฝังเข็ม” อีกหนึ่งทางเลือกของการรักษา เป็นมากกว่าวิธีแก้ปวด

On December 13, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.จีนธนัตเทพ เตระทวีดุลย์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  13-20 ธันวาคม 2562)

ฝังเข็มเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งของการแพทย์แผนจีนที่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยหลักสูตรการเรียนการสอนได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ผู้ทำการรักษาจะมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะเหมือนแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาโดยวิธีฝังเข็มนั้นแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าสามารถเข้ารับการรักษาได้หรือไม่

การรักษาด้วยวิธีฝังเข็มสามารถทำได้ในทุกช่วงอายุ ที่ผ่านมาเคยมีการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มในเด็กเพื่อช่วยในเรื่องพัฒนาการและรักษาอาการปวดต่างๆ เด็กที่จะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องสามารถทนอยู่นิ่งๆตลอดเวลา 20-30 นาทีของการฝังเข็มได้ และผู้ปกครองควรรับทราบและยินยอมให้มีการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวด้วย

อาการแบบไหนบ้างที่รักษาได้ด้วยการฝังเข็ม

แพทย์จะเป็นผู้ประเมินการรักษาตามอาการเจ็บป่วยและเงื่อนไขของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน อาการที่นิยมรักษาด้วยการฝังเข็มจะเป็นอาการปวดเมื่อยต่างๆ ปวดหลัง ปวดขา ปวดศีรษะ ปวดเข่า ออฟฟิศซินโดรม บาดเจ็บจากขาพลิก ขาแพลง เป็นตะคริว เคล็ดขัดยอกที่เกิดจากการออกกำลังกาย นอนไม่หลับเพราะความเครียด วิตกกังวล โรคภูมิแพ้ นิ้วล็อกในระยะเริ่มต้น อัมพฤกษ์อัมพาตในระยะเริ่มต้น การฝังเข็มจะช่วยฟื้นฟูกระตุ้นให้ระบบต่างๆกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยรักษาควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อกระตุ้นให้ระบบร่างกายกลับมาทำงานตามปกติได้ไวขึ้น ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และยังมีบางคนที่ฝังเข็มเพื่อลดความอ้วน เพื่อปรับสมดุลร่างกาย ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและการออกกำลังกาย

นอกจากอาการและโรคต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว การฝังเข็มยังใช้สำหรับการเสริมความงามได้ด้วย มีการฝังเข็มเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดลมมาเลี้ยงบริเวณใบหน้าได้ดีขึ้น ลดฝ้า กระ ริ้วรอย ทำให้ใบหน้าผ่องใส

ฝังเข็มเจ็บไหม ถ้ากลัวเข็มมีวิธีรักษาแบบอื่นหรือไม่

เข็มที่ใช้ฝังจะมีลักษณะคล้ายเข็มเย็บผ้า แต่มีขนาดที่บางกว่า เป็นเข็มที่ออกแบบมาเพื่อการฝังเข็มโดยเฉพาะ เวลาปักเข็มจะใช้ความเร็วและทักษะของหมอแต่ละคน และจะใช้มือกระตุ้นด้วยการดึงเข็มขึ้นลง ซึ่งจะเจ็บมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ แต่น้อยกว่าการฉีดยาอย่างแน่นอน ปัจจุบันมีการนำเครื่องกระตุ้นไฟฟ้ามาช่วย ทำให้การกระตุ้นทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่การจะใช้เครื่องกระตุ้นหรือไม่นั้น แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้ประเมินอาการ เพราะบางอาการอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาโดยวิธีฝังเข็มได้ผลควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะห่างของการรักษาแต่ละครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์ สำหรับใครที่กลัวเข็มแต่ต้องการรักษาตามแผนจีนสามารถเลือกการรักษารูปแบบอื่นได้ เช่น การครอบโคม เป็นต้น

เตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับการฝังเข็ม

สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานก่อนเข้ารับการรักษา 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเป็นลมสำหรับคนที่มีอาการกลัวเข็ม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่บีบรัด เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวกช่วงที่มีการฝังเข็ม สำหรับผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือดจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบล่วงหน้าด้วย

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยการฝังเข็ม หรือคำถามด้านสุขภาพอื่นๆ สามารถขอรับคำปรึกษาได้จากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และยังสามารถติดตามสาระดีๆเกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ค : Principal Healthcare Company


You must be logged in to post a comment Login