วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

พิษเศรษฐกิจ

On July 10, 2019

คอลัมน์ : สำนัก(ข่าว)พระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 10 ก.ค. 62)

เมื่อเร็วๆนี้คุณศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมาบอกว่า ได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่าในปีการศึกษา 2562 มีโรงเรียนเอกชนที่เสนอขอเลิกกิจการแล้วจำนวน 10-15 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนอนุบาลขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดกลาง สำหรับการวางแผนในอนาคตต้องยอมรับว่าเราคงทำลำบาก เพราะนโยบายรัฐบาลอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด และสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบมากคือ นโยบายที่ให้ สพฐ. จัดสอนอนุบาล 3 ปี และการจัดการศึกษาของ สพฐ. นั้นซ้ำซ้อนกับโรงเรียนเอกชน

ยกตัวอย่าง โรงเรียน ก. ของรัฐบาล อยู่ติดกับโรงเรียน ข. ของเอกชนที่มีการจัดการสอนอนุบาล 3 ปีอยู่แล้ว เมื่อโรงเรียน ก. เปิดสอนอนุบาล 3 ปี เด็กก็จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียน ก. เพราะเป็นโรงเรียนของรัฐที่ได้รับการอุดหนุนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของโรงเรียนเอกชนอย่างมาก สิ่งที่โรงเรียนเอกชนสามารถทำได้คือการตั้งรับ ทั้งเรื่องการลดจำนวนบุคลากร ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ และได้เตรียมข้อมูลการแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนด้านต่างๆ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ช่วยวางแผนขับเคลื่อนแก้ปัญหานี้

การที่โรงเรียนเอกชนจำนวน 10 กว่าแห่ง ที่เป็นโรงเรียนระดับอนุบาลขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดกลางขอปิดกิจการ ทุกฝ่ายต้องมาคิดหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เป็นเพราะคนเกิดน้อย หรือมีปัจจัยอื่นหรือไม่ เช่น สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงขั้นที่คนที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยอยู่ลำบากมากขึ้น ต่างกับคนอีกส่วนหนึ่งที่มีหลักทรัพย์พอสมควรก็สามารถส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนได้ไม่มีปัญหาอะไร

คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอาจย้ายให้ลูกไปเรียนโรงเรียนของรัฐบาล หรือให้ลูกออกจากโรงเรียนก็มี ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีสาเหตุที่แปลกๆ ตอนนี้มีเด็กคนหนึ่งเรียนอยู่โรงเรียนระดับอาชีวะ แต่เด็กคนนี้ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนนี้มีเรื่องตีกันบ่อยกับโรงเรียนคู่อริ เขากลัวจะโดนทำร้าย พ่อแม่ก็เป็นห่วงกลัวว่าลูกจะถูกนักเรียนโรงเรียนคู่อริดักทำร้าย ก็เลยสั่งให้ลูกหยุดเรียน ให้อยู่บ้านเฉยๆ นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน

ปัญหาใหญ่น่าจะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังฝืดเคืองเป็นหลัก ตามมาด้วยการทะเลาะวิวาทกันของนักเรียนต่างสถาบัน เกรงว่าจะถูกทำร้าย ปัญหาโดยรวมที่เกิดขึ้น ดูแล้วน่าเสียดายที่โรงเรียนเอกชนที่เป็นแหล่งผลิตความรู้ให้เด็กหลายแห่งต้องปิดตัวลง และมีแนวโน้มจะทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่องหากปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ จะทำให้ความไม่รู้เข้ามาครอบงำเด็กไทย ส่วนจะมากแค่ไหน อย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราควรต้องรับฟังกันเป็นอย่างยิ่ง อย่าให้คำว่า “ไม่รู้ ไม่เรียน ไม่เรียน ไม่รู้” อยู่ในเมืองไทยเราเลย เพราะเมืองไทย คนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เล่าเรียนศึกษา ยังมีความมุ่งมั่นพัฒนาสติปัญญาต่อไป

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login