วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ภาวะฝุ่นละอองกับปัญหาในผู้ป่วยโรคหืด

On July 5, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 5 – 12 กรกฎาคม 2562 )

ปัจจุบันปัญหาของผู้ป่วยโรคหืดทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน พบว่าโรคหืดจะเกิดในเด็กร้อยละ 10 ส่วนผู้ใหญ่ร้อยละ 5 และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 1,500 คน เฉลี่ยถึง 3 คนต่อวัน โดยร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตดังกล่าวสามารถป้องกันได้ เนื่องจากวิถีชีวิตประจำวันของคนที่เร่งรีบทำให้มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคหืดเพิ่มสูงขึ้น และผลพวงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่างๆล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง จนเกิดเป็นหมอกควันที่ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ เมื่อสูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ รวมถึงเป็นอันตรายโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจต่างๆ รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดก็มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยจึงหยิบยกเรื่องของโรคหืดมาเพื่อเตือนและตระหนักสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสังคมมากยิ่งขึ้น

โรคหืดเป็นโรคของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหลอดลมจะหดเกร็งทำให้หลอดลมเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หอบ เป็นๆหายๆ โรคหืด ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจจะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากพ่อ แม่ ไปสู่ลูกหลานได้ โดยโรคหืดเกิดจากการอักเสบในหลอดลม การอักเสบนี้อาจเกิดได้จากการสัมผัสกับสารภูมิแพ้ เช่น ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น หรือการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อบางชนิด

หลอดลมอักเสบจะทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหลอดลมจะหดตัว ทำให้คนไข้เกิดอาการไอ หายใจลำบากมีเสียงวี้ด เป็นๆ หายๆได้ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้หลอดลมตีบได้แก่ สารภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การออกกำลังกาย หัวเราะ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อาการที่สังเกตได้ง่ายเมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดคือ มีอาการไอ หอบ หายใจมีเสียงวี้ด เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการตอนกลางคืน หรือมีอาการไอเรื้อรัง หลังจากเป็นหวัดแล้วไอไม่หาย ก็ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหืดได้

การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดทำได้โดยการตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งเป็นการตรวจที่ทำได้ไม่ยากและไม่เจ็บตัว โดยการเป่าลมแรงๆเข้าไปในเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (spirometry) การตรวจสมรรถภาพปอดจะบอกได้ว่าผู้ป่วยมีหลอดลมตีบมากน้อยเพียงใด ถ้าหลอดลมตีบก็จะเป่าลมได้น้อย คนไข้โรคหืดควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดทุกคนเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดจริงหรือไม่ ถ้าเป็นโรครุนแรงระดับไหน นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอดยังใช้ในการติดตามดูผลของการรักษาว่าดีขึ้นมากน้อยอย่างไร หลังการรักษาผู้ป่วยสามารถตรวจวัดสมรรถภาพปอดตนเองได้ง่ายๆด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าพีคโฟลว์มิเตอร์ (Peak flow meter) ซึ่งจะวัดความเร็วสูงสุดที่เราเป่าลมออกมาได้ หน่วยเป็นลิตร/นาที ถ้าหลอดลมตีบความเร็วของลมจะน้อย ทำให้ผู้ป่วยสามารถติดตามประเมินโรคหืดของตัวเองได้ที่บ้าน

การรักษาโรคหืดนั้น แต่ก่อนเราเข้าใจว่าโรคหืดเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เนื่องจากเราไม่เข้าใจสาเหตุการเกิดโรค แต่ปัจจุบันเรารู้ว่าโรคหืดมีการอักเสบของหลอดลม ทำให้เวลาเจอสิ่งกระตุ้นหลอดลมถึงตีบ ดังนั้น การรักษาโรคหืดในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การให้ยาลดการอักเสบของหลอดลม เมื่อหลอดลมอักเสบลดลงก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น พอเจอสิ่งกระตุ้นก็จะไม่หอบ คนไข้โรคหืดก็จะกลับมาเป็นคนปกติได้ ในอดีตเรามักจะใช้แต่ยาขยายหลอดลมเวลามีอาการจับหืด ทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราว ซึ่งเป็นการรักษาอาการเท่านั้น ไม่ได้รักษาการอักเสบของหลอดลม ดังนั้น โรคหืดจึงไม่ดีขึ้น และอาการมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่เป็นหืด โดยหลักการรักษาโรคหืดมีดังนี้

1) หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้หลอดลมอักเสบ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมที่สำคัญคือสารภูมิแพ้ ได้แก่ ไรฝุ่น ขนสัตว์ แมลงสาบ เกสรดอกไม้ เชื้อรา ดังนั้น คนไข้โรคหืดควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ปราศจากฝุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอน

2) ใช้ยารักษา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดมีทั้งยากิน ยาฉีด ยาพ่น ยาพ่นเป็นยาที่ดี เพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ จึงได้ผลดี และปริมาณยาที่ใช้จะมีขนาดต่ำมาก ดังนั้น จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากิน ในปัจจุบันการรักษาโรคหืดนิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นหลัก ยารักษาโรคหืดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ

2.1 ยารักษาโรคที่เป็นยาลดการอักเสบของหลอดลม ที่สำคัญได้แก่ ยาพ่นสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้จะเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืด ซึ่งจะต้องใช้ยาทุกวันเป็นเวลานานเพื่อลดการอักเสบของหลอดลม เมื่อหลอดลมอักเสบดีขึ้น หลอดลมจะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น อาการหอบก็จะหายไปในที่สุด ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นยาที่ปลอดภัย เพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมาก ไม่เหมือนกับการกินยาสเตียรอยด์ซึ่งจะมีโทษมาก โทษของยาพ่นสเตียรอยด์ที่อาจพบได้ เช่น เสียงแหบ และมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ป้องกันได้โดยบ้วนปากทุกครั้งหลังพ่นยา

2.2 ยาขยายหลอดลมหรือยาบรรเทาอาการ เช่น เวนโทลิน, บริคคานิล, เม็บติน ยานี้จะใช้เพื่อบรรเทาอาการเวลาหอบเท่านั้น ไม่มีส่วนในการรักษาโรค อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้คือ อาจจะมีใจสั่น มือสั่นบ้าง

3) ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรคและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม และดูอาการข้างเคียงต่างๆที่เกิดขึ้นจากการรักษา

สำหรับผู้ป่วยโรคหืดที่มารับการรักษาช้า เมื่อมีอาการน้อยๆมักจะไม่มารักษา จะใช้แต่ยาขยายหลอดลมบรรเทาอาการโดยไม่ได้ยาพ่นรักษา ทำให้การอักเสบของหลอดลมเป็นมากขึ้นจึงจะมาพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งจะไม่ได้ผลดีเหมือนผู้ป่วยที่มารักษาแต่เนิ่นๆ การปล่อยให้หลอดลมอักเสบอยู่เป็นเวลานานจะทำให้ผนังหลอดลมหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดลมตีบถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาเป็นปกติได้ หลักการรักษาโรคหืดในปัจจุบันจึงควรเริ่มรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของหลอดลม เป้าหมายของการรักษาโรคหืดคือ ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องควรจะควบคุมโรคได้คือ ไม่มีอาการหอบ ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ต้องไปพบแพทย์ฉุกเฉินเพราะอาการหอบ มีสมรรถภาพปอดที่ปกติ สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เหมือนคนปกติ และไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา


You must be logged in to post a comment Login