วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปลุกพลังบวกวัยรุ่นฟันน้ำนม สร้างภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่

On November 2, 2023

“กระจง ก่ง ก๊ง กระจง ก่ง ก๊ง อยากเดินตรงตรง ก็เดินไม่ได้ ……กระจงเตือนภัย ปักป้ายให้รู้ทั่ว เตือนเพื่อน เตือนตัว เตือนเพื่อน เตือนตัวระวังเดินหลงลงถังสุรา กง ก่ง ก้ง ก๊ง ก๋ง ระวังเดินหลง อันตราย อันตราย ระวังตกถังสุรา…”

สิ้นเสียงกระจงตัวน้อยจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่ได้สื่อสารไปถึงผู้ใหญ่ได้รู้ถึงภัยอันตรายของเหล้าและบุหรี่ โดยผ่านนิทานเพลง อีกบทหนึ่งของการเรียนรู้ถึงโทษภัยของเหล้า-บุหรี่ เพื่อให้เด็กเล็กเหล่านี้มีวัคซีนชีวิตคุ้มกันจากภัยของเหล้า-บุหรี่ รวมทั้งยังสามารถชวนให้พ่อแม่เลิกเหล้า-บุหรี่ได้อีกด้วย

ในอดีตคนในจังหวัดน่านมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นจังหวัดต้นๆของประเทศ จนถูกขนานนามว่าเป็น “ขี้เหล้าหลวง” ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติที่พบว่าในปี 2564 จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีประชากรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 43.3 ภายหลังที่มีการรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้จำนวนผู้ดื่มคงที่ แต่จำนวนผู้ที่ดื่มหนักและดื่มแล้วขับมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ดื่มแล้วขับมีแนวโน้เพิ่มสูงขึ้น

“น่านสร้างสุข model” จึงเป็นกลไกในการทำงานขับเคลื่อนปฏิบัติการงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง โดยเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย เยาวชน และประชาชน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี ตามแนวทาง ความต้องการของประชาชนในชุมชน

นางกอบกมล ทบบัณฑิต นักวิชาการและผู้ประสานงานภาคเหนือโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า-บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย กล่าวว่า โครงการปลูกพลังบวกฯเป็นกระบวนการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย โดยพัฒนาชุดกิจกรรมบูรณาการกับแผนการสอน โดยมีคณะทำงานระดับจังหวัดประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์จาก สพป.เขตพื้นที่ มีครูแกนนำ กองการศึกษาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัด โดยได้จัดอบรมสถานศึกษาในจังหวัดน่าน 427   แห่ง มีการติดตามประเมินผล ผ่านเกณฑ์และได้รับการรับรองเป็นสถานศึกษาต้นแบบในระดับดีเยี่ยม 13 แห่ง มีชุดจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับครูปฐมวัยเรื่องเหล้า บุหรี่ ไปยังสถานศึกษาระดับปฐมวัยกว่า 600  แห่งในภาคเหนือรวม 7 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลกและสุโขทัย

“การเรียนรู้ของเด็กๆจะผ่านกิจกรรมร้องเพลง เช่นเพลงกระจงก่งก๊ง เด็กจะเรียนรู้ภัยของเหล้า ผ่านเพลง หรือกิจกรรมบุหรี่ยักษ์ กิจกรรมที่เด็กๆชอบมากคือ การทำลอง โดยนำตับสดมาให้เด็กจับ และนำตัวไปแช่เหล้า แล้วให้เด็กๆได้สัมผัส ซึ่งเนื้อตับจะมีความแตกต่าง เด็กๆจะจับได้ และสามารถนำไปเล่าและบอกผู้ปกครองได้ ภาษาที่คุณครูใช้จะเป็นภาษาง่ายๆที่เด็กเข้าใจได้  เด็กหลายคนนำความรู้ที่ได้ไปบอกพ่อแม่ให้เลิกเหล้า บุหรี่ได้เช่นกัน” นางกอบกมล กล่าว

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เราพบว่าในภาคเหนือแถวจังหวัดน่านมีวัฒนธรรมของการดื่มสุราค่อนข้างเยอะ ติด 1 ใน 10 ของการดื่มสุรามากที่สุดในประเทศ การที่คนในภาคเหนือดื่มสุรากันมาก ส่งผลให้เกิดเรื่องต่างๆ เช่น มะเร็ง อุบัติเหตุ โรคตับแข็ง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ที่เราอยากให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สารเสพติด โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ ที่เป็นปัญหาในสังคมของภาคเหนือ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของน่านสร้างสุข model ซึ่งเริ่มจากสำนักงานองค์กรเครือข่ายงดเหล้าร่วมกับ สสส.ในการขับเคลื่อนร่วมกับครูที่เกษียณอายุแล้ว มาทำร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดน่าน

สสส.จึงสนับสนุนโครงการปลุกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่สำหรับเด็กปฐมวัยร่วมกับสคล.ตั้งแต่ปี 2560 โดยการเน้นพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็กปฐมวัยปลูกฝังให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายโทษของบุหรี่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจตลอดจนพัฒนาทักษะการสอนของครูผู้ดูแลเด็กให้มีทักษะการสอนพัฒนานวัตกรรมสื่อการสอนที่เหมาะสมกับเด็กเล็กดำเนินการใน 4 จังหวัดได้แก่น่าน ศรีสะเกษ ราชบุรี  ชุมพร

ปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วม 2,800 แห่งทุกสังกัดการศึกษา จากการสังเกตุพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยหลังเข้าโครงการพบว่าเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่าสามปีผ่านเกณฑ์ประเมินมีทักษะชีวิต 95.77% เด็กชั้นอนุบาลปีที่1 และ2 อายุ 3-5ปีผ่านเกณฑ์ประเมิน 94 .68% เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3อายุ 5ถึง 6 ปีผ่านเกณฑ์ประเมิน 95.06% ทั้งนี้เตรียมขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยงให้เด็กไทย

การเรียนรู้ผ่านนิทาน  เล่นเกม ระบายสี เด็กๆสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้พ่อแม่ ในการกระตุ้น เตือน หรือฉุกให้คิด ให้ผู้ปกครองได้คิดถึงว่าการที่เรามีลูกที่น่ารัก แล้วเราจะดูแลเขาในระยะยาวได้อย่างไร และจะเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกของเรามีภูมิคุ้มกันไม่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ได้อย่างไร สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนที่คุณครูเด็กเล็ก ครูอนุบาลต่างๆทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้มีส่วนร่วมในการปกป้องให้เยาวชนได้รับวัคซีนเข็มแรกในการที่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ และเราคาดหวังว่าจะมีวัคซีนเข็ม 2 เข็ม3 ตามมาในช่วงเด็กที่โตขึ้นในระดับประถมและมัธยมต่อไป

“ ทำไมเด็กเล็กถึงมีอิทธิพลอย่างมากกับพ่อแม่มากกว่าวัยอื่น เพราะว่าตัวเด็กเล็กเอง มีความน่ารัก และช่วงเด็กเป็นวัยพึ่งพา การพึ่งพานี่เองทำให้เขาเข้าหาพ่อแม่ เพื่อจะบอกความต้องการในชีวิตของเขา ซึ่งส่วนในนั้นเองพ่อแม่ก็ต้องตอบสนองเขา ตรงนั้นเองทำให้เขามีความน่ารัก มุ้งมิ้งพะเน้าพะนอ ซึ่งพ่อแม่เองจะรู้สึกถูกใจพอใจ แล้วเด็กเล็กจะใช้เหตุผลน้อยกว่าเด็กโต ทำให้การสื่อสารตรงนั้นเต็มไปด้วยความรักมากกว่าเหตุผล บางทีการที่จะให้พ่อแม่เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เหตุผลอาจจะสำคัญน้อยกว่าความรัก ความเอื้ออาทร และความอยากทำให้กับคนที่เรารัก” นพ.พงศ์เทพ กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login