วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กทม.-สสส.-UddC-ภาคีเครือข่าย จัดเทศกาลพระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล

On April 29, 2023

กทม.-สสส.-UddC-ภาคีเครือข่าย จัดเทศกาลพระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล : ปลูกย่าน สร้างเมือง พัฒนาพื้นที่ว่าง สู่ sand box พื้นที่สีเขียวกินได้ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจ ด้าน รองผู้ว่าฯ กทม. ยกเป็นพื้นที่ต้นแบบเข้าถึงง่ายภายใน 15 นาที

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2566 สวนเพลินพระโขนง กรุงเทพฯ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว (Green space) 7.6 ตร.ม./คน ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของกรุงเทพมหานคร ขณะที่ระยะทางการเข้าถึงสวนสาธารณะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตรหรือ 50-60 นาที โดยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่กทม. ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุง และการปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยได้จับมือกับทุกภาคส่วน ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC) และภาคีเครือข่าย สนับสนุนการจัดเทศกาลพระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล : ปลูกย่าน สร้างเมือง เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลเพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่สุขภาวะคนเมือง มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่การเป็นมหานครสีเขียว (Green Bangkok 2030) ให้ได้ 10 ตร.ม./คน ช่วยคนเมืองเข้าถึงพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะได้ภายในเวลา 15 นาที

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า สสส. มุ่งพัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม สานพลังวิชาการร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UddC ร่วมวางผังแม่บทระดับเมือง สู่โครงการพัฒนาในระดับย่าน สร้างกระบวนการร่วมเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมสู่การปฏิบัติ การพัฒนาเมืองย่านพระโขนง-บางนา จะเป็นตัวอย่างพื้นที่สุขภาวะที่บูรณาการภาคีเครือข่ายหลากหลาย เพื่อสุขภาวะอย่างเท่าเทียมในประชากรทุกกลุ่ม ทั้งยังเป็น 1 ใน 8 พื้นที่ต้นแบบปรับปรุงที่ดินว่างเปล่าสู่พื้นที่สาธารณะ ที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการเดินเท้า ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ การจัดการพื้นที่เกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารสุขภาวะในคนเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิต กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น รักษามรดกวัฒนธรรม รวมถึงสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับย่านและระดับเมือง

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UddC กล่าวว่า ย่านพระโขนง-บางนา อยู่ในเขตเร่งด่วนที่มีพื้นที่สีเขียวน้อย ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเมือง (Bangkok City Sandbox) มุ่งบูรณาการพื้นที่สุขภาวะความปลอดภัยและมั่นคงทางอาหารในเมือง เริ่มจากจัดกระบวนการออกแบบปรับปรุงร่วมกับชาวย่าน พัฒนาพื้นที่ว่างหน้าอาคารใหญ่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่มีประโยชน์ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ ผ่าน 5 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเดินเมือง 300-500 เมตร กิจกรรมดนตรีในสวน การสนับสนุนร้านค้าชุมชนและร้านค้าสีเขียว การจัดแปลงเกษตร และการเสวนาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกภาคส่วนมาร่วมแบ่งปัน เพื่อเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาเมืองนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่ย่านและเมืองอื่นๆ ต่อไป


You must be logged in to post a comment Login