วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

แก้ความเหลื่อมล้ำให้ได้ก่อน / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On July 31, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

สถานการณ์บ้านเมืองภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขโดยด่วนและนับวันยิ่งสะสม รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ คนลำบากมากขึ้น เงินออมที่เคยมีก็หมดไป โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรเกือบทุกชนิดมีปัญหา เกษตรกรอาจออกมาเคลื่อนไหวได้ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาการเมือง หากรัฐบาล คสช. ปล่อยให้ปัญหาเป็นอย่างนี้จะยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม

ผมเคยเสนอและนำอดีต ส.ส.ภาคใต้ของพรรคไปพบนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาพูดคุยว่าปัญหาคืออะไร ถ้ารัฐบาล คสช. แก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะชาวบ้านจะออกมาชุมนุมกดดันรัฐบาล จะไปปรามาสเขามากเกินไปไม่ได้ เพราะปากท้องของเขา รัฐบาล คสช. แก้ไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะยางพารา แต่พืชผลทางการเกษตรทุกชนิด หากรัฐบาลแก้ไม่ได้ก็ต้องเสียแนวร่วม แม้แต่ภาคใต้ที่เคยสนับสนุนก็จะเสียแนวร่วมหมด ยางพาราไม่ใช่ปลูกเฉพาะภาคใต้ เหนือ อีสานก็มีปลูกและมีปัญหาหมด

ส่วนเรื่องการสร้างความปรองดองผมคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ การปฏิรูปต่างๆมีลักษณะ “คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ” เป็นการปฏิรูปที่ใช้หลักวิชาจากต่างประเทศมาปฏิรูป ไม่สอดคล้องกับบริบทด้านสังคมวัฒนธรรมและการเมืองไทยเท่าไร จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ เช่น การปฏิรูปตำรวจมีปัญหา 100 เปอร์เซ็นต์แน่ จำนวนตำรวจเปรียบเทียบกับประชาชน ตำรวจมี 200,000 คน แต่ประชาชนมี 70 ล้านคน เพราะฉะนั้นปฏิรูปตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปฏิรูปประชาชนด้วย

อย่างเรื่องสินบน เมื่อยังมีผู้ให้ก็มีผู้รับ การให้เงินตำรวจกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่ต้องการซื้อความยุติธรรม ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตรงนี้ด้วยว่าความยุติธรรมซื้อขายไม่ได้ ตำรวจที่ทำงานในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งตั้งแต่อายุ 22 ปีจนจะเกษียณ ถามว่าถ้าตำรวจคนนี้เป็นผู้มีอิทธิพลแล้วทำความผิด ตำรวจจะกล้าจับหรือไม่ หรือเคยเป็นผู้กำกับมือปราบ ทำงานดีมากจนอายุ 57-58 ปีจะเกษียณแล้ว ผมถามว่าเดี๋ยวนี้ทำไมผู้กำกับไม่ค่อยมีผลงานเลย ผู้กำกับก็บอกว่าอีก 2 ปีจะเกษียณ ตอนหนุ่มๆก็ไม่มีปัญหา ตอนนี้อายุ 58 ปีจะเกษียณแล้ว แต่พวกผู้มีอิทธิพลไม่ได้เกษียณตามไปด้วย นับวันมันก็เติบโตเข้มแข็ง ผู้กำกับเกษียณแล้วก็ยังอยู่ยาก อย่างนี้ก็ต้องเอาไปคิดปฏิรูปให้รอบคอบรอบด้านด้วย

ปฏิรูปตำรวจเสร็จยุคนี้หรือไม่

ถ้าความหมายของการปฏิรูปคือการแก้ไขกฎหมาย หมายถึงการปรับปรุงระเบียบกติกาต่างๆ ผมคิดว่าทำได้ แต่ระเบียบ กฎกติกาทั้งหลายที่ออกมาจะแก้ปัญหาได้หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ เหมือนรัฐธรรมนูญดีๆตั้งหลายฉบับแต่ก็แก้ปัญหาของประเทศชาติไม่ได้ เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ออกแล้วแก้ปัญหาตำรวจได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ อย่างที่ผมเรียนว่ามันขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนด้วย

ส่วนโพลบางสำนักเสนอให้ใช้มาตรา 44 ปฏิรูปตำรวจ ถ้าตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ความจริงหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว รัฐบาลควรใช้มาตรา 44 ให้น้อยที่สุด การปฏิรูปตำรวจก็ควรปล่อยให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเขาว่ากันไป ประเด็นเรื่องกฎหมายก็ส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไป จะได้ฟังหลายคนหลายฝ่าย

การปฏิรูปด้านอื่นๆเป็นอย่างไร

การปฏิรูปประเทศมันเยอะมาก มีหลายเรื่องต้องปฏิรูป เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำรายได้ของประชาชน อย่างเจ้าสัวตระกูลที่รวยที่สุดในเมืองไทยอันดับ 1 ถึง 10 เขาทำธุรกิจหลักๆ 2 เรื่องคือ ค้าน้ำเมากับสินค้าทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ พืชผลต่างๆ มันเป็นสินค้าที่ทำกับคนจนทั้งนั้น กลายเป็นว่าคนเหล่านี้รวยขึ้นหลายเท่า แต่คนจนกลับจนลงหลายเท่าเหมือนกัน คนรวยที่ทำธุรกิจกับคนจนทำไมยิ่งรวย แต่คนจนที่ทำธุรกิจกับคนรวยยิ่งจน ผมคิดว่ารัฐบาล คสช. ไปแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ดีกว่า ไม่ต้องปฏิรูปอะไรเยอะหรอก รัฐบาลควรลงไปดูว่าปัญหาคืออะไร ทำไมช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมันเยอะมาก และนับวันมันยิ่งกว้างออกไป

จะมีเลือกตั้งตามโรดแม็พหรือไม่

เราต้องเข้าใจคำว่าโรดแม็พคืออะไรก่อน คือสิ่งที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ในรัฐธรรมนูญก็บอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ภายในเวลาเท่าไร เช่น ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน แล้วต้องเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 150 วัน อันนี้คือโรดแม็พ ไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดเอง เมื่อเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็มีอย่างเดียวคือแก้รัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็ต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญ ตามโรดแม็พ จะไม่ทำได้อย่างไร ถ้าไม่ทำตามรัฐธรรมนูญก็มาจาก 2 สาเหตุคือ 1.มีการแก้รัฐธรรมนูญหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร ก็ไม่ต้องเลือกตั้ง และ 2.มีการคว่ำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ถ้าคว่ำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไร อาจจะบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วเลือกตั้งภายใน 5 ปี 6 ปีก็เป็นไปได้หมด อันนี้เราไม่รู้แล้ว ผมคิดว่าการคว่ำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถือว่าง่ายที่สุดที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราจึงไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกนานเท่าไร

ถ้าไม่มีเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น

หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จะแก้รัฐธรรมนูญหรืออะไรก็ตาม รัฐบาล คสช. ต้องมั่นใจว่าเขาควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งหมายถึงว่าเขาอยากอยู่นาน ก็ต้องถามเขา ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีประชาชนกลุ่มไหนที่จะออกมาทวงสัญญาหากไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 ถ้าประชาชนคิดว่ารับได้ อยากให้ทหารอยู่นาน ก็ร่วมมือกันต่อไป แต่ถ้าประชาชนคิดว่าพอแล้ว ประชาชนไม่เอาแล้ว ก็จะมีปัญหาทันที

มองบทบาท กปปส. อย่างไร

การที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา คสช. เองก็มีทั้งคนชมและคนไม่เห็นด้วย ส่วนรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่า ส.ส. จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อีกกลุ่มเป็นพรรคเพื่อไทย และกลุ่มที่ 3 เป็นพรรคเล็ก ซึ่งรวมกัน 500 คน ทีนี้การตั้งรัฐบาลก็ต้องรวมกันให้ได้ 2 ใน 3 ก็แล้วแต่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเล็กตั้งรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยร่วมกับพรรคเล็กตั้งรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันตั้งรัฐบาล ก็มีแค่นี้ ซึ่งโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีการพูดคุยอะไร เพราะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยเป็นคู่ต่อสู้ในทางการเมืองมา 10 กว่าปี ดังนั้น โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันก็ยาก

ส่วนที่มีข่าวว่า คสช. รวบรวมทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านนั้น ก็มีความเป็นไปได้ แต่เงื่อนไขสำคัญคือจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนตัวผมคิดว่า เราเอารายชื่อที่พรรคการเมืองเขาเสนอ 3 ชื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมไม่เห็นด้วยกับนายกฯคนนอก นี่คือหลักการของผม อยู่ๆเราไปเอาคนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีมันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด มันต้องเอาหัวหน้าพรรคคุณเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไปเอาคนนอกที่ไม่ได้หาเสียง ไม่เสียเหงื่อสักเม็ดหนึ่งมาเป็นนายกรัฐมนตรีมันก็เกินไป พรรคประชาธิปัตย์ชูคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ เพราะมีความเหมาะสม แม้ว่าการทำงานการเมืองสมัยหน้าจะลำบาก เพราะมันล็อกด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ

คสช. จะอยู่นานถึง 10 ปี

มันอยู่ที่นักการเมืองจะให้เขาสืบทอดหรือไม่ ถ้าเราไม่เอาเขามา เขาก็สืบทอดไม่ได้ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมไม่ค่อยกังวลเท่าไร แต่ที่กังวลมากที่สุดคือความขัดแย้งมันยังไม่จบ ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา พรรคเพื่อไทยก็ตามไล่อีก พรรคเพื่อไทยขึ้นมา ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ตามไล่อีก ปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ยังอยู่ในใจ เพียงแต่ตอนนี้เขาควบคุมไม่ให้ใช้เอ็ม 79 ยิงกันเท่านั้น อันนี้เป็นส่วนดีของ คสช. ถ้ามีการยิงกันอีก ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ ถ้ายังมีกองกำลังติดอาวุธก็มีโอกาสเกิดรัฐประหารอีก

ผมอยากฝากถึงผู้มีอำนาจให้เร่งทำความเข้าใจประเด็นความขัดแย้งกับประชาชนว่าในอดีตเราขัดแย้งกันเรื่องอะไร เข้าใจผิดกันอย่างไร เช่นเรื่องสองมาตรฐานจริงมั้ย เรื่องไพร่กับอำมาตย์จริงหรือไม่ ถ้าประชาชนเข้าใจก็จะไม่ใช้ความรุนแรง ก็จะเกิดความสามัคคีได้ แต่ถ้ายังปล่อยให้ประชาชนคิดว่าบ้านเมืองนี้ยุติธรรมฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยุติธรรม ความรุนแรงมันก็เกิดขึ้นได้อีก


You must be logged in to post a comment Login