วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตศรัทธา / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On May 22, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

ภาพรวมตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศนั้น รัฐบาลยังยึดนโยบายการปฏิรูปทั้งหมด 11 ด้าน แต่ปัญหาใหญ่ที่น่าวิตกคือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องประชาชน รัฐบาลพยายามอัดฉีดเงินลงไปสู่รากหญ้า แม้จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องกลับไปมองภาพเศรษฐกิจขนาดใหญ่ว่าเป็นอย่างไร ภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตอย่างไร

หากมองเรื่องฐานอำนาจช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว ต้องดูว่าโรดแม็พและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเดินหน้าไปอย่างไร เมื่อกองทัพยังให้การสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลก็ยังเดินต่อไปได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคครัวเรือนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพบว่าคนไทยเป็นหนี้สินมากขึ้น เศรษฐกิจจะเดินไปได้หรือไม่ก็อยู่ที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้กลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมากพอสมควร

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว ยางพารา และอีกหลายอย่าง ซึ่งราคาสินค้าเกษตรต่างๆยังไปไม่ได้ มีผลตรงที่ว่าถ้าเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่สินค้าเกษตรกรรมไม่โอเค มันก็ลำบากใจอยู่ ต้นทุนการทำเกษตรยังสูงขึ้น เราจะเห็นหนี้ภาคการเกษตรค่อนข้างสูงมากพอสมควร แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารออมสินเข้าไปช่วยพยุงก็ตาม แต่ทำไม่ได้เต็มที่ เราจะเห็นหนี้สูญของภาคเกษตรเยอะเหมือนกัน รัฐบาลพยายามออกบัตรเครดิตช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็ใช้แป๊บเดียว ก็ยังเป็นหนี้อยู่

กลายเป็นว่าเป็นการสร้างหนี้ไป ซึ่งรัฐบาลต้องปรับปรุงว่าทำอย่างไรในภาคเกษตรที่จะมีการผ่อนชำระกับธนาคาร คือต้องไปดูในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และการชำระหนี้ เพราะบางธุรกิจ เช่น อ้อย ปีหนึ่งรับผลประโยชน์ครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาจะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ทุกเดือน ฝากกระทรวงการคลังเข้าไปดูว่าจะต้องปรับการชำระหนี้ของภาคเกษตรเป็น 3 เดือน 6 เดือน โดยมองถึงธุรกิจที่สามารถให้ประชาชนในภาคเกษตรจ่ายเงินได้และไม่เดือดร้อน

ส่วนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันปัญหาอยู่ที่ความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะเห็นว่าบางหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบแต่กลับถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะฟอกขาว การปราบคอร์รัปชันจะเดินหน้าไปได้ต้องมองถึงคนกลางที่จะเข้ามาด้วย ตรงนี้ถือเป็นต้นทุนทางสังคม ความโปร่งใส ความเป็นกลางเรื่องนี้ยังมีน้อย จะทำอย่างไรให้เกิดตรงนี้

ผมในฐานะองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรมที่ทำเรื่องนี้มาตลอด มองว่าจริงๆแล้วรัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเป็นเพียงแค่ลูบหน้าปะจมูก ทำอย่างไรที่จะแก้แบบถาวร ซึ่งเราต้องดูว่ารัฐธรรมนูญที่มีบทเฉพาะกาลนั้นบังคับใช้อย่างไร ผมไม่อยากชี้ว่ารัฐบาลสอบตกหรือไม่ แม้แต่เรื่องเศรษฐกิจก็มีปัญหา เศรษฐกิจโลกยังไม่กระเตื้อง เรื่องความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ถ้าหากเกิดสงครามจริงก็กระทบอย่างมหาศาลแน่นอน ไม่เพียงญี่ปุ่น จีน รัสเซีย ไทยก็กระทบ โดยเฉพาะผลกระทบการส่งออก

ถ้าพูดไปก็เหมือนไม่ให้ความเป็นธรรมรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องปรับนโยบายเรื่องการคลัง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พยายามเน้นเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะการให้เช่าที่ดินถึง 99 ปี ตรงนี้ผมไม่รู้ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องมากน้อยขนาดไหน เนื่องจากการขยายฐานการผลิตขณะนี้ลดลง แต่ไปลงทุนในเพื่อนบ้านอาเซียนมากกว่า เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่าก็เปิดประเทศ อินโดนีเซียกับมาเลเซียก็เป็นคู่แข่งเรา แต่ถ้าเอสเอ็มอีเข้มแข็งขึ้นผมก็ว่าน่าจะไปได้

การซื้อเรือดำน้ำในช่วงนี้

ผมคิดว่าการมีเรือดำน้ำไว้ในประเทศไทยดีนะ เพราะภูมิภาคทะเลอันดามันค่อนข้างกว้าง ส่วนอ่าวไทยผมไม่กังวล แต่ที่มีปัญหาคือซื้อผิดจังหวะช่วงที่เศรษฐกิจและรัฐบาลมีเงินไม่มาก ส่งผลให้ประชาชนมองว่าการซื้อเรือดำน้ำตอนนี้จำเป็นหรือไม่ ที่สำคัญคือคณะรัฐมนตรีไม่เปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ จึงทำให้รัฐบาล คสช. เสียภาพลักษณ์ตัวเอง จริงๆประชาชนคิดว่ายังไงรัฐบาลชุดนี้ก็ซื้อแน่ แต่พออนุมัติลับก็ทำให้รัฐบาลเสียหายและถูกขยายความมาเรื่อยๆ อย่างเรื่องความโปร่งใส เพราะประชาชนศรัทธา พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องนี้มาก พอมีการอนุมัติอย่างนี้ก็กระทบต่อความศรัทธาของประชาชน ทำให้คิดว่าต่อไปนี้ฉันไม่เชื่อแล้ว

นายกรัฐมนตรีบอกว่าเรื่องนี้จะไม่พูดแล้ว พูดไปก็ช้ำใจ ผมเข้าใจมุมมองบางอย่างของนายกฯที่หนักใจเรื่องนี้ คือมองด้านเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลายประเทศมีการพัฒนาเรื่องอาวุธ ทำให้ไทยต้องพัฒนาด้วย จริงอยู่ช่วงนี้เราไม่มีการสู้รบกับใคร แต่ก็วางใจไม่ได้ จึงต้องระวัง ต้องเตรียมพร้อมเหมือนกัน

ผมอยากให้รัฐบาล คสช. สร้างเสถียรภาพให้มากกว่านี้ คือไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว อย่างเรือดำน้ำบอกว่ายังไม่ซื้อ เอาไว้ก่อน แต่ไปงุบงิบซื้อ ผมรู้สึกลึกๆว่า พล.อ.ประยุทธ์เกรงใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะพี่ใหญ่ที่ขอมา ทั้งที่เรื่องนี้มีมาตั้งแต่หลายรัฐบาลแล้วแต่ถูกยับยั้งไว้ ซึ่งจริงๆทางทหารเรือเขาอยากได้เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บ แต่เพราะวิธีการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้มีปัญหาเรื่องกระบวนวิธี การซื้อลำต่อไปจึงต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ผมว่าเรื่องนี้น่าคิดและน่าเป็นห่วง หากรัฐบาลต่อไปจะไม่อนุมัติก็ต้องให้เหตุผลว่าทำไม ครั้งนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช. ลดลงนิดหนึ่ง โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ

มีอะไรไม่ชอบมาพากล

เรื่องนี้ผมไม่เป็นห่วง ผมทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันเหมือนกัน ผมขออนุญาตเอ่ยนามท่านพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่า สตง. ซึ่งท่านไปตรวจสอบและบอกว่าเป็นเรื่องจีทูจี ถ้ามีปัญหาขึ้นมาก็สามารถระงับการเซ็นสัญญาได้ ตรงนี้ก็มีคำถามเรื่องค่าคอมมิชชั่น ผมคิดว่าตอนนี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่ได้ซื้อกับภาคเอกชน แต่ปัญหาที่ต้องมองต่อไปคือประสิทธิภาพของเรือดำน้ำที่ซื้อมาแล้วใช้งานได้มากน้อยขนาดไหน เท่าที่เป็นข่าว รัฐบาลจีนก็เอื้อประโยชน์หลายอย่างและสนับสนุนเรื่องซื้อเรือฟริเกตด้วย ไม่ใช่เรือดำน้ำอย่างเดียว เป็นแพ็กเกจเลย ถ้าเป็นมุมมองผมถ้ารัฐบาลจีนจะแถมเรือฟริเกตสักลำเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ผมจะปรบมือและประชาชนก็คงโอเคเลยละ

แนวโน้มรัฐบาลเป็นอย่างไร

ผมคิดว่ารัฐบาล คสช. ยังไปรอด ก็เหมือนต้นไผ่ลู่ตามลม อ่อนไปมา แต่แข็งและไม่หัก ผมว่าทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ลู่ตามลม อันไหนที่เบาได้ก็เบา อันไหนเบรกก็ต้องสั่งเบรก ท่านสั่งเบรกหลายเรื่อง ผมคิดว่ารัฐบาล คสช. อาจสั่นคลอนเพียงช่วงที่มีกระแสหนึ่งเท่านั้น อย่างที่ท่านบอกว่าพอสื่อไปกระพือข่าวก็เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าสื่อไม่กระพือข่าวก็ไม่มีอะไร

ปัญหาที่สั่นคลอนรัฐบาลคือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชนมากกว่า เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ผมมองเรื่องนี้เรื่องเดียว นายกฯทุกคนถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ก็มีปัญหา ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ผ่านก็จบเหมือนกัน

ผมเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านทำงานคนเดียว เราพูดเสมอว่าทำไมรัฐมนตรีคนอื่นไม่แถลงผลงานบ้างเลย ก็เป็นเรื่องที่แปลก ทุกวันมีรายการเดินหน้าประเทศไทย ตลอด 3 ปีมากลับเชิญแต่หน่วยงานราชการมาชี้แจง เศรษฐกิจเรากระเตื้องจริงหรือเปล่า เงินในกระเป๋าของประชาชนเดินหน้าตามประเทศไทยหรือไม่ ปัจจุบันประชาชนมีแต่หนี้สินที่เดินหน้า แต่รายได้ไม่เดินหน้า

อย่างวันแรงงานแห่งชาติที่ขอค่าแรงเป็นวันละ 610 บาท นั่นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตอนนี้ค่าครองชีพมันสูงจริง ก็ต้องแก้ไขกันไป ถ้าแก้ไม่ได้ก็ลำบาก สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา เริ่มจากการอนุมัติซื้อเรือดำน้ำ และอีกเรื่องคือการแก้ปัญหาภาคเศรษฐกิจ

เนื่องจากโครงสร้างของธุรกิจยังไม่แข็งแรง ภาครัฐพยายามดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ขยายการลงทุน ดึงต่างชาติไปลงทุนเหมือนกัน มันจึงมีตัวเลือก ซึ่งเราจะเห็นว่าการพัฒนาประเทศเราตอนนี้เรื่องแรงงานก็ต้องดูเรื่องโรโบคอปหรือหุ่นยนต์ที่จะเอามาใช้งานแทนคนด้วย

แรงงานของเราส่วนใหญ่มาจากพม่า ลาว กัมพูชา ที่เราเป็นห่วงคือในอนาคตประเทศเพื่อนบ้านเรามีการขยายการลงทุน แรงงานเหล่านี้อาจกลับไป แรงงานในไทยก็จะมีปัญหา หากเศรษฐกิจมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาแทนคน เราก็เห็นว่าหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเอกชนเริ่มมองเรื่องโรโบคอปมาใช้แทนแรงงานคนแล้ว เพราะลดต้นทุนการผลิตหลายๆอย่าง ประกอบกับหุ่นยนต์เป็นการลงทุนครั้งเดียว ทีนี้ปัญหาว่าโรงงานใหม่ที่มีไลน์การผลิตอย่างนี้ ดร.สมคิดมองเรื่องนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าจะเอื้อประโยชน์มากน้อยขนาดไหน ต้องมองในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง

การเลือกตั้งปลายปี 2561

ผมคิดว่าอันดับแรกต้องมองว่าสงครามในคาบสมุทรเกาหลีจะเกิดขึ้นหรือไม่ สถานการณ์ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลกตอนนี้ด้วย มองแค่โรดแม็พปี 2561 อย่างเดียวไม่ได้ ที่สำคัญตอนนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในประเทศมหาอำนาจของโลก อย่างประธานาธิบดีฝรั่งเศส ต้องมองว่าคนรุ่นใหม่อายุ 30 กว่าหรือ 40 กว่าเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะทำให้มุมมองโลกเปลี่ยนไป ตรงนี้เราต้องมองรัฐบาล คสช. ด้วยว่ามีการปรับตัวอย่างไร การพัฒนาประเทศต้องมีการเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี 2561 ตามโรดแม็พที่วางไว้ เพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่สถานการณ์จะเปลี่ยนอย่างไรก็ต้องดูสถานการณ์โลกด้วย พล.อ.ประยุทธ์คงวางไทม์ไลน์ไว้เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของทหารก็คงไม่มีปัญหา มีปัญหาอย่างเดียวคือเศรษฐกิจที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล

เรื่องปฏิวัติซ้อน

ทุกอย่างมันเกิดได้หมด แม้แต่ทหารก็ไม่ได้บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะไม่มีการรัฐประหารอีก เรื่องอย่างนี้มันพูดยาก ผมคิดว่าการปฏิวัติรัฐประหารยังคงอยู่กับประเทศไทย แต่ไม่มีประโยชน์ก็อย่าทำดีกว่า เพราะทำให้ประเทศถูกดอง ถูกแช่แข็ง ทหารต้องกลับมาคิดว่า ถ้าไม่ปฏิวัติคุณจะหาวิธีแก้ไขปัญหาประเทศอย่างไร ผมคิดว่าหลังการเลือกตั้งนายกฯก็ยังเป็นทหารอยู่ เพราะมี ส.ว.แต่งตั้งถึง 250 คน ส.ว. จะมีบทบาทอย่างมากในการสรรหานายกฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ ส.ว. คอยเป็นพี่เลี้ยงถึง 5 ปี ผมคิดว่าตรงนี้ต้องจับตาดู แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ผมก็คิดว่าจะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง เพราะหลายพรรคการเมืองบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงมาเลือกตั้ง ตามกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯได้หากมีการเสนอชื่อ เพราะถือว่ามาอย่างถูกต้อง การจะบริหารต่อก็ถือเป็นความชอบธรรม แต่จะอยู่ได้นานมากน้อยขนาดไหนคงตอบไม่ได้

ส่วนรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร อย่างที่มีข่าวว่า คสช. ล็อบบี้พรรคการเมืองเพื่อฟอร์มรัฐบาล หากเป็นอย่างนั้นพรรคเพื่อไทยก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว แต่ผมยังไม่มองถึงการเลือกตั้งปี 2561 ผมมองแค่ปี 2560 นี้ก่อนว่ารัฐบาล คสช. จะฝ่าวิกฤตและปัญหาต่างๆขณะนี้ไปได้อย่างไรมากกว่า


You must be logged in to post a comment Login