- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 3 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 3 months ago
- โลกธรรมPosted 3 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 3 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 3 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 3 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 3 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 3 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 3 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 3 months ago
สสส. ชูแนวคิด “นาทวีโมเดล” ใช้ความสนิทเป็นแนวคิดแก้ปัญหายาเสพติด

สสส. ชูแนวคิด “นาทวีโมเดล” ใช้ความสนิทเป็นแนวคิดแก้ปัญหายาเสพติด หนุนพลังชุมชนเป็นกุญแจป้องกันปัญหากลับไปเสพซ้ำ
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ณ บ้านลำชิง ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนัก1 (สสส.) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิถีชุมชนขับเคลื่อนบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด (ชุมชนล้อมรักษ์ CBTx) ป้องกันปัญหากลับไปเสพซ้ำ โดยมีแนวคิดหลักคือ ผู้ใช้ยาจะเข้ารับการบำบัด ผ่านช่องทางใดก็ตาม ย่อมถือว่าดีทุกทาง ทั้งจากในชุมชน สถานบำบัด ศูนย์การแพทย์ ฯลฯ โดยแนวทางการให้บริการในชุมชนนั้นจะต้อง ลดเรื่องความรู้สึกอับอาย การถูกเลือกปฏิบัติ ผ่านการทำงาน 4 มิติ ชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ผ่านกลยุทธ์ “ใช้ความสนิท เป็นแนวคิดในการทำงาน” โดยในปี 2567 อำเภอนาทวี มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดจนเสร็จสิ้นกระบวนการจำนวน 196 คน

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ชุมชนล้อมรักษ์ ถือเป็นต้นแบบในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยผ่านกลไกการบูรณาการระบบสุขภาพในระดับพื้นที่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งขบวนการสำคัญที่จะช่วยดูแลสนับสนุนและฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องการเลิกยาเสพติด ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดการระบบบำบัดที่ต้องการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยครอบคลุมและเข้าถึงเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นจนสามารถ เปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม ซึ่งการดำเนินการ CBTx ทั่วประเทศพบว่ามีโอกาสสำเร็จสูงเพราะชุมชนมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ด้วย 5 หลักการ คือ 1.ไม่เน้นอำนาจสั่งการ ไม่เน้นลงโทษ ใช้ครอบครัวเช้ามามีส่วนร่วม 2.เน้นการทำงานด้านสุขภาพและอนาคตที่ดี 3.สร้างการสนับสนุน ชุมชน ศาสนา 4.เฝ้าระวัง ป้องปราม 5.จัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม
“เครื่องมือ CBTx ชุมชนล้อมรักษ์ หลักการสำคัญคือการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เรามีกลไก พชอ. ที่จะช่วยหนุนเสริมให้เกิดการเดินหน้าแก้ไขปัญหายาเสพติด ฝั่งผู้นําชุมชนและคณะกรรมการชุมชนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด อย่างพื้นที่อำเภอนาทวี มีการติดตามผู้เข้าร่วมบำบัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ยิ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนั้นเกิดความเข้มแข็ง ชุมชนไหนสามารถดูแลปัญหายาเสพติดได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องเหล้าบุหรี่ได้เช่นกัน ดังนั้นเราจะเห็นภาพการจับมือร่วมกันทำงานทุกภาคส่วนเพื่อทำให้สังคมอยู่ห่างไกลจากยาเสพติดอย่างเหนียวแน่นต่อไปในทุก ๆ ปี” นพ.มล.สมชาย กล่าว

นายวรินทร ทองขาว นายอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้โมเดล CBTx โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา เริ่มต้นจากการยอมรับว่าเป็นปัญหา ปัญหาที่เป็นของคนสงขลา ทำให้เกิดการทำงานใหม่ มีการลงสำรวจสแกนผู้เสพอย่างจริงจังร่วมกับสาธารณสุข การทำงานของจังหวัดสงขลาเราใช้สโลแกนว่า ‘ทุกคนคือญาติมิตรของนายอำเภอ’ ดังนั้นจึงนำมาสู่การรายงานข้อมูลด้านยาเสพติด ทั้งจำนวนผู้เสพ ผู้ค้า และผู้เข้าสู่กระบวนการบำบัดจะต้องมีการบันทึกไว้ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียนต่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การทำงานของ พชอ. อำเภอนาทีวี จึงเป็นไปในรูปแบบทีมหนุนเสริมและผลักดันให้ผู้นำชุมชน ทั้ง 10 ตำบล ที่ได้รับการยอมรับจากพื้นที่ให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานด้านยาเสพติดได้ด้วยชุมชนเอง
“บทบาทหน้าที่ของนายอำเภอ คือต้องลงพื้นที่เข้าไปชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ในประเด็นยาเสพติดขอเน้นย้ำถึงการทำงานของนายอำเภอจะไม่ใช่การทำงานอย่างฮีโร่ แต่ต้องใช้การทำงานร่วมกัน ความคุ้นเคย ความสนิทเป็นแนวคิดในการทำงานกับพื้นที่ ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนจะสามารถทำได้ดีกว่านายอำเภอ เพราะทุกคนเป็นคนในพื้นที่ และวิธีแก้ปัญหาของอำเภอนาทวี คือการนำเอารูปแบบการแก้ไขปัญหายาเสพติดของแต่ละหน่วยงานเข้ามาปรับใช้การแก้ปัญหาของ นาทวี และทางแก้ไขที่ได้ผลต้องเกิดจากการระดมความคิดและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยมีผู้นำชุมชน อสม. รพ.สต. หมั่นลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวผู้ติดยาเสพติด เพื่อเติมเต็มความสนิทและเติมพลังบวกต่อเนื่อง” นายวรินทร กล่าว

นายสรพงศ์ อ่อนบัวขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านวังบวบ ตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับชุมชน ต้องคำนึงถึงการติดตามดูแล เอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ทั้งการสอดส่องและการให้ความช่วยเหลือจากคนในชุมชน เพื่อสนองและสอดรับกับนโยบายการแก้ไขปัญหาโดยมีการเริ่มต้นจากครอบครัว การส่งเสริมกิจกรรมภายในหมู่บ้านต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมในครอบครัว ที่สามารถเป็นเกาะป้องกันในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับชุมชน

หนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเลิกยานั้นเลิกขาดได้ยาก แต่จะต้องมีความพยายาม ซึ่งการเลิกยาสิ่งสำคัญคือการให้กำลังใจจากครอบครัว และการควบคุมการดูแลจากบุคลากรของหน่วยงานระดับชุมชนติดตามอย่างสม่ำเสมอและใกล้ชิด รวมถึงมีการให้การยอมรับหรือไม่ถูกตีตราจากคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ที่เข้ารับการบำบัด และมีการส่งเสริมอาชีพจากคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องทุนและเครื่องมือในการประกอบอาชีพก็จะช่วยลดวงจรการกลับไปเสพซ้ำได้
You must be logged in to post a comment Login