วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

หนังสือ : ผมชื่อ‘โสภณ พรโชคชัย’

On August 8, 2019

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  วันที่  916 สิงหาคม 2562)

ผมเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มล่าสุดชื่อ “ผมชื่อ ‘โสภณ พรโชคชัย’ ชีวิตทะนงที่ไม่ใช้โจรพายเรือให้นั่งสู่ความสำเร็จ” อยากให้อ่านเพราะผมพยายามตีโต้กระแสทวนที่สามานย์ในสังคม ไม่ได้มาขายหนังสือนะครับ ดาวน์โหลดแจกฟรีครับผม

ทุกวันนี้เราพูดถึงแต่คนดี (ที่ไม่ได้ดีจริง) แต่มักอ้างตนเป็นคนดี มี “คนดี” มากมายที่ไร้ค่า อยู่ไปก็ “หนักแผ่นดิน” เพราะมัวเมาในอำนาจ ลาภยศ สรรเสริญ อ้างตัวเป็นคนดีที่เราคุ้นชินกันในยุทธนิยายกำลังภายใน หรือแม้ในชีวิตจริงของบ้านเราก็มากมี

ผมอยากส่งเสริมค่านิยมการเห็นคนเท่ากัน ไม่มีสาวก ไม่ใช่ว่าเป็น “อาจารย์” แล้วยกตนเป็นคนอีก “ชนชั้นหนึ่ง” ผมจึงส่งเสริมการไหว้ คือใครพบหน้าใครก่อนก็ไหว้ ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่รอรับไหว้แต่ถ่ายเดียว กลายเป็นพวกศักดินา เจ้าขุนมูลนาย แบบนี้ไม่ถูกต้อง คนเป็นผู้ใหญ่สมควรทำความเคารพผู้น้อยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราเคารพผู้คนตามอาวุโส ไม่ใช่ตามคุณวุฒิหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน

เราควร “พอเพียง” กับชีวิตในลักษณะที่ไม่เบียดเบียนใคร จะเห็นได้ว่าผู้เบียดเบียนมักมีฐานะผู้ใหญ่ เป็นคนโตมากกว่าคนเล็กๆ เราไม่ควรสอนให้คนชมชอบการเสพสุข เพราะบ้านเมืองจะเสื่อมถอยไม่เจริญก้าวหน้า เราไม่ควรส่งเสริมให้ผู้คน “นิยมวัตถุ” แต่ควรมีความคิดแบบ “วัตถุนิยม (สสารนิยม)” พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ “จิตนิยม” แบบทึกทักถือเอาใจตนเป็นใหญ่

เราอยู่ในวงการใดก็ตาม ถ้าตั้งใจจะทำประโยชน์ต่อวงการนั้นก็ไม่ควรจะ “ทำมาหากิน” แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว โดยเฉพาะพวกนายกสมาคมต่างๆ ยิ่งอยู่นานยิ่งรากงอก ก็เพราะมีผลประโยชน์เคลือบแฝง หากินแบบนี้น่าละอาย บ้างก็รีดไถคนอื่นมาทำดี นั่นเป็นสิ่งที่น่าละอายยิ่งขึ้นไปอีก

ebook37

เราต้องมีความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่งมงาย ไม่ให้ใครอ้างเทวดาฟ้าดินมาลวงเรา ในด้านการบริหารธุรกิจเราก็ควรดูแลเพื่อนร่วมงานให้ดี โดยเฉพาะผู้น้อย ให้พวกเขามีความสุข ผมจึงสร้างประเพณีตบเท้าอวยพรผู้น้อย แม้ผมก่อตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อสอนความรู้ให้แก่ผู้คน แต่ก็ยืนหยัดว่ามิใช่สถาบันหากินส่วนตัว คนเป็นครูต้องส่งเสริมให้ศิษย์ก้าวล้ำหน้าเราไปจึงจะถูกต้อง

เราต้องการ “ชูธงโต้กระแสทวน” ไม่ยอมศิโรราบต่อความคิดหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ต้องหาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่หวาดหวั่นต่อกระแสสังคมใดๆ โดยเฉพาะความคิด “ดราม่า” “น้ำเน่า” ไม่ใช่ถือคติเอาตัวรอดประเภท “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือเอาแต่ “พูดดีใส่ตัว พูดชั่วใส่คนอื่น” ในสังคมปากว่าตาขยิบเราควรกล้าให้การศึกษาสังคมโดยไม่กลัวการใส่ร้ายป้ายสีให้แปดเปื้อน แต่เราต้องรู้จักให้เกียรติผู้อื่นเสมอ

ผมถือเสมอว่าเราต้องเห็นคนเท่ากัน ไม่มีสาวกหรือลูกหาบเพื่อให้ตนดูดี ผมจึงมักไหว้คนอื่นก่อนเสมอไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าผมเห็นก่อน เพื่อให้เกิดการแสดงความนับถือกัน ถ้าทำผิดก็ยินดีจะขออภัยผู้น้อยโดยไม่ถือตัว

ผมยังพยายามเสนอ

1.“CSR-พอเพียง สไตล์ ดร.โสภณ” ที่ไม่ไปไถใคร แต่เน้นการทำดีด้วยน้ำพักน้ำแรงของใคร ไม่ใช่ไปเที่ยวไถ เที่ยวขอใครต่างตอบแทนไปเรื่อยๆ เพราะการไถนอกจากสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นแล้ว ยังสร้างวงจรการทุจริตและประพฤติมิชอบอีกด้วย

2.การมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นแนวคิดวัตถุนิยม (Materialism) ที่ไม่ “นิยมวัตถุ” หรือของหรูๆประดับบารมีแบบ “นาฬิกายืมเพื่อน”

3.เราไม่ควรแสงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ และที่สำคัญเราควรมีความละอาย ไม่ใช้สถานะของการเป็นอาจมอาจารย์ ไม่ใช้สถาบันที่ตนสังกัดมาหากิน (แต่ในสังคมทำกันเกลื่อน) ยิ่งมีตำแหน่งแห่งที่เป็นนายกสมาคมพวกนี้ยิ่งหากินโดยมิชอบ สังเกตได้จากพวกนายกที่อยู่นานๆจนรากงอกเพราะมีผลประโยชน์

4.ในสังคมนี้นอกจากมีอาจารย์ หมอผี ที่ดูออกได้ง่ายๆว่าหลอกลวง ยังมีพวกซินแส อาจมอาจารย์ โค้ชอสังหาริมทรัพย์จอมฉ้อฉลที่หากินบนความศรัทธาของคนอื่น พวกนี้พาคนเข้ารกเข้าพง ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเสียทรัพย์กันมากมาย ส่วนผมแม้จะสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกก็ไม่เคยเรียกตนว่าอาจารย์ เพราะในแง่หนึ่งเป็นการยกตนโดยไม่สมควร

ผมขอส่งท้ายว่า หลายคนยึดติดกับหัวโขน ลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่ง ที่มีคนอื่นหยิบยื่นให้เพื่อเป็นเสมือนปลอกคอ สิ่งเหล่านี้เข้าใจได้ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้ไปปล้นใครมา แม้ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง (ของการเลีย) แต่ผมไม่ชอบเกาะใครหากิน ไม่ชอบเป็นดาวเคราะห์ที่อาศัยแสงสว่างของคนอื่น ไม่ใช่ผมอยากเด่นอยากดัง แต่อยากสร้างค่านิยมใหม่ที่ไม่สยบยอมต่อผู้มีอำนาจที่ทุจริตโดยการพายเรือให้โจรนั่ง

ที่สำคัญ ไม่ให้โจรพายเรือให้เรานั่ง (ประสบความสำเร็จโดยอาศัยโจร)

 

ป.ล. ดาวน์โหลดหนังสือ ผมชื่อ ‘โสภณ พรโชคชัย’ ชีวิตทะนงที่ไม่ใช้โจรพายเรือให้นั่งสู่ความสำเร็จ” ได้ตามลิ้งค์นี้ : https://bit.ly/2YqLFE3


You must be logged in to post a comment Login