วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

เปิดใจหมอศัลยกรรมยูโรวิทยา คว้ารางวัล “มหิดลทยากร” ประจำปี 2566

On February 9, 2024

รางวัล  “มหิดลทยากร”  เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลที่เป็นศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  สร้างผลงานดีเด่น  เป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติ  ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  จัดโดย  สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล   ในพระบรมราชูปถัมภ์  สำหรับรางวัล “มหิดลทยากร”  ประจำปี 2566  มีผู้เข้ารับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น  10  ท่าน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กฤษฎา  รัตนโอฬาร  1 ใน 10 ท่าน ผู้ได้รับรางวัล “มหิดลทยากร” สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  เมื่อปี พ.ศ.2512  ซึ่งอาจนับว่าเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้  เพราะมหาวิทยาลัยพึ่งได้รับพระราชทานนามใหม่  เปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปีนั้น  ต่อจากนั้นท่านไปศึกษาต่อชั้นคลินิกที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ.2514 ท่านเป็นแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านศัลยศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ  ภาควิชาศัลยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  เมื่อปี พ.ศ.2518  และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ อาทิ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  2 วาระ  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ  2  วาระ  นายกสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  2 วาระ และรองประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  ปี พ.ศ.2547-2555  ท่านได้นำพาภาควิชาฯ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  พัฒนาและก้าวหน้าอย่างมากมาย  โดยบริหารภาควิชาฯ  เชิงกลยุทธ์และนำไปสู่การจัดดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ที่สำคัญต่าง ๆ  หลายอย่าง  อาทิ การจัดตั้งหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษาทางศัลยศาสตร์  การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการวิจัย  การจัดตั้ง Surgical Service Excellent Center ฯลฯ เป็นต้น  ท่านได้เป็นผู้ปรับปรุงโครงสร้างของภาควิชาฯ ขึ้นใหม่  โดยเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ทั่วไป  เนื่องจากได้เล็งเห็นว่างานทางด้านศัลยศาสตร์มีความก้าวหน้ามาก  อาจารย์แพทย์ควรจะมีความรู้ความสามารถในเชิงลึกให้มากขึ้น  และมีความชำนาญทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ  จึงได้ตั้งสาขาวิชาขึ้นใหม่  ได้แก่  ศัลยศาสตร์ทั่วไป (ระบบทางเดินอาหาร)  ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี  ศัลยศาสตร์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ  ศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ  ศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตทางศัลยกรรม   ท่านได้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญา   สนับสนุนการทำงานวิจัยและงานทางวิชาการต่าง ๆ  ฯลฯ  ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ท่านเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ท่านยังไม่หยุดทำงาน  ยังคงใช้ความรู้ความสามารถในการสั่งสอนลูกศิษย์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  ตลอดจนร่วมช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ  ของคณะฯ อยู่สม่ำเสมอ  และยังคงดำรงตำแหน่งในองค์กรวิชาชีพหลายแห่ง  อาทิเช่น  อุปนายกแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยฯ  เลขาธิการสมาคมพัฒนาอนามัยแห่งประเทศไทย  ที่ปรึกษาสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยฯ  และกรรมการที่ปรึกษาของคลินิกศูนย์การแพทย์พัฒนา  เป็นต้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กฤษฎา  รัตนโอฬาร บอกกล่าวถึงผลงานที่โดดเด่นและภาคภูมิใจในช่วงที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน  ระหว่างปี พ.ศ.2541-2548  นั้น  ท่านเห็นว่าก่อนหน้านี้การทำการวิจัยในคนไม่ค่อยได้มีระเบียบกติกาเข้มงวดนัก  โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองและการปฏิบัติต่ออาสาสมัครวิจัย  ในช่วงก่อนที่ท่านจะทำหน้าที่นี้ไม่นาน   ได้เริ่มมีการกำหนดกติกาสากลเกี่ยวกับการทำวิจัยในคน  เรียกว่า International Conference on Harmonization: Good Clinical Practice (ICH/GCP)   ซึ่งท่านเคยมีโอกาสเข้าศึกษาอบรมมาก่อน  จึงได้เล็งเห็นว่ากติกาสากลนี้มีความสำคัญมาก  งานวิจัยในคนต่อไปถ้าไม่ดำเนินการตามกติกาสากลนี้  ยากที่จะได้รับการยอมรับ  ตลอดจนการตีพิมพ์เผยแพร่  ท่านจึงนำมาปรับปรุงวิธีการดำเนินการของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของคณะฯ  จัดทำวิธีดำเนินการมาตรฐาน  (Standard Operating Procedure)  จัดฝึกอบรม ICH/GCP  ให้อาจารย์ในคณะฯ หลายครั้ง  ท่านได้ร่วมกับกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันการแพทย์อื่น  จัดตั้งชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนแห่งประเทศไทย  และเป็นวิทยากรเผยแพร่ระเบียบการทำวิจัยที่ถูกต้องให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถาบันต่าง ๆ  ตลอดจนให้ความช่วยเหลือสถาบันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน อีกทั้งยังมีส่วนนำไปสู่การออกข้อบังคับแพทย์สภา  ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2544  หมวดว่าด้วยการศึกษาวิจัยและการทดลองในมนุษย์  ทำให้งานวิจัยในคนของประเทศไทยได้เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีงานที่ท่านภาคภูมิใจอีกหลายอย่าง อาทิเช่น การมีส่วนร่วมงานวางแผนครอบครัว  โดยเฉพาะการทำหมันชาย  และการทำหมันชายแบบเจาะ  (Non-scalpel vasectomy)  ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาก  ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ  ตลอดจนให้การอบรมฝึกสอนจนเป็นที่แพร่หลาย  และประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องการวางแผนครอบครัวเป็นที่ยกย่องชมเชยจากนานาชาติ  งานอีกชิ้นที่ท่านภูมิใจคือ  การที่มีโอกาสร่วมเป็นผู้วิจัยยา Phosphodiesterase 5- inhibitor (Sildenafil) Phase 3  ซึ่งเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่  มีผู้ร่วมวิจัยหลายประเทศทั่วโลก  และประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศในแถบเอเชียที่ได้เข้าร่วมการทำวิจัยนี้  การวิจัยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่  คือ ยารับประทานรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย (Erectile Dysfunction)  ที่ได้ผลดีเยี่ยม  ซึ่งไม่เคยมียารับประทานชนิดใดที่รักษาได้มาก่อน  การค้นพบยาตัวนี้มี impact ต่อมาอีกมากมาย  อาทิเช่น การพัฒนาความรู้เรื่องสุขภาพเพศชาย (Men’s Health)  และชายสูงอายุ  (Aging Male)  เป็นต้น  ท่านอาจารย์กล่าวว่าท่านได้อานิสงส์จากการเข้าร่วมเป็นผู้วิจัยในโครงการนี้เป็นอย่างมาก  ท่านได้เรียนรู้ระเบียบและวิธีการทำวิจัยในคนที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มข้น  เปิดโลกทัศน์ของการทำงานวิจัย  และได้นำความรู้นี้มาใช้  เมื่อท่านได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  ในโอกาสต่อมาภายหลังจากเสร็จสิ้นงานวิจัยชิ้นนี้ไปแล้วไม่นาน

ท้ายสุด  ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์กฤษฎา  รัตนโอฬาร ได้ฝากแนวคิดในการทำงานว่า คนเราจะต้องมี passion  คือความรักงาน  ความหลงใหล  ความอยากที่จะทำงาน  และทำหน้าที่ให้ดีที่สุดด้วย  ต้องมีการพัฒนาตนเองและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  เพราะความรู้ไม่มีวันสิ้นสุด หมั่นประเมินตนเองอยู่เสมอว่าตัวเราบกพร่องส่วนใด  ก็นำไปแก้ไขส่วนนั้น  นอกจากนั้นท่านได้เน้นย้ำในเรื่อง  ความซื่อสัตย์กับงานในหน้าที่  โดยเฉพาะด้านคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ  และต้องเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับเสมอ ชีวิตจะมีแต่ความสุข

สำหรับรางวัล “มหิดลทยากร”  ประจำปี 2566  จะเข้ารับรางวัล  เนื่องในโอกาสครบรอบ “55 ปี    วันพระราชทานนาม  136 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล”  ในวันที่ 2 มีนาคม 2567  ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร  มหาวิทยาลัยมหิดล  ศาลายา


You must be logged in to post a comment Login