- ตั้งสติให้ดี “โลกนี้ มีเกิด มีตาย”Posted 2 months ago
- อย่าหาเรื่องอยู่ร้อน นอนทุกข์Posted 2 months ago
- โลกธรรมPosted 2 months ago
- อนุโมทนา คนพิการสู้ชีวิตPosted 2 months ago
- สลายความเกลียดชังPosted 2 months ago
- สู้ดีกว่าลาโลกPosted 2 months ago
- ใช้คาถาพระพยอมบ้างPosted 2 months ago
- เสียงชื่นชมดีกว่าเขาด่าPosted 2 months ago
- ต้องใช้ยาแรงกับคนขายชาติPosted 2 months ago
- บทเรียนผู้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวPosted 2 months ago
สสส.-สพร.-จ.ตรัง ปลื้ม 2 แนวคิด “ชุมชนนำ” และ “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” สร้างเสริมนิเวศการเติบโตของเด็ก

สสส.-สพร.-จ.ตรัง ปลื้ม 2 แนวคิด “ชุมชนนำ” และ “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” สร้างเสริมนิเวศการเติบโตของเด็ก ส่งผลพัฒนาการสมวัย ครอบครัวมีความสุข แก้ไขปัญหาความรุนแรง ถอดบทเรียนนำเสนอใน “มหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร จ.ตรัง” โชว์ผลงาน 10 พื้นที่ต้นแบบใน 4 อำเภอ เตรียมยกระดับ จ.ตรัง เป็น Policy Sandbox ร่วมมือสภาพัฒน์ฯ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หลังพบ ปี 67 ไทยมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น 13 ล้าน ป้องกันปัญหาช่องว่างระหว่างวัย-ความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 เม.ย 2568 ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จ.ตรัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.) และภาคีเครือข่ายจังหวัดตรังและใกล้เคียง จัดงาน มหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร จ.ตรัง ภายใต้โครงการพัฒนาระบบและกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เปิดเวทีถอดบทเรียนการสร้างระบบนิเวศสุขภาวะที่ดีสำหรับเด็ก พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวในระดับพื้นที่และจังหวัด ภายใต้แนวคิด “ชุมชนนำ” และ “เลี้ยงเด็ก 1 คน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน”

นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ทางสังคม จ.ตรัง ปี 2566 โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง พบว่า มีการรับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว 26 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงระหว่างสามีและภรรยา รองลงมา คือ ระหว่างผู้ปกครองและลูก สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ความรู้สึกเชิงอำนาจ ความเครียดทางเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพจิต จากสถานการณ์ดังกล่าว จ.ตรัง ร่วมกับ สสส. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายในจังหวัดขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กฯ ช่วยให้เกิดระบบคุ้มครองเด็กในระดับจังหวัด และเกิดทีมชุมชนที่เข้มแข็ง การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนกระบวนการและเครื่องมือการทำงานด้านเด็กฯ เพื่อให้ผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่และผู้ที่สนใจนำไปใช้ในการพัฒนาสุขภาวะเด็กฯ ให้เหมาะสมตามสถานการณ์และบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลสถิติประชากรทางทะเบียนราษฎร ณ เดือน ก.ย. ปี 2567 ระบุว่าไทยมีประชากร 65,969,270 คน เป็นประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 13,575,063 คน คิดเป็น 20.58% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปนี้อาจนำมาสู่ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ถ้าไม่มีวิธีการจัดการที่ดีอาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สอดคล้องกับสถิติความรุนแรงในสังคมไทย ปี 2567 โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบกลุ่มเด็ก เป็นผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด 1,429 ราย โดยการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำอนาจาร และทารกถูกทอดทิ้ง ขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำ สังคมควรหาแนวทางเพิ่มคุณภาพให้แก่เด็กทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงร่วมกับ สพร. พัฒนาโครงการพัฒนาระบบและกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” และแนวคิด “ชุมชนนำ” เน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน ครอบครัว และหน่วยงานในพื้นที่ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมา จ.ตรัง ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ต้นแบบ 10 แห่ง มีเด็กและครอบครัวได้รับประโยชน์ 9,835 คน ได้รับการช่วยเหลือจากความรุนแรงในครอบครัว 82 คน เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น ครอบครัวมีความสัมพันธ์ดีขึ้น 47.95% เกิดคณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็กฯ ระดับจังหวัด มีฐานข้อมูลและนวัตกรรมกระบวนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ เตรียมขยายผลให้ครอบคลุม 87 ตำบล 10 อำเภอ ใน จ.ตรัง พร้อมยกระดับสู่การเป็นพื้นที่นำร่องโมเดล Policy Sandbox มุ่งพัฒนาแผนการทำงานด้านเด็กฯ ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ช่วยให้เด็กมีสุขภาวะดีอย่างยั่งยืนภายในปี 2568” น.ส.ณัฐยา กล่าว

นางนงนุช จิตตะเสโณ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดตรัง และผู้แทนคณะทำงานครอบครัวยิ้มจังหวัดตรัง กล่าวว่า งานมหกรรมครอบครัวยิ้มสัญจร ถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัวแบบองค์รวมในพื้นที่ปฏิบัติการ 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุรินทร์ เลย ลำปาง พะเยา และตรัง พร้อมระดมความคิดเห็นเพื่อสะท้อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่เอื้อให้เกิดระบบ กลไก และมาตรการที่สนับสนุนทรัพยากรให้ครอบครัวมีขีดความสามารถในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก สนับสนุนโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ใกล้บ้าน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างมีคุณค่า

นายอุดมศักดิ์ ปริวัตรพันธ์ นักพัฒนาชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน จ.ตรัง กล่าวว่า ต.บ้านควน เป็น 1 ใน 10 พื้นที่นำร่องของ จ.ตรัง สนับสนุนกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพและเติบโตเป็นคนที่มีสุขภาวะดี มีแนวทางการขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน 1.จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาสุขภาวะเด็กฯ ระดับหมู่บ้าน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานอย่างไร้รอยต่อ 2.พัฒนาศักยภาพคณะทำงานระดับหมู่บ้าน ให้มีความสามารถในการพัฒนาสุขภาวะเด็กในพื้นที่ 3.ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมบ้าน เพื่อเก็บฐานข้อมูลที่ระบุถึงสถานการณ์เด็ก แบ่งออกเป็น กลุ่มสีเขียว ไม่มีความน่ากังวล กลุ่มสีเหลือง เริ่มมีความน่ากังวล เช่น ผู้ปกครองติดยาเสพติด การพนัน และแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่กระทบต่อเด็ก กลุ่มสีแดง ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กได้ มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว คณะทำงานฯ จะออกแบบกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมและแก้ไขปัญหา โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน
You must be logged in to post a comment Login