- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 3 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 3 months ago
- โลกธรรมPosted 3 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 3 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 3 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 3 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 3 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 3 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 3 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 3 months ago
เสียงจากสังคม-นักวิชาการชัดเจน! ค้านฟื้นห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ชี้ขัดนโยบายสาธารณสุขไทย-ละเมิดสิทธิอากาศสะอาด

วันนี้ 16 พ.ค. 2568 ที่ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้จัด การแถลงข่าว เรื่อง ‘สุวรรณภูมิ สนามบินสีเขียว : ความภาคภูมิใจของชาวไทย’ สร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ในสนามบิน เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนและผู้ใช้บริการของสนามบินทุกคนอย่างเท่าเทียม

ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ เจ้าหน้าที่วิชาการด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองและเข้าเป็นภาคี ‘กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ในปี 2546 ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการควบคุมยาสูบ โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีมาตรการที่ครอบคลุมในการควบคุมยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ และนโยบายภาษีที่ก้าวหน้าของประเทศไทยสามารถลดการบริโภคยาสูบได้ ซึ่งความสำเร็จนี้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ จนหลายชาติขอเข้ามาศึกษาดูงานในประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกให้แนวทางของไทยเป็นหนึ่งในคำแนะนำในการลดความต้องการสูบบุหรี่ จนจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี
“ทั้งนี้ มาตรา 8 ของ WHO FCTC ซึ่งกล่าวถึงการปกป้องบุคคลและประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่ มีหลักการพื้นฐานที่ว่าการปกป้องคุ้มครองผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่นั้นต้องจำกัดไม่ให้มีการสูบบุหรี่หรือเกิดควันบุหรี่ในพื้นที่นั้นๆ จึงจะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ได้ เนื่องจากหลักฐานวิชาการยืนยันว่าไม่มีระดับที่ปลอดภัยในการได้รับควันบุหรี่หรือบุหรี่มือสอง นอกจากนั้นแนวทางการจัดการอื่นๆ เช่น การไหลเวียนอากาศ การกรองอากาศ หรือพื้นที่สูบบุหรี่ ก็มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการคุ้มครองประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่ เทียบเท่ากับการทำให้เกิดพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ดังนั้นประเทศไทยจึงควรพิจารณาดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับมาตรา 8 โดยการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ในสนามบิน เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนและผู้ใช้บริการของสนามบินทุกคนอย่างเท่าเทียม” ดร.สุชีรา กล่าว
เจ้าหน้าที่วิชาการด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวอีกว่า ที่ต้องกำหนดให้พื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ 100% เพราะมีหลักฐานทางวิชาการทั้งในไทยและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่าควันบุหรี่ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็งและสารเคมีพิษอีกหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ควันบุหรี่มือสองไม่ว่าจะควบคุมให้ออกมาน้อยเพียงใดแต่ก็ไม่ควรมีใครได้สูดดมเพราะจะก่อให้เกิดโรคภัยตามมาอย่างมากมาย การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ปิดจึงเป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องประชาชนไม่ให้ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่าในพื้นที่ปิดนั้นควรจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% เพราะไม่ว่าจะมีระบบระบายอากาศที่ดีเพียงใด หรือระบบกรองอากาศ ระบบฟอกอากาศก็ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากควันบุหรี่มือสองได้” ดร.สุชีรา กล่าวพร้อมย้ำว่า มาตรฐานทางสุขภาพระดับนานาชาติ และในส่วนขององค์การอนามัยโลกยืนยันตรงกันว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมจากภัยอันตรายต่อสุขภาพจากควันบุหรี่มือสอง ทุกคนมีสิทธิหายใจในพื้นที่อากาศสะอาด และอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นที่ของทุกคน หลายประเทศทั่วโลกมีการเพิ่มสนามบินปลอดบุหรี่ 100% อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประโยชน์ทางสุขภาพสำคัญกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ พนักงาน และผู้ใช้บริการสนามบินต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครองสุขภาพอย่างเท่าเทียม เพราะทุกคนมีสิทธิหายใจในพื้นที่อากาศสะอาดและปลอดภัย
ดร.สุชีรา กล่าวในตอนท้ายโดยยืนยันว่า องค์การอนามัยโลกในประเทศไทยได้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งในแง่มุมของกฎหมาย สนธิสัญญา ผลงานวิจัยและข้อมูลทางวิชาการจากหลายแหล่งทั่วโลกเพื่อยืนยันว่าทำไมต้องสนับสนุนให้ประเทศไทยมีสนามบินปลอดบุหรี่ 100% หลังจากนี้หากผู้กำหนดนโยบายต้องการข้อมูลด้านใดเพิ่มเติมก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้องต่อไป

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า สถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสอง เป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกมองข้าม องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ 8.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เกิดจากบุหรี่มือสอง 1.3 ล้านคน โดยเป็นเด็กถึง 65,000 คน ปัจจุบันมีคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน แต่มีผู้ไม่สูบถึง 34.1 ล้านคน มีอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 ปี 2562 พบคนไทยร้อยละ 70 ได้รับควันบุหรี่มือสองเทียบกับร้อยละ 30 ในอังกฤษ และสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 57 ประเทศ ทั้งนี้ผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะเด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองและสามมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 50-100% ซึ่งควันของบุหรี่และไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีกว่า 2,000 ชนิด ประกอบด้วยสารนิโคติน PM 2.5 โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง ดังนั้นบริเวณที่มีการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จึงมีมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคนที่สูบและไม่ได้สูบ
“ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่า การได้รับไอมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 1.06 เท่า โรคหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ภาวะหายใจลำบากเพิ่มขึ้น 1.53 เท่า และโรคหอบหืดที่ควบคุมไม่ได้เพิ่มขึ้น 1.88 เท่า ล่าสุดมีหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารมะเร็งของประเทศอังกฤษ (British Journal of Cancer) ปี 2567 ยืนยันแล้วว่าควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 20,688 รายต่อปี โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดร้อยละ 44 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 20 มะเร็งปอดและหลอดลมร้อยละ 9 เมื่อคำนวณภาระโรค (Burden of Disease) พบการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยจากควันบุหรี่มือสองของคนไทยถึง 534,186 ปีสุขภาพดี ภาระโรคระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD 2019) รายงานบุหรี่มือสองของไทย 392.11 ก็สูงกว่าออสเตรเลีย 117.1 ญี่ปุ่น 221.69 และ อังกฤษ 154.48 ปีสุขภาวะต่อแสนประชากร” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว

ด้านรศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การวัดประมาณนิโคตินทำได้ซับซ้อน ราคาสูง และใช้ระยะเวลานาน ในทางปฏิบัติจึงใช้การวัด PM 2.5 ซึ่งทำการตรวจได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเป็นตัวแทนของการมีระดับสารนิโคติน ซึ่งงานวิจัยตรวจสอบระดับ PM 2.5 ในสนามบินหลักของประเทศไทย 4 แห่ง (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต) เมื่อปี 2556 พบว่า ภายในห้องสูบบุหรี่มีระดับ PM 2.5 สูงถึง 532.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐานราย 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลก (15 มคก./ลบ.ม.) อย่างมาก โดยค่า PM 2.5 ใกล้ประตูห้องสูบบุหรี่ สูงกว่าพื้นที่ปลอดบุหรี่ถึง 5 เท่า ประเทศไทยจึงมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในอาคารสนามบิน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และผู้ปฏิบัติงานในอาคารสนามบิน รวมถึงผู้สูบบุหรี่เองที่อาจมีอาการป่วยอยู่แล้ว จากการสัมผัสกับควันบุหรี่มือสองและสาม โดยหมายรวมถึงควันบุหรี่และไอที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
“จากรายงานของสำนักงานแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกา ปี 2567 ระบุว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยในการได้รับควันบุหรี่ วิธีเดียวที่มีประสิทธิผลในการปกป้องสิทธิของทุกคนในการหายใจอากาศบริสุทธิ์ในสถานที่สาธารณะและที่ทำงาน คือการบังคับใช้กฎหมายปลอดควันบุหรี่ 100% โดยการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ งานวิจัยยืนยันว่าไม่ว่าวิธีการจัดให้มีห้องสูบบุหรี่ หรือระบบระบายอากาศที่มีราคาแพง ก็ไม่สามารถปกป้องผู้คนจากอันตรายของควันบุหรี่มือสองได้ ซึ่งจากการสำรวจซ้ำในสนามบินนานาชาติ 4 แห่งเดิมของประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่กว่า 99.7% สามารถปฏิบัติตามข้อห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารได้โดยสมัครใจ โดยมีเพียง 0.3% เท่านั้นที่ฝ่าฝืนกฎ ซึ่งสะท้อนว่าการไม่มีห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบินในทางปฏิบัติก็สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้ใช้บริการ ดังนั้นการมีห้องสูบบุหรี่ภายในสนามบินจึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเป็นพื้นที่ปลอดควันบุหรี่อย่างแท้จริง ข้อมูลเชิงประจักษ์จากต่างประเทศและไทยล้วนยืนยันว่า การยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบินไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านการควบคุมหรือบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่านี่คือแนวทางที่ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อมุ่งสู่การเป็นสนามบินสีเขียวที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับทุกคน” รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวอีกว่า เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้วประเทศเราเริ่มนโยบายปิดห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน โดยเริ่มจากอาคารผู้โดยสารภายในประเทศก่อนขณะที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เริ่มทยอยปิดในเวลาต่อมา แต่วันนี้เรากำลังจะย้อนยุคไปเปิดห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบิน ทั้งที่การสำรวจที่ผ่านมาก็ยืนยันชัดเจนว่าการมีห้องสูบบุหรี่ก็ไม่ได้จูงใจให้คนสูบบุหรี่เข้าไปใช้บริการ ส่วนมากก็ยันยืนสูบกันข้างนอก แม้แต่ตรงบริเวณที่มีป้ายห้ามสูบบุหรี่ก็ยังมีคนไปสูบอยู่ตลอดเวลา
“ไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนส่งรูปมาให้ดูว่าที่ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1 หรือ Satellite 1 มีห้องให้สูบบุหรี่ภายในอาคารแล้ว โดยไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง มีกระถางให้เขี่ยบุหรี่ 2 ใบแม้ไม่มีป้ายชัดเจนแต่คนสูบบุหรี่ก็รู้กันทำให้มีคนแวะเวียนเข้าไปสูบบุหรี่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีภาพว่าด้านนอกอาคารกำลังมีการก่อสร้างห้องสูบบุหรี่ติดแอร์อย่างดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้การยกเลิกห้องสบบุหรี่ในสนามบินก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ไม่มีปัญหาในการปฏิบติตามกฎหมาย และไม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งใดๆ จึงควรให้การสนับสนุนแนวทางนี้ต่อไปเพื่อสร้างสนามบินที่สะอาดปลอดภัยและเป็นมิตรกับทุกคน”รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวและว่า รายงานจากองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมายืนยันชัดเจนว่าไม่มีระดับที่ปลอดภัยในการรับควันบุหรี่มือสองเพราะในนั้นมีสารพิษจำนวนมาก วิธีเดียวที่จะปกป้องพิษภัยจากบุหรี่คือการจัดหาพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ 100 % ไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะปกป้องได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ไม่ว่าจะสร้างห้องปรับอากาศ กรองอากาศ ระบายอากาศ เพราะไม่มีอะไรขจัดสารพิษจากควันบุหรี่ออกจากอากาศได้ ง่ายที่สุด ดีที่สุดคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดควันบุหรี่นั่นเอง”
รศ.ดร.เนาวรัตน์ ยังกล่าวในช่วงตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการเพื่อคัดค้านการสร้างห้องสูบบุหรี่ในสนามบินหลังจากนี้ว่า หลังจากลงพื้นที่สำรวจ 4 สนามบินเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาว่าจำต้องดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งทราบว่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะลงไปดูพื้นที่จริงเร็วๆนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบินไม่สามารถทำได้หากไม่มีการแก้กฎหมาย หากจะสร้างต้องสร้างแยกต่างหากในพื้นที่นอกอาคารสนามบิน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานมีมติชัดเจนว่าไม่ให้มีการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ในประชากรโลกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ด้วยการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเกิดนโยบายท่าอากาศยานปลอดห้องสูบบุหรี่ในประเทศต่างๆ ส่งผลให้ท่าอากาศยานนานาชาติขนาดใหญ่ต่างยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในสนามบินมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยท่าอากาศยานที่มีอากาศยานขึ้น/ลงมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 32 จาก 35 แห่ง เป็นสนามบินปลอดบุหรี่ และท่าอากาศยานนานาชาติขนาดใหญ่ที่ยกเลิกห้องสูบบุหรี่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้ 1) ท่าอากาศยานนานาชาตินครหลวง ปักกิ่ง 2) ท่าอากาศยานนครชิคาโก โอแฮร์ (ปี 2567) 3) ท่าอากาศยานนครลอนดอน ฮีทโรว์ 4) ท่าอากาศยานนานาชาตินคร ลอสแองเจลิส (มกราคม 2568) และ 5) ท่าอากาศยานนานาชาตินคร เซี่ยงไฮ้ ปูดง รวมทั้งท่าอากาศยานต่างๆ ในประเทศไทยเป็นสนามบินปลอดห้องสูบบุหรี่ 100% ตั้งแต่ปี 2562 ตามสังคมโลกที่ต้องการลดมลภาวะและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ศ.ดร.นิทัศน์ กล่าวต่อว่า นับเป็นความภาคภูมิใจเมื่ออาคารเทียบเครื่องบินรอง (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับรางวัลจากองค์การ UNESCO ให้เป็น 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปะและวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทางด้านความงาม ทั้งภายนอกและภายในอาคาร และในระยะยาวสนามบินสุวรรณภูมิมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานสีเขียว (Green Airport) ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) และมีแผนการใช้พลังงานสะอาดโดยติดตั้งแผงพลังงานจากดวงอาทิตย์ (Solar cell) ภายในท่าอากาศยาน

“การเสนอขอทำห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ นับเป็นการทำให้สนามบินหนี่งในหกที่สวยที่สุดในโลกแปดเปื้อน ทำลายความภาคภูมิใจต่อรางวัลที่ได้รับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เป็นอุปสรรคต่อการมุ่งสู่ท่าอากาศยานสีเขียว และเป็นการเจตนาจงใจที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมและอัตรายต่อประชาชนไทยและต่างประเทศ โดยอ้างว่ามีผู้โดยสาร 165 คนจากจำนวน 48 ล้านคน ระหว่างปี 2561-2567 เรียกร้องให้มีห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว จึงขอเรียกร้องให้คงความภาคภูมิใจของคนไทยต่อความเป็นสนามบินสีเขียวของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยต้องไม่สร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบินซึ่งจะสร้างมลภาวะต่อทั้งผู้สูบเองและผลกระทบจากบุหรี่มือสองและมือสามต่อผู้โดยสารและผู้ใช้บริการของสนามบินที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด อีกทั้งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็นสนามบินสีเขียวที่ไม่ใส่ใจสุขภาพสิ่งแวดล้อมของผู้โดยสารทั่วโลกอีกด้วย” ศ.ดร.นิทัศน์ กล่าวสรุป
You must be logged in to post a comment Login