วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กทม.- สสส.-จุฬาฯ ปลื้ม แคมเปญ “BKK Zero Waste” ลดปริมาณขยะคนกรุงฯ ใน 3 พื้นที่นำร่องได้ 1 พันตัน

On April 5, 2024

กทม.- สสส.-จุฬาฯ ปลื้ม แคมเปญ “BKK Zero Waste” ลดปริมาณขยะคนกรุงฯ ใน 3 พื้นที่นำร่องได้ 1 พันตัน เตรียมพัฒนาระบบฐานข้อมูล ดัน นโยบายไม่เทรวม ขยายผล 50 เขตกรุงเทพฯ พร้อมจัดตั้งศูนย์หนอนแมลงทหารดำ กำจัดขยะ-ตัดวงจรกระทบสิ่งแวดล้อม-ลดปัญหาสุขภาพยั่งยืน

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ภายใต้โครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ส่งเสริมให้นำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ 84 แห่ง

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด ตามนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจรเกิดผลเป็นรูปธรรมและลดปริมาณมูลฝอยเศษอาหารที่ถูกทิ้งรวมมากับมูลฝอยทั่วไป ในปี 2566 กทม. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการ “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ 1.หนองแขม 2.พญาไท 3.ปทุมวัน เน้นส่งเสริมให้สถานประกอบการและประชาชนคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในปี 2566 มีปริมาณขยะในพื้นที่ กทม. ลดลง 74,460 ตัน หรือคิดเป็น 4% ของปริมาณขยะทั้งหมด สามารถลดค่าใช้จ่าย 141 ล้านบาท/ปี

“กทม. ใช้งบประมาณ 7 พันล้านบาท/ปี เฉพาะการจัดเก็บขยะในกรุงเทพฯ และการจ้างเก็บขน ขยะจากครัวเรือนของกรุงเทพฯ เฉลี่ย 1.5 กก./คน/วัน หรือ 1 ปีมีการผลิตขยะ 550 กก./คน ที่สำคัญการนำขยะเปียกไปปนกับขยะแห้ง เมื่อรวมกันในหลุมฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ดังนั้น การจัดการขยะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแยกขยะเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในระบบการจัดเก็บขยะแบบแยกประเภทของกรุงเทพฯ มุ่งเป้าเร่งขยายผลการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขตต่อไป” ดร.ชัชชาติ กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขยะมูลฝอย นอกจากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ยังก่อให้เกิดการปนเปื้อนของขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ กลายเป็นไมโครพลาสติกกลับเข้าสู่ร่างกายส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง สสส. ได้กำหนดให้การขับเคลื่อนงานลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี โดยมุ่งเน้นการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ปรับพฤติกรรมลดสร้างและคัดแยกขยะ รวมถึงการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน

“กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในไทย สสส. สานพลัง กทม. ภาคีเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการพร้อมสนับสนุนชุดเครื่องมือด้านการจัดการขยะ ส่งเสริมให้บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน อาคาร สำนักงาน องค์กร โรงแรม และห้างสรรพสินค้าในพื้นที่นำร่อง 3 เขต เกิดการมีส่วนร่วมและมีจิตสำนึกพลเมืองลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง ทำให้เกิดวัสดุรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ 884.51 ตัน หรือคิดเป็น 14.86% ของปริมาณขยะทั้งหมด” นายศรีสุวรรณ กล่าว

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการ BKK Zero Waste ใน 3 เขตพื้นที่นำร่อง พบว่า ปริมาณขยะกว่า 1 พันตัน ทั้งจากแหล่งกำเนิดมีปริมาณลดลง 123.70 ตัน/วัน และปริมาณขยะฝังกลบลดลง 958.91 ตัน/วัน เทียบเท่ากับช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1,666.10 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะนี้ ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางผ่านเว็บไซต์ bkkzerowaste.org แสดงผลการจัดการขยะที่ต้นทางเป็นรายเขต เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ติดตาม ประยุกต์ใช้ และวางแผนเชิงนโยบายต่อไป พร้อมเตรียมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ ที่สามารถกำจัดขยะอินทรีย์กว่า 200 ตัน/ปี ช่วยลดผลกระทบปัญหาสุขภาพของประชาชน และช่วยรัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในระยะยาว


You must be logged in to post a comment Login