- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 5 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 5 months ago
- โลกธรรมPosted 5 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 5 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 5 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 5 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 5 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 5 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 5 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 5 months ago
สกสว. เปิดมุมมอง ปั้นซัพพลายใหม่การท่องเที่ยวไทยด้วย Big Data ยกระดับเมืองน่าเที่ยวด้วยงานวิจัยและความร่วมมือของทุกภาคส่วน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการออกแบบเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และ ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงาน “Routes to Roots Forum” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของการออกแบบการท่องเที่ยวไทยผ่านการใช้ Big data เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพื้นที่อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยจากโครงการ “การกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเมืองรองผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์จากการวิเคราะห์ข้อมูลบันทึกการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ” งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)
เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล และ (รักษาการ) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Mobility Data เป็นกุญแจสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก้าวข้ามความท้าทายที่เผชิญอยู่ พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งภาคการท่องเที่ยวและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ข้อมูลนี้เปิดโอกาสให้เรายกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัวในการเดินทาง การบริหารจัดการความหนาแน่นของผู้คนในสถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้แต่การนำเสนอประสบการณ์ เส้นทาง หรือแคมเปญการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สะท้อนเรื่องราวจากวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละท้องที่ นำไปสู่การสร้างโอกาส กระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการและชุมชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และสร้างความได้เปรียบใหม่ๆ ในการแข่งขันให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก”

ศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมถึงการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศว่า “งานวิจัยที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ให้เห็นว่า การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบสามารถนำไปสู่มุมมองใหม่ในการกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่า ความยั่งยืน และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘SRI for All’ ขับเคลื่อนฉากทัศน์ใหม่ของ สกสว. เพื่อพลิกโฉมประเทศสู่อนาคต”
ภายในงาน ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุขและผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย คณะผู้วิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมองว่าวิกฤตโควิด 19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากที่เคยเป็นผู้นำ กลับสามารถฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศ จึงต้องปั้น ‘ซัพพลาย’ ใหม่ ผ่านการดึงศักยภาพจาก 55 เมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังเป็นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวจากที่เคยกระจุกตัวในเมืองหลักไปยังเมืองน่าเที่ยวมากขึ้น กลยุทธ์การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์ที่เน้นเชื่อมโยงการเดินทางและการสร้างเรื่องราวร่วมของแหล่งท่องเที่ยวจึงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ และด้วยศักยภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ (Mobiltiy Data) ทำให้ทำบ่งชี้เครือข่ายการเดินทางของนักท่องเที่ยว ได้ผลลัพธ์เป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่มีจังหวัดเมืองน่าเที่ยวเป็นสมาชิกจำนวน 21 คลัสเตอร์ โดยทำการคัดเลือกคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพผ่านตัวชี้วัดทั้งด้านจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว ระยะเวลาพำนักและระยะเวลาเยี่ยมเยือนเฉลี่ย รวมทั้งปริมาณการเดินทางภายในกลุ่มจังหวัด ทำให้ได้คลัสเตอร์ที่มีศักยภาพที่สุดของแต่ละภาค ได้แก่ ภาคเหนือ: กลุ่มจังหวัดเชียงใหม่-ลำปาง-ลำพูน ภาคกลาง: กลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี-ชัยนาท-อุทัยธานี ภาคอีสาน: บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ ภาคตะวันออก: จันทบุรี-ตราด ภาคตะวันตก: เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม ภาคใต้: นครศรีธรรมราช-พัทลุง

นอกจากนี้ Mobility Data ยังสามารถวิเคราะห์ลักษณะการท่องเที่ยวภายในคลัสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม การกระจุกตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นในคลัสเตอร์นั้น ๆ บทบาทของจังหวัดในแต่ละคลัสเตอร์ การรับมือกับผลกระทบในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยวสู่พื้นที่ใหม่ นอกจากนี้ ยังเกิดการต่อยอดผลการศึกษาผ่านแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวต่าง ๆ และการจัดแคมเปญ Routes to Roots: เส้นทางสำรวจรากวัฒนธรรมไทย เพื่อการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมและเรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ด้วยความร่วมกับสื่อสร้างสรรค์อย่าง The Cloud ข้อสังเกตจากการดำเนินการไปบางส่วนพบว่า การพัฒนาเมืองน่าเที่ยวควรเป็นการทำให้เมืองมีความ ‘น่าจดจำ’ ผ่านการสร้างสรรค์และรักษาอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว มีความ ‘น่าอยู่’ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ และ ‘น่าค้นหา’ ผ่านการพัฒนากิจกรรม สินค้าและบริการ รวมทั้งการดึงดูดระยะยาวอย่างไม่รู้เบื่อ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า Mobility Data และ Big Data กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้จริงและเท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีข้อจำกัดเฉพาะด้าน Mobility Data สามารถสะท้อนข้อมูลการกระจุกตัวของกลุ่มผู้สูงอายุออกมาได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการ และระบบเดินทางที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ และเป็นธรรม นอกจากนั้น “เรามั่นใจว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เมืองไทยบนเวทีโลกตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม” ผศ.สุภาวดีกล่าว
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงบทบาทของการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการวางแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมองว่า ผลการวิเคราะห์ Big Data ในครั้งนี้ช่วยส่งเสริมการออกแบบพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมแก่ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม พร้อมเน้นย้ำว่าการพัฒนาอย่างเป็นระบบต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เข้มแข็ง เพื่อถ่ายทอด “เสน่ห์ของพื้นที่” และ “อัตลักษณ์ของท้องถิ่น” เช่น อาหาร วิถีชีวิต และบริการในชุมชน ทั้งนี้ กลไกการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมต้องทำงานประสานกันในรูปแบบของ Destination Management Organization (DMO) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาท่องเที่ยวที่มีความหมายและยั่งยืนในระยะยาว


ขณะที่ นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ The Cloud กล่าวเสริมว่าในฐานะผู้จัดแคมเปญและทริปการท่องเที่ยว Routes to Roots กล่าวเสริมว่า “Mobility Data ไม่ใช่เพียงตัวเลข แต่คือเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ได้อย่างมีชีวิต” พร้อมเสนอให้ภาคเอกชนใช้ข้อมูลเป็น “หัวเชื้อ” ในการออกแบบเส้นทางใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงนำเสนอการออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวจากผลการวิเคราะห์ผ่าน storytelling และการมีส่วนร่วมของชุมชน
สกสว. ไม่เพียงสนับสนุนการทำวิจัยเชิงลึก แต่ยังมุ่งเน้นให้เกิด การนำไปใช้จริงในพื้นที่ โดยการขยายผลจากเมืองต้นแบบสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่พร้อมเติบโตด้วยคุณภาพ ทั้งในด้านประสบการณ์ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม และการสร้างรายได้ที่กระจายทั่วถึงมากขึ้น

Routes to Roots Forum จึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของงานวิจัย แต่คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงจริง ที่จะยกระดับศักยภาพพื้นที่ไทยสู่เวทีโลก ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือของภาคีที่เกี่ยวข้อง
You must be logged in to post a comment Login