วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“วิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง อย่าฝืนเสียงส่วนใหญ่ถึง 75% ” โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On May 23, 2023

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย    

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23 พ.ค. 66 )

มาวิเคราะห์จากตัวเลขผลการเลือกตั้ง ที่ชี้ให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องเสมอ เพียงแต่บางคนอาจไม่ยอมรับ

จาก “ผลการเลือกตั้ง 2566 ไม่เป็นทางการ กกต.เผย นับแล้ว 99% ก้าวไกล ได้ส.ส. 152 คน”เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (https://bit.ly/3o4LsEs) ชี้ว่าอย่างไร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มีข้อสังเกตดังนี้:

1. ในการวิเคราะห์ เราพึงพิจารณาจากตัวเลขการเลือกพรรค “บัตรสีเขียว – พรรคที่ชอบ” เพราะหากพิจารณาจาก “บัตรสีม่วง – ส.ส.ที่รัก” อาจผิดเพี้ยน เนื่องจากประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง อาจชอบ ส.ส.ท่านใดท่านหนึ่งในพื้นที่ของตน แต่ไม่ชอบพรรคที่ ส.ส.นั้นสังกัด  จะสังเกตได้ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม ได้กุมเสียงของ ส.ส.ในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการ “กว้านซื้อ” หรือ ส.ส.ในพื้นที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน การเลือก ส.ส.ในพื้นที่จึงไม่สะท้อนความต้องการของพรรคประชาชนต่อพรรคที่จะมาบริหารประเทศ

2. ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า อดีตพรรคฝ่ายค้านหรือพรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” ชนะขาดลอย อันดับ 1 พรรคก้าวไกล 14,136,838 คะแนน อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 10,795,470 คะแนน และเมื่อรวมกับพรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” อื่น อันได้แก่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยสร้างไทย ก็จะได้คะแนนเสียงรวมกันถึง  26,188,385 คะแนน จากทั้งหมด  35,046,374 คะแนน หรือ 75% คือราวสามในสี่ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด โดยดูจากตารางต่อไปนี้:

3. ในทางตรงกันข้ามพรรครัฐบาลเดิม ที่นำโดย  พรรครวมไทยสร้างชาติ 4,671,202 คะแนน พรรคภูมิใจไทย 1,120,406 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 905,546 คะแนน พรรคพลังประชารัฐ 528,387 คะแนน และพรรคที่เหลืออื่น มีคะแนนรวมกันเพียง  8,857,989 คะแนน หรือ 25% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือราวหนึ่งในสี่เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพึงเคารพเสียงส่วนใหญ่ ปล่อยให้พรรคที่คนส่วนใหญ่ถึงสามในสี่เลือกตั้งมา ได้มีโอกาสบริหารประเทศตามฉันทามติของเจ้าของประเทศคือประชาชนคนเลือก ไม่ควรที่ฝ่ายค้านใหม่ (หรือฝ่ายรัฐบาลเดิม) และพรรคพวกจะออกมา “ลงถนน” เพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาล เช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2554-2557

ยิ่งในกรณี ส.ว. ที่แม้ถูกแต่งตั้งโดย ค.ส.ช. ซึ่งก็คือรัฐบาลเดิม ก็ยิ่งไม่ควรลงมติสวนทางกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ส.ว.ไม่ควรไม่นำพาเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าของประเทศ  ทุกฝ่ายควรเคารพในมติมหาชน ลองนึกดูว่าขนาดคนส่วนใหญ่ถึงสามในสี่ต้องการให้พรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” ได้บริหารประเทศ อีกหนึ่งในสี่จึงไม่ควรก่อหวอด โดยเฉพาะพวกอำนาจเก่า ซึ่งยิ่งหากฝืนมติมหาชน ก็คงจะต้องพังทลายกันทั้งระบบของพวกอภิสิทธิ์ชนในไม่ช้าไม่นาน

เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง


You must be logged in to post a comment Login