วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

การกลืนชาติลาวและการทำลายฟื้นฟูเมืองเวียงจันทน์

On April 4, 2023

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย    

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4 เม.ย. 66 )

การกลืนชาติ การต้อนผู้คนออกจากเมือง การย้ายเมือง สามารถเกิดขึ้นได้ในอดีต (แต่อาจไม่ใช่ในปัจจุบัน) มาดูกรณีศึกษาการย้ายประชากรและเมืองชาวลาวกัน

ผมยังความแปลกใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นชื่อตลาดแห่งหนึ่งเขียนว่า “บ้านนาลาวอู่ทอง” ที่แถวอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  ผมแปลกใจว่าทำไมมีคนลาวมาอยู่แถวนี้ด้วยหรือ ทั้งที่แถวนี้อยู่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์ถึง 609 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินนับเดือน ยิ่งถ้าพาครอบครัวมาด้วยคงใช้เวลาเดินทางนานน่าดู เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มีเรื่องเล่าว่า “ลาวเวียง บ้านดอนคา” (https://bit.ly/3L6O4Lf) โดยคำว่า “ลาวเวียง เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่มีเชื้อสายลาว อพยพจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่บางคนเรียกว่า “ลาวตี้” เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีคำลงท้ายประโยคว่า “ตี้” เสมอ ลาวเวียงเข้ามาตั้งถิ่นฐานปลูกบ้านสร้างเรือนในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

“สมัยเจ้าอนุวงศ์ จากนครเวียงจันทร์ คิดกบฏต่อแผ่นดินตั้งตนเป็นใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ไปปราบปรามที่ทุ่งสัมฤทธิ์ และได้กวาดต้อนผู้คนชาวลาวมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน แถบจังหวัดลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ฯลฯ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา เวลาที่ล่วงเลยมานานทำให้คนไทยเชื้อสายลาวเหล่านี้ ไม่สามารถทราบได้ว่า บรรพบุรุษอพยพมากันตั้งแต่เมื่อใด และเพราะเหตุใด”

ทั้งนี้ “การกินการอยู่ ส่วนมากจะชอบทานปลาร้า ปลาส้ม น้ำพริก ต้มผักจิ้ม ผักสวนครัวก็จะปลูกเองเป็ดไก่ ก็จะเลี้ยงไว้ ปูปลาก็หากินง่าย พอได้มาก็ใส่เกลือตากแดดไว้กินตอนหน้าแล้งประชากรมีน้อย ประเพณีที่สำคัญของบ้านดอนคา คือประเพณีบุญเดือน 10 ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะกวนขนมกระยาสารท ประกอบไปด้วย น้ำตาล ถั่ว งา ข้าวตอกข้าวพอง นำมากวนผสมให้เข้ากันเพื่อนำมาถวายแด่พระสงฆ์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะตั้งแต่สมัยอดีตกาลนั้น ช่วงฤดูเข้าพรรษา เป็นฤดูแห่งการทำนาและเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงได้นำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้มาทำขนมกระยาสารทเป็นประเพณีสืบต่อกันมา. . .”

ผลการศึกษา “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดย วรรณพร บุญญาสถิตย์ ฉันทัส เพียรธรรม และเทพธิดา ศิลปรรเลง (https://bit.ly/3YrrMqj) พบว่า “กลุ่มลาวเวียง ต.ดอนคำ อ.อู่ทอง สุพรรณบุรี อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านสมอลม อ.เมือง สุพรรณบุรี เพราะเห็นว่าภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อพยพมาไปตั้งบ้านเรือนที่ ต.ดอนคา”

“เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ เช่น บุญข้าวจี่ บุญบั้งไฟ สารทลาว ตักบาตรเทโว อย่างไรก็ตามชาวลาวเวียงได้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตบางอย่างเพื่อให้สองคล้องกับท้องถิ่นและความเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก สันนิษฐานว่าเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของภูมิประเทศที่เหมาะในการปลูกข้าวเจ้ามากกว่ากว่าข้าวเหนียว มีการนำแคนพัฒนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่กลายเป็นวงแคนประยุกต์ มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ การแต่งกายด้วยผ้าทอมือ การพูดภาษาลาวเวียงและมีความภาคภูมิใจในการเป็นชาวลาวเวียงแม้ว่าความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่จดจำจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแพ้สงคราม การถูกกวาดต้อนก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความด้อยกว่าชุมชนอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ชุมชนลาวเวียงแห่งนี้มีความเข้มแข็งพยายามรักษาและฟื้นฟู และสร้างอัตลักษณ์ลาวเวียงขึ้นเพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลง ความทันสมัย รวมทั้งกระแสการท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังได้รับความนิยม”

ในการรบกับลาวในสมัยก่อน ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี กรุงเทพมหานคร (รัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 3) มีการเผาเมืองจนราบเรียบ กวาดต้อนผู้คนจนเวียงจันทน์กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว  แต่ต่อมาก็มีผู้คนที่หลบหนีกลับเข้าไปอยู่ในเมืองอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าเมืองที่มีชัยภูมิดีอย่างเวียงจันทน์และยังคงมีความผูกพันมากมายต่อผู้คน ถ้ามีโอกาส ก็ยังมีผู้คนที่จะกลับไปอยู่เมืองนั้นๆ แม้จะถูกเผาทำลายไปมากมายเท่าไรก็ตาม

แต่เชื่อว่าประชากรส่วนใหญ่ของชาวและชาวเวียงจันทน์คงถูกกวาดต้อนไปอยู่ตามที่ต่างๆ แม้แต่ทางใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนืองของไทย เช่น สุรินทร์ ศรีษะเกษ ซึ่งเป็นถิ่นของคนเขมร คนส่วย ก็มีชาวลาวอพยพไปอยู่ เนื่องจากรัฐไทยในสมัยนั้นพยายามที่จะไม่ให้ชาวลาวได้มีโอกาสรวมตัวกัน “แข็งเมือง” ดังที่เคยเกิดขึ้นในสมัยเจ้าอนุวงศ์ เป็นต้น

นอกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ชาวลาวหลายสายได้อพยพไปอยู่ในจังหวัดในภาคกลาง เช่นที่สระบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เป็นต้น กรณีบ้านบ้านนาลาว บ้านดอนดา ก็เป็นกรณีที่เกิดจากการอพยพผู้คน และด้วยระยะเวลานานนับถึงสองร้อยปี สำนึกในความเป็นคนลาวคงมีจำกัด ความคิดที่จะย้ายกลับไปลาวคงไม่มีอีกแล้ว และเป็นการทำให้ไทยมีประชากรเพิ่ม ทำให้เกิดกำลังผลิตมากขึ้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การที่จะย้ายเมืองทั้งเมืองออกไปคงยาก เพราะในสมัยก่อนภาคประชาชนอาจไม่มีอำนาจมากนัก แต่ในปัจจุบัน สามัญชนมีอำนาจมากขึ้น การจะให้ทิ้งเมืองไปคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กระบวนการกลืนชาติในลักษณะนี้ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในกรณีทิเบตและซินเกียงที่คนจีนแห่งกันไปทำมาหากินและกลืนชาติของชนกลุ่มน้อย

ถ้าสังคมมีความเป็นประชาธิปไตย การส่งคนไปรบพุ่งเพื่ออำนาจของผู้ปกครองก็คงไม่เกิดขึ้น โศกนาฏกรรมการอพยพย้ายถิ่นแบบไม่เต็มใจก็คงไม่มี


You must be logged in to post a comment Login