วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความจริงที่ต้องรู้ ชุมชนป้อมมหากาฬ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On September 8, 2016

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

จริงๆจะเรียก “ชุมชน” ก็คงไม่ได้เต็มปากนะครับ เพราะมีอยู่แค่ 16 ครัวเรือนที่ดื้อแพ่ง ความจริงคนเหล่านี้ไม่ได้รวมตัวกันเป็นชุมชนโบราณที่ต้องอนุรักษ์ไว้คู่โบราณสถาน การต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่ “ไพร่” (แดง) ต่อสู้กับอำมาตย์ พวกเขาก็ไม่ใช่ “มวลมหาประชาชน” ที่ต่อสู้กับทรราชใดๆ แต่ต่อสู้เพื่อจะยึดเอาสถานที่ซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนโดยรวมไปใช้ส่วนตัวหรือไม่ต้องลองพิจารณากันดู

ป้อมมหากาฬสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อได้สร้างวัดราชนัดดารามก็ได้พระราชทานที่ดินบริเวณใกล้เคียงให้ข้าราชบริพารที่ดูแลวัดได้อยู่อาศัย พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการรื้อป้อมและกำแพงเมืองบางส่วนเพื่อสร้างถนน จึงได้พระราชทานที่ดินบริเวณชุมชนในปัจจุบันให้ผู้ทำคุณแก่แผ่นดินซึ่งเป็นบุคคลสำคัญได้อยู่อาศัยและออกโฉนดไว้ด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการขายที่ดินให้บุคคลอื่น มีการย้ายเข้า-ออกทั้งเช่าที่ดินและบุกรุก ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันมาและไม่ได้เกี่ยวข้องกับป้อมนี้แต่อย่างไร

ปัจจุบันจากผลการสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2559 (http://bit.ly/2aYm8Eh) พบว่าโซนที่มีการต่อต้านมีจำนวน 30 หลังคาเรือน เป็นบ้านร้าง 14 หลังคาเรือน มีผู้อยู่อาศัยเพียง 16 ครัวเรือน ส่วนโซนที่ไม่มีการต่อต้านและได้รื้อย้ายไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2559 มีประมาณ 19 หลังคาเรือน เป็นบ้านร้าง 12 หลังคาเรือน

จากการสำรวจข้อมูลทรัพย์สินของชาวบ้านจำนวน 19 ครัวเรือน พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้รถจักรยานยนต์สูงสุดอยู่ที่ 16 คัน มีการใช้เครื่องปรับอากาศ 6 เครื่อง และมีการใช้รถยนต์ 4 คัน

ในจำนวนชาวบ้าน 19 หลังคาเรือนที่อยู่ ณ เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่ามีชาวบ้าน 6 หลังคาเรือนที่ได้ซื้อที่อยู่อาศัยไว้เก็งกำไร ชาวบ้านมีความคิดจะซื้อบ้านหรือห้องชุดร้อยละ 47 ในแต่ละครอบครัวมีสมาชิก 4.8 คน มีคนทำงาน 2.5 คน รายได้ของหัวหน้าครอบครัวโดยเฉลี่ย 19,421 บาทต่อเดือน รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาท หรือคนละ 5,395 บาทต่อเดือน อาจกล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ยากจนจนไม่สามารถหาซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยที่อื่นได้ หรือมีที่อยู่อาศัยอื่นอยู่แล้ว

ชุมชนป้อมมหากาฬจึงเป็นชุมชนใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะ 50-60 ปีมานี้เอง ไม่ใช่เกิดมาพร้อมกับการสร้างป้อมเมื่อ 234 ปีที่แล้ว การอ้างถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชุมชนโบราณจึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆที่เป็นความเท็จ มีความพยายามอ้างอิง (ส่งเดช) เช่น บ้านตำรวจวัง ก็ไม่พบความเกี่ยวข้อง หรือวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ก็ไม่สามารถชี้ชัดว่ามีอยู่จริงตรงบริเวณไหน

ชุมชนนี้จึงไม่ได้มีลักษณะเด่นเหมือนชุมชนโบราณ เช่น ชุมชนบ้านปูน ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนบ้านช่างหล่อ ฯลฯ ที่มีมาแต่โบราณแล้ว

ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดเป็นผู้เช่าที่ดินหรือผู้บุกรุก พวกเขาไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่สืบทอดกันมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาหลายชั่วอายุคน เจ้าของที่ดินเดิมได้โอนที่ดินให้กับกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ผู้เช่าและผู้บุกรุกเหล่านี้กลับไม่ยอมไป กรุงเทพมหานครจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ก็ไม่ยอมรับ บางรายย้ายออกแล้วก็ย้ายกลับเข้ามาใหม่ เจ้าของบ้านต้องการรื้อบ้านหลังได้รับค่าทดแทนแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ยอมให้รื้อ

ดังนั้น จึงมีคำถามว่าพวกเขามีความชอบธรรมที่จะอยู่อาศัยต่อไปหรือไม่ การรื้อชุมชนนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมมิใช่หรือ พวกเขาไม่ใช่ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในลักษณะของ “ไพร่” (แดง) ที่ถูกพวก “อำมาตย์” รังแก และพวกเขาก็ไม่ใช่ “มวลมหาประชาชน” ที่ต่อสู้กับ “ทรราช” แต่เขากำลังต่อสู้กับอำนาจที่ถูกต้องชอบธรรมของกรุงเทพมหานครในบริบทนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่พึงวิพากษ์ก็คือ “บ้านทรงไทย” ที่ป้อมมหากาฬ ไม่เกี่ยวกับ “ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเมื่อปี 2548 หรือ 11 ปีที่แล้ว “ทายาทอึ๊งภากรณ์” ก็บอกว่าบ้านในป้อมมหากาฬไม่เกี่ยวข้องกับ “ดร.ป๋วย” แต่ยังมีคนเอาวาทกรรมหลอกลวงมาใช้อีก โดยนางสุปรียา อึ๊งภากรณ์ ในฐานะผู้แทนนางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ เจ้าของบ้านเลขที่ 99 ชุมชนป้อมมหากาฬ แสดงความสงสัยกรณีที่มีการติดป้ายหน้าบ้านหลังดังกล่าวว่าเป็นบ้าน ดร.ป๋วย พร้อมชี้แจงว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของญาติทางฝ่ายแม่ ส่วน ดร.ป๋วยเป็นญาติทางฝั่งพ่อ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านหลังนี้

นางสุปรียายังกล่าวว่า “ส่วนเรื่องของมีค่าไม่ว่าจะเป็นลวดลายต่างๆที่ตกแต่งบนตัวบ้านนั้นก็ถูกแกะขายไปหมดแล้ว และคนที่อยู่ที่นั่นในตอนนี้ก็เป็นคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ไม่ใช่คนเก่า” นางสุปรียายังระบุว่า เจ้าของบ้านยินยอมให้ทาง กทม. รื้อถอนไปแล้ว แต่ผู้อยู่อาศัยยังไม่ยอมไป โดยส่วนตัวไม่อยากเข้าไปยุ่ง ขอมอบให้เป็นหน้าที่ของ กทม. (http://bit.ly/2c736Sm)

ในความเป็นจริงแล้ว นางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ เป็นสะใภ้และได้รับมรดกจากนางจิบ บุรกิจ บ้านนี้จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆกับตระกูล “อึ๊งภากรณ์” ตามที่มีผู้พยายามอ้าง และนางอุไรวัลย์ยังพยายามจะรื้อหลังจากได้รับเงินชดเชยจาก กทม. แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้รื้อ จึงต้องให้ กทม. รื้อถอนแทน โปรดดูเล่ห์กลที่น่าละอายของคนที่เรียกร้องไม่ยอมย้ายออกไป

อย่าใช้ความเท็จเข้าสู้เพื่อประโยชน์ส่วนตน จริงๆ มีเพียง 16 ครัวเรือนที่ไม่ยอมย้าย นอกนั้นคนนอกที่ถูกปลุกปั่นโปรดคิดใหม่เสียบ้างว่าได้อยู่อาศัยฟรีๆมานานแสนนานแล้ว เลิกเอาเปรียบสังคมได้แล้ว คืนสมบัติของแผ่นดินให้ประชาชนไทยใช้ร่วมกันโดยรวมเถอะ


You must be logged in to post a comment Login